ผี กวี ดวง มุมมองไสยไสย เข้าใจโลก ของการะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์

ผี กวี ดวง มุมมองไสยไสย เข้าใจโลก ของการะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์

นักเขียนนิยายภาษาละเมียดกับเรื่องราวโลดโผน “สมจริง”กวีศรีเปรตผู้นับถือศาสนาผี ทายาทปู่จ๋าน ล็อบบี้ยิสต์โลกวิญญาณ นักพยากรณ์ที่ตอนนี้ต้องต่อคิวดูดวงออนไลน์ยาวไปถึง 5 เดือน

ติดตามผลงานของเธอคนนี้ตั้งแต่นิยาย "ปริมณฑลแห่งรัก" "ทวีปที่สาบสูญ" อัพเดทดวงรายสัปดาห์การะเกต์พยากรณ์ ไปจนถึงสเตตัสในเฟซบุค เรารู้แต่ว่าส่วนผสมที่แปลกประหลาดเฉพาะตัวนี้ดึงดูดให้เราไปพบกับตัวจริงของ พี่เกต์ - การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ ถึงนิวาสถานในอำเภอทางตอนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องขับรถไปจากอำเภอเมืองกว่า 120 กิโลเมตร

บ้านทรงแปลกตาจากหลังอื่นๆ ในละแวก กลายเป็นที่รวมตัวของญาติพี่น้อง ที่นี่การะเกต์สร้างงานของเธอให้เป็นอาชีพของทุกคนด้วย และยังคงเป็นคนสนุกกับงานที่ทำพร้อมกันหลายอย่าง เหมือนที่เคยเป็นมาตลอด

P9100661

ชีวิตไสยๆ ของการะเกต์

บอกว่าตัวเองนับถือผี นี่คือความจริงของคนที่เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อเป็นปู่จ๋าน หรือคนทรง หรือเจ้าพิธีของทางภาคเหนือ ไม่ใช่แต่เจรจาต่อรองกับผี พิธีกรรมอันเกี่ยวกับชีวิตของคนท้องถิ่นหลายอย่างก็มีปู่จ๋านเป็นศูนย์กลาง

“พ่อพี่อยู่กับงานสายนี้มาจะเท่าอายุเขานั่นแหละ 60 ปี เต็ม ตอนนี้พ่อ 85 เขาบวชเรียน สืบทอดวิชา แล้วก็ทำงานพิธีกรรมมาตลอด พี่อยู่ในบ้านที่มีวิถีชีวิตแบบนี้ ทุกวันก็จะมีคนมาหาพ่อ ปรับทุกข์ โดนผีทำ งานศพ ลูกจะไปเป็นทหาร จะไปเรียนต่อ แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ จะวันดีหรือวันร้าย ก็จะเป็นศูนย์กลางที่คนให้ความเชื่อถือ”

ผีคืออำนาจเหนือธรรมชาติที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของคนในชุมชน คนที่เติบโตมาในเมืองต้องสงสัย "ผี" สามารถให้คุณให้โทษกับคนได้จริงหรือ?

“พลังงานบางอย่างต้องอาศัยจิตนิ่ง ละเอียด เมื่อเราอยู่ในที่ที่สงบ เราก็จูนกันได้ เพราะไม่มีสิ่งรบกวนเยอะ แต่สถานที่ที่เราอยู่ต่างกัน คนจำนวนมากจึงไม่เคยเจอผี แต่ไม่ได้หมายความว่าผีไม่มี แต่คนจำนวนมากที่เจอ ก็ใช่ว่าเป็นผีจริงๆ อาจเป็นจิตมโนไปเองก็ได้”

แต่สำหรับท้องถิ่นที่ความเชื่อเรื่องผีเหนียวแน่นนั้น บางคนเห็นเป็นตัวตน บางคนประสบกับ “ผีทำ”

บางทีเราอาจเคยเห็นกระทงใส่อาหารจุดธูปอยู่ตามสถานที่ต่างๆ การะเกต์อธิบายว่า ก็เพราะว่ามี “ผีทำ” นั่นแหละ

“จุดไหนมีการวางแบบนี้ คือมีการเซ่นไหว้ผี เป็นจุดที่มีรับรู้กันว่ามีผีประจำอยู่ เราจะไม่อยู่ดีๆ ไปปฏิสัมพันธ์กับเขา มันต้องมีเหตุให้ไปเจรจากับเขา พ่อพี่เขาทำหน้าที่พวกนี้ เหมือนล็อบบี้ยิสต์ที่ไปต่อรองกับผี เช่น เราต้องเป็นตัวกลางไปสื่อกับผีว่าที่คุณไปทำร้ายคนนี้แบบนี้ อย่าเอาถึงชีวิตเลยนะ จะกินอะไร จะเอาอะไรให้บอกมา อาหารมาตรฐานเลยคือไก่ต้ม เหล้า ขนม พอสื่อกลางเจรจาเรียบร้อยแล้วก็นัดวัน ดูฤกษ์ที่ถูกต้อง ทำพิธีเลี้ยงผีขอให้ลดหย่อนโทษ นี่คือการเจราจากับผี ส่วนที่มาเป็นกระทงเล็กๆ แสดงว่าเป็นฉบับย่อ คือมีการตกลงกันแล้ว อาจเลี้ยงผีที่บ้านเขา แต่ ณ จุดเกิดเหตุก็เอามาให้ด้วย”

มีหมอ และควายธนู ของขลังที่ปั้นเองและปลุกเสกแล้ว

การทำงานของพ่อหล่อหลอมคนในบ้าน แม่ก็มาช่วยกันปั้นตุ๊กตา จัดแต่งของบูชาในพิธี พ่อแต่งร้อยกรองเพื่ออ่านในงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในตัวของการะเกต์ทั้งหมด ความเป็นระเบียบ การมองเห็นความงาม และความเป็นกวีที่ถ่ายทอดกันมา นอกจากจะใช้ในอาชีพนักเขียนแล้ว ยังมีส่วนสร้างความเป็นนักพยากรณ์ และสืบต่อความเป็นทายาทปู่จ๋าน ที่เรียนรู้ทำพิธียกครู เพื่อสามารถประกอบพิธีต่างๆ ได้ ร่วมกับพี่ชาย เพราะถึงตอนนี้ประเพณีบางอย่างก็ถูกปรับให้ผู้หญิงสามารถทำพิธีได้มากขึ้นกว่าเดิม แต่บางครั้งภาวะเพศหญิงยังยอมรับได้ยากให้เป็นผู้นำในบางพิธี

เรื่องเล่าสิ่งที่ไม่เคยได้พูด

ถึงจะโตมากับบ้านที่ทำพิธีกรรมความเชื่อ แต่ตอนวัยรุ่น การะเกต์ตั้งคำถามกับชีวิตเยอะ คนเราเกิดมาเพื่อทำงานหาเงิน แต่งงาน แล้วก็ตายไปเท่านั้นหรือ? ชีวิตช่างไร้สาระ

“พี่แอนตี้การหาเงินมาก พี่ก็พยายามหาทางไป เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องอยู่ในกรอบของการหาเงินตลอดเวลา แต่นั่นเพราะเรายังเด็ก เรายังมองไม่ทะลุว่า ในชีวิตมันต้องมีบ้านหลังคารั่ว มีการเจ็บไข้ได้ป่วย มันต้องใช้เงิน เรายังไม่เข้าใจก็ไปตัดสินเขาว่าพวกนี้ชีวิตไร้สาระ (หัวเราะ)”

การออกจากบ้านมาทำงานสารพัดทำให้เธอเข้าใจ ชีวิตที่ต้องดิ้นรนของตัวเอกในนิยายนั้น การะเกต์ยอมรับว่า 80 เปอร์เซ็นต์ก็คือเรื่องที่ประสบมาโดยตรง เพิ่มเติมอรรถรสเข้าไป แต่ใครบางคนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในบางบท อ่านแล้วอาจระลึกได้ว่านี่คือเรื่องของเขา

“ตอนเด็กๆ พี่ชอบวาดรูป อยากเป็นนักวาดการ์ตูน พอโตมาชีวิตก็ผกผันเหมือนในหนังสือ ทำให้รู้สึกว่าอยากเขียน พี่ชอบจดไดอารี่ เพราะการเขียนเป็นโลกส่วนตัวที่เราได้ระบายเรื่องราวของเรา”

ปริมณฑลของการะเกต์ 2

เมื่อไปไกลกว่าไดอารี่ การะเกต์ทำงานอยู่ในโลกของหนังสือ เป็นบก.ของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น บก.นิตยสารวัยหวาน จนมาถึงนิยายของตัวเอง กลุ่มผู้อ่านจึงออกไปไกลกว่าตัวเอง

“งานเขียนยุคแรกๆ ผู้ฟังก็คือตัวเราเอง ความรู้สึกคือเราอยากพูดในสิ่งที่เราไม่ได้พูด เราอยากพูดในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ได้ยิน ต่อมาก็ส่งเรื่องไปลงหนังสือ ก็เป็นความรู้สึกว่าเราอยากให้มีใครได้ฟังความรู้สึกของเรา สิ่งที่เราพบเราเจอ

ไม่ได้โฟกัสว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้นะที่มีการตลาด นักเขียนต้องคิดว่าเรากำลังพูดกับใคร แต่ของพี่ไม่เป็นแบบนั้น วงกว้างเลย คืออยากบอกกับบุคคลที่เขาไม่เคยรับรู้ เขาไม่เคยฟัง เช่น มันมีชีวิตแบบนี้อยู่จริงๆ นะ เวลาเราไปเจอความอยุติธรรม เวลาที่เราไปเจอปัญหา”

ไม่ว่าจะเป็นกลอนที่เขียนตั้งแต่เด็กจนถึงตอนนี้ ก็เขียนเรื่องชีวิต เธอบอกว่าตัวเองเป็นคนจริงจัง ไม่ใช่คนโรแมนติก

“มองไปเห็นคนเก็บถั่วอยู่กลางทุ่งนา เราก็คิดว่าเขาเก็บถั่วอยู่ ฝนก็ตก แล้วทำไมชีวิตต้องมาทนแบบนี้ ไม่ใช่มองว่าทิวทัศน์สวยจังเลย”

สำรับกับข้าวบ้านนักพยากรณ์ 2

แต่หลายคนซึ่งเห็นชีวิตที่เธอใช้ อาจเข้าใจว่าเธอช่างโรแมนติก เพราะชีวิตเธอดูรื่นรมย์ แต่ความสวยงามที่สรรให้กับสิ่งรอบตัว ก็มาจากความจริงจังชีวิตที่อยากใช้ชีวิตให้ดี

ดวงดาวแห่งโหราศาสตร์

การะเกต์สนใจโหราศาสตร์ ประมาณปี 2540 ในช่วงนั้นการดูไพ่ยิปซีเฟื่องฟูมาก จากความสนุกก็กลายเป็นความจริงจังระดับหมกมุ่น อีกครั้งที่ความคิดสวนกระแสทำให้เธอค้นคว้าอย่างหนัก

“มีบางจุดที่หากท่องตามตำรา คำพยากรณ์บางอย่างเหมือนเป็นการตัดสิน เช่น คุณเป็นคนที่มีดวงชะตาชีวิตต้องลำบากตลอด ดวงคุณต้องเป็นเมียน้อย พี่รู้สึกว่ามาพิพากษาแบบนี้ไม่ได้ การดูดวงต้องแบ่งระหว่างหลักวิชาโหราศาสตร์และทัศนคติส่วนตัวของหมอดู

"ด้วยความอยากรู้ว่าคนอื่นเขาดูกันแบบไหน สมัยนั้นก็ลองดูหมอตรงสนามหลวง หมอดูเขาบอกว่า เนี่ย ดวงเธอนี่ไม่ดี จะมีแต่ผู้ชายฟันแล้วทิ้ง พี่โกรธมากว่าเขาดูแบบนี้ได้อย่างไร พี่จึงคิดว่าเราน่าจะเป็นหมอดูอีกแบบนึงได้ เราน่าจะใช้หลักวิชาโดยไม่ไปตัดสินคน แล้วพี่ก็อยากรู้ว่ามันบอกชีวิตคนได้จริงไหม”

ปริมณฑลของการะเกต์ 5

การะเกต์ทำการทดลองโดยการขอไปตั้งโต๊ะดูดวงที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง สีสันของร้านก็เริ่มเก็บข้อมูลความแม่นยำของการพยากรณ์ ได้เห็นข้อพิสูจน์หลายอย่าง จนมีการบอกปากต่อปาก และได้ไปดูดวงชะตาให้คนมากมาย ก่อนที่จะมารับดูผ่านอีเมล์ การะเกต์ดูส่วนตัวกับคนมามาก อีกทั้งศึกษาจากตำรามากมาย

“พี่เป็นคนทำอะไรแล้วหมกมุ่น พอมาทางสายโหราศาสตร์ก็หมกมุ่นมาก ซื้อหนังสือหรือโหราศาสตร์ซอฟต์แวร์หมดไปหลายแสน

“หมอดูก็ต้องไม่หยุดเรียนรู้นะ เพราะโหราศาสตร์ก็ไม่ได้มีคำตอบเดียว หลักการเยอะแยกมากมาย เราเรียนไม่มีวันจบ พี่อ่านตำราทุกวัน ศึกษาให้อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา”

ชีวิตคือความจริงจังและชัดเจน

ต่อให้เป็นเรื่องผีหรือการดูดวงที่ใครๆ ก็ว่างมงาย แต่ความเป็นคนจริงจังชัดเจน (ซึ่งเธอว่าได้มาจากการฝ่าฟันชีวิต ทุกก้าวเดินจึงต้องเต็มไปด้วยการต่อสู้) เมื่อเลือกแล้วว่าจะเป็น “หมอดู” เธอก็ทำงานนี้อย่างเป็นระบบ

“ถ้าเราจริงจังมันเป็นอาชีพของเราได้ แปลว่าเราเอาเกียรติและศักดิ์ศรีของเราไปทำงาน”

ศาสตร์พันปีที่ต่อให้เทคโนโลยีก้าวหน้าไปขนาดไหน คนก็ยังคงแสวงหาคำตอบจากโหราศาสตร์

“พี่ว่ามีมาทุกยุคแหละ ไม่ได้มองว่ามันมากขึ้นหรือน้อยลงนะ แต่มีเครื่องมือแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่มาทำให้ดูว่าหมอดูเยอะขึ้น อาจเป็นเพราะว่าคนเห็นว่าหมอดูเป็นอาชีพที่ทำได้ดีนะ แต่เราก็ต้องทำด้วยความรับผิดชอบมาก

“พี่ดูดวงจริงจังเสมอ ไม่ใช่ว่าเราจะเอาปริมาณเยอะๆ ที่รอนานคือคิวเยอะ ที่คิวเยอะเพราะเราทำหลายอย่างไปด้วย ต้องให้เวลา เราก็บอกว่าถ้าเรอได้ก็รอ ถ้ารอไม่ได้ก็มีหมอดูอีกมากมาย เราจะไม่เหนี่ยวรั้งเขาว่าต้องดูกับเราเท่านั้น”

เว็บไซต์รับพยากรณ์ของการะเกต์มีการดูแลระบบหลังบ้านอย่างดี มีการรักษาความปลอดภัยและความลับของลูกค้า การะเกต์แบ่งตารางงานของเธออย่างชัดเจนและมีวินัยจึงสามารถทำงานหลายอย่างพร้อมกันได้...ด้วยความสนุก

และในอนาคตก็จะมีงานอีกหลายอย่างงอกเงยจากวัตถุดิบที่เธอหว่านเอาไว้ ทั้งด้วยความสนใจส่วนตัว และเพื่อคนในบ้าน คนในชุมชน ถึงตอนนี้ลูกสาวที่ออกไปผจญภัยในทุ่งฝัน กลับมาบ้านเกิด ดึงญาติพี่น้องมาอยู่ร่วมกัน ทำสิ่งต่างๆ ให้งอกเงย และกลายเป็นศูนย์กลางใจบ้าน เหมือนที่เคยเป็นมา

    *ตีพิมพ์ในหน้า 4 เซคชั่นจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 4 ตุลาคม 2560