ช่างศิลป์รวมใจเป็นหนึ่งเดียว

 ช่างศิลป์รวมใจเป็นหนึ่งเดียว

คืนแรกหลังจากได้รับมอบหมายจากกรมศิลปากร ให้รับผิดชอบผลงานจิตรกรรมฝาผนังที่ 3 โครงการพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้ 14 โครงการ ในพระที่นั่งทรงธรรม อาคารประกอบพระเมรุมาศสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

สนั่น รัตนะ รักษาการผู้อำนวยการ วิทยาลัยช่างศิลป์ เขียนข้อความบนเฟซบุ๊คส่วนตัวถึงลูกศิษย์เพื่อหาจิตอาสามาร่วมงาน ไม่ทันข้ามคืนศิลปิน จิตรกรจากทั่วประเทศต่างอาสามาร่วมงานอย่างล้นหลาม ไม่นับยอดกดไลค์ที่หลั่งไหลมาอย่างท่วมท้น

       กว่าจะมาหลอมรวมใจกันสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมฝาผนังถ่ายทอดพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทุกคนต้องลดอัตตา ลดความมีตัวตน งานนี้ไม่ใช้เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากลำบากเลยแม้แต่น้อยเมื่อทำเพื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระเจ้าอยู่หัวผู้สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ตลอดระยะเวลาครองราชย์ 70 ปี

       “จิตอาสาทั้งหมดเป็นลูกศิษย์ที่วิทยาลัยช่างศิลป์ และเป็นพ่อของลูกศิษย์ซึ่งเป็นเพื่อนผมอีก 1 คน เริ่มงานวันที่ 9 มิถุนายนที่สำนักช่างสิบหมู่ นครปฐม ใช้เวลาเขียนรูป 90 วันเต็ม ย้ายมาติดตั้งที่พระที่นั่งทรงธรรม 12 กันยายน”

    อาจารย์สนั่นกล่าวถึงผลงานจิตรกรรมบนผืนผ้าใบขนาด 3x12 เมตร ต่อกัน 2 ผืน ผ้าใบขนาดพิเศษสั่งจากอินเดีย

      “นำแบบร่างสแกนเข้าคอมพิวเตอร์ สั่งปริ้นซ์ขยายใช้เทคโนโลยีเลย จากแบบร่าง 1 ส่วนขยายขึ้นไป 10ส่วนได้ออกมาเท่าจริง จากนั้นเรานำไปต่อกัน 2 ชิ้นเป็น 1 ผนัง ตั้งนั่งร้านขึ้นเขียนเลยจากผนังขาวๆที่มีลายเส้นเป็นหมึกดำเขียนพอเป็นแนว ใช้ช่างฝีมืออาชีพจริงๆในการเขียนแก้และปรับเปลี่ยนจากแบบเขียนร่างที่เขียนด้วยมือ ก็นำเอาลักษณะถูกต้องเส้นดิ่งเส้นฉากใช้เครื่องมือในการจับปรับแก้แบบและระบายสี”

หลายคนอาจสงสัยว่า ศิลปิน จิตรกรแต่ละคนต่างมีแนวทางการเขียนรูปเป็นของตัวเอง ในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีทิศทางไปในทางเดียวกัน มีการประสานกันอย่างไร ผลงานจึงออกมามีความเป็นเอกภาพ อาจารย์กล่าวว่า

       “เป็นที่รู้กันว่าศิลปินเป็นคนที่มีอัตตาสูง ผมจึงอาศัยความครูในการสื่อสารกับลูกศิษย์ การที่ทุกคนเคารพครู ไว้ใจ เชื่อใจ ขอร้องให้ลดตัวตนลงจึงไม่ใช่เรื่องอยาก ประกอบกับให้ทำงานที่รับผิดชอบตามความถนัดที่เขาประกอบอาชีพอยู่แล้วโดยตรง

 คนที่เขียนรูปทิวทัศน์ เขียนรูปในหลวง เขียนบุคคลเป็นอาชีพ พอมารวมกันแล้วเป็นความลงตัว ผมรู้จักลูกศิษย์ของผมทุกคนรู้ว่ามีฝีมือกันอย่างไร บางคนเคยร่วมงานกันตั้งแต่เป็นนักเรียนในช่วงแรกที่ผมเป็นครูใหม่ๆ  30 ปีผ่านไปไม่เคยเจอกันเลย พอวันนี้ผมร้องขอเขามาทันทีอยู่ด้วยกันยาวเป็นเดือนสองเดือน

       บางคนมีธุรกิจอยู่ เปิดแกลลอรีอยู่ที่เขาหลัก พังงา รายได้ต่อเดือนต่อวันเยอะอยู่ มาสองเดือนกว่า อีกคนมาจากเชียงใหม่ งานเขาเขียนรูปละแสน เขาหยุด บางคนเขียนรูปในหลวงราคาสองแสน หยุดงานบอกอาจารย์ผมขอเขียนรูปกับอาจารย์จนวันสุดท้าย

ทุกคนทำเพื่อในหลวง ทุกคนหลอมรวมได้เพราะรู้ว่าสิ่งต่างๆนั้นทำเพื่อใคร นี่คือสิ่งที่ทุกคนทำ ที่ไปนั่งอยู่บนนั่งร้านดังภาพที่เห็นไม่มีใครรู้สึกเบื่อ บ่น หรืออยากกลับบ้านเลย ทุกสิ่งทุกอย่างเดินไปเพื่อความสำเร็จ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เรารักที่สุด”

        เมื่อถามต่อไปถึงสิ่งที่ประชาชนจะได้เห็นในภาพจิตรกรรรม หลังจากรัฐบาลประกาศเปิดให้เข้าชมพระเมรุมาศและอาคารประกอบในเดือนพฤศจิกายน อาจารย์สนั่นกล่าวถึงภาพจิตรกรรมในฝาผนังที่ 3 ว่า

       “ประการแรก ภาพเล่าเรื่อง 15 โครงการพระราชดำริ บอกเหตุการณ์ของภาคใต้และภาคกลางที่นำเสนอให้เห็นถึงโครงการพระราชดำริ จาก 4,000 กว่าโครงการ เรายกมาเพียงส่วนหนึ่ง แต่ละโครงการบอกเล่าเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จไปประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชน ตามวันเวลาในสถานที่ โครงการใดที่อยู่ในจังหวัดใด บุคคลที่อยู่ในจังหวัดนั้นย่อมภูมิใจที่ในหลวงรัชกาลที่๙ ได้ทำอะไรให้กับประชาชนในจังหวัดนั้น

ประการต่อมา ได้เห็นว่ามีโครงการบ้านเราปรากฏอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังประดับพระที่นั่งทรงธรรม ญาติหรือคนรู้จักที่ได้มาเห็นบุคคลจริงที่อยู่แวดล้อมพระองค์ท่านจะได้มาดูว่าวาดเหมือนหรือไม่  ผมกล้าบอกว่าเลยว่าญาติพี่น้องของบุคคลที่แวดล้อมพระองค์ท่าน ขณะทำงานมีผู้มาเยี่ยมชมบอกว่าภาพนั้นเหมือนตัวจริงมาก ภูมิใจมากที่มีภาพปรากฏอยู่ในจิตรกรรมครั้งนี้ด้วย

       บางครั้งเขาที่มาเยี่ยมเยียน มาเติมเต็มข้อมูลให้เราด้วย เช่น ภรรยาผู้ว่าเพชรบุรี ในโครงการชั่งหัวมัน ในวันที่เป็นนายกเหล่ากาชาดเข้าเฝ้าถวายพวงมาลัย สามีท่านคือผู้ว่าราชการ บุคคลหนึ่งที่เราสงสัยว่าคนนี้คือใครในภาพถ่าย ท่านนำอาหารมาเยี่ยมพวกเราแล้วท่านบอกว่าบุคคลนี้คือสามีท่านเองเป็นผู้ว่าราชการในวันนั้น และเกษียณตำแหน่งที่เพชรบุรี สักพักให้ลูกชายส่งรูปมาให้เพื่อเป็นต้นแบบ

       อีกภาพที่โครงการช่างหัวมันมีพานเปล่าอยู่ ไม่มีคำตอบว่าพานนี้มีไว้ทำไม เป็นพานเปล่าๆ มีท่านมาเยี่ยมทำให้รู้ว่าเป็นพานที่ถวายหมวกป่านศรนารายณ์ที่ทรงอยู่”

       ประชาชนที่มาเยี่ยมเยือน ตลอดช่วงเวลา 90 วันที่จิตรกรทำงานต่างมาช่วยกันเป็นกำลังใจและเติมเต็มข้อมูลในภาพให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

    เมื่อได้เห็นผลงานของลูกศิษย์รวมใจกันสร้างสรรค์เสร็จสมบูรณ์ ติดตั้งบนผนังของพระที่นั่งทรงธรรมในวันแรก อาจารย์สนั่นกล่าวถึงความสำคัญของผลงานจิตรกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นในครั้งนี้ว่า

    “เราขึ้นรัชกาลที่ 10 มาปีที่ 2แล้ว ผลงานชิ้นนี้นับได้ว่าเป็นผลงานจิตรกรรมฝาผนังชิ้นที่ใหญ่ที่สุดของสมัยรัชกาลที่ 10 โดยช่างฝีมือรัชกาลที่ 9 รูปแบบศิลปกรรมพัฒนาต่อเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่ 9 เคลื่อนเข้าสู่รัชกาลที่ 10

      ภาพจิตรกรรมชุดนี้จะเป็นต้นแบบของศิลปกรรมในรัชกาลที่10 ที่จะมีการพัฒนาต่อไปเป็นศิลปกรรมซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะในรัชกาลที่ 10 ต่อไปในอนาคต”

     อาจารย์สนั่นกล่าวว่าจะยืนอยู่ตรงหน้าผลงานชิ้นนี้ตลอด 1 เดือนเพื่อคอยอธิบายให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความตั้งใจ ตลอดจนความหมายที่ซ่อนอยู่ในภาพ ในเดือนพฤศจิกายนที่รัฐบาลประกาศให้เข้าชม

    “ผมรู้สึกว่าเป็นบุญที่ได้ทำ ทำอย่างมีความสุข ความเหนื่อยล้าอาจมีบ้าง เราเหนื่อย 3 เดือน พระองค์ท่าน 70 ปี เทียบเท่ากันไม่ได้เลย” รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป์กล่าวทิ้งท้าย

      รัตนชัย ไชยรัตน์ ตัวแทนของศิษย์เก่าวิทยาลัยช่างศิลป์ ถ่ายทอดเบื้องหลังการทำงานของศิลปินที่ทำให้เราได้เห็นว่ากว่าจะมาเป็นภาพเขียนที่สวยงามและเหมือนจริงจนน่าอัศจรรย์นั้น พวกเขาต้องผ่านการค้นคว้า เตรียมข้อมูล และมากมายด้วยอุปสรรคที่น้อยคนที่จะได้รู้

“ผมเห็นอาจารย์สนั่นโพสต์ในเฟสบุ๊คว่าได้เริ่มทำงานจิตรกรรมไทย mural painting เราคิดว่าจะต้องเป็นงานลักษณะไทยๆ แต่เราไม่ได้เป็นคนเขียนภาพไทยแต่เป็นคนเขียนภาพแบบเรียลลิสติก แต่ความอยากมา ทำให้เราคิดว่ามาล้างพู่กันก็ยังดี วางโปรแกรมว่าจะมาสัก 1 อาทิตย์”

รัตนชัย ขับรถจากแกลลอรีที่เขาหลัก พังงา ตรงมาที่สำนักงานช่างสิบหมู่ แล้วพบว่างานที่ได้รับมอบหมายเป็นงานที่ตรงกับความรู้ความสามารถของตน

“อาจารย์บอกว่าในหลวงเคยตรัสไว้ว่า ถ้าจะทำงานจิตรกรรมในแนวที่บรรยายเรื่องราวของพระองค์ให้ทำแบบอย่างที่เป็น เห็นอย่างไรให้ทำอย่างนั้น เป็นการถ่ายทอด บันทึก ไม่ต้องถ่ายทอดเป็นจิตรกรรมไทย รู้สึกตื่นเต้น เข้าทางแล้ว เริ่มมีความคิดว่าอาทิตยหนึ่งไม่พอแล้ว แต่ตั้งใจว่าจะทำให้สำเร็จ”

         ยังไม่ทันเริ่มวาดรูป อุปสรรคก็เกิดขึ้นทันที คนกำหนดภาพบอกว่าตอนนี้ที่ผมได้รับมอบหมาย ตอนตอนแกล้งดิน มีข้อมูลสมบูรณ์ที่สุด เป็นโครงการจังหวัดนราธิวาส บ้านเกิดผม ผมคิดว่าโชคดีจริงๆที่ได้ทำงานนี้

         สิ่งที่ผมได้รับคือภาพถ่าย 1 ใบ ขยายใหญ่แทบไม่เห็น ไม่เป็นไร เรื่องกายวิภาคผมไม่แพ้ใครเพราะจบเวชนิทัศน์จากมหาวิทยาลัยมหิดล

      เงื่อนไขต่อมา ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ต้องมีขนาดโตกว่าของจริง สัดส่วนตามที่คนออกแบบกำหนด การปรับระยะเริ่มมีปัญหา ภาพบุคคลไม่ว่าจะอยู่ระยะใกล้หรือไกลจะต้องเท่ากัน แล้วมันจะสวยได้อย่างไร ? ไม่เป็นไรทำได้

     เงื่อนไขที่ 3 ในภาพถ่ายที่ให้มาเล็กๆเบลอ มีแสงเข้าทางด้านซ้าย ในขณะที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังแสงต้องมาทางขวาตามที่กำหนดไว้ โจทย์ข้อนี้ลำบากมากๆ”

      รัตนชัยเริ่มเครียดหนัก เขาตัดสินใจขับรถกลับบ้านไปตั้งต้น เพราะที่บ้านมีอุปกรณ์พร้อมทั้งคอมพิวเตอร์และกล้องถ่ายรูป

      3 วันที่ให้เวลาตัวเองไปเตรียมข้อมูล ไปขอยืมเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่องค์กรบริหารส่วนตำบล ติดต่อเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อขอถ่ายภาพและจัดองค์ประกอบให้ได้ครบตามภาพถ่ายที่ได้มา ปรากฏว่าได้รับความร่วมมือประกอบกับท้องฟ้าแจ่มใสทำให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ตรงใจ

     หากเมื่อกลับมาเชื่อมต่อภาพถ่ายในคอมพิวเตอร์ ความผิดพลาดเกิดขึ้นทำให้ภาพที่ถ่ายไว้นั้นหายไปหมด

      “กลับมาดูภาพในคอมพิวเตอร์ ไม่มีภาพสักภาพ เพราะว่าผมไปฟอร์แมตการ์ด ทำให้ภาพหาย 2 วันเป็นศูนย์ เลยนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ ค้นหารูปของทหาร ส่วนแอคชั่นก็ให้เพื่อนเป็นแบบ จนได้ข้อมูลครบ มาถึงช่างสิบหมู่ เริ่มทำงาน มองเห็นความสำเร็จ เราไม่แพ้ใคร จนทำงาน โครงการแกล้งดิน อยู่ด้านบนๆ

        อุปสรรค มีอีก คาดว่าผมเขียนชิ้นนี้ไม่เกิน 10 วัน ภรรยาเฝ้าแกลลอรีอยู่คนเดียว ลูกค้าต่างชาติเริ่มทวงงาน ก็ต้องยอมแล้ว 10 วันไม่เสร็จ ต่อเวลาไปเรื่อยๆจนเป็นเกือบเดือน ปรากฏว่ามีภาคตอนล่างที่คนวาดเกิดป่วย

     ทางคณะกรรมการมั่นใจว่าเราวาดได้ดี เป็นภาพที่อยู่ในมุมชัดมาก ใครๆก็อยากเขียน ทางอาจารย์บอกว่าอยากให้ผมเขียน สมองก็สั่งการทำไงดีลูกค้าทวงงาน ภรรยาชักเคือง รายได้ขาดเป็นเดือน มีคนๆหนึ่งมาช่วยผมเป็นลูกค้าที่ซื้อรูปผมเป็นหลักแสน เขาช่วยซัพพอร์ตเรื่องเงินไปจัดการชีวิตให้เข้าระบบ แต่ภรรยายังคงไม่เข้าใจ

       ช่วงเวลานั้นใครถามหาผมว่าผมไปไหน ภรรยาได้ชี้แจงว่ามาทำงานตรงนี้ ทำให้หลายคนชื่นชม เยินยอ บอกว่าเป็นโอกาสวิเศษจริงๆนะที่ได้ทำ ไม่ใช่ใครทำก็ได้ ภรรยาเริ่มภูมิใจ การชื่นชมนี่ยิ่งใหญ่นะ เพื่อนๆที่มาเยี่ยม เป็นไงบ้าง ยุงกันเหรอ เอาถุงเท้ามั้ย รุ่งขึ้นถุงเท้ามาเป็นสิบคู่ อาหารการกินพอมั้ย ส่วนใหญ่ผลไม้ ผมพูดตลกว่าอยากกินทุเรียน พรุ่งนี้มาเลย จิตอาสาที่มาทุกคนอยากมีส่วนรูปให้ทำอะไรก็ได้ บางคนมาล้างจาน ล้างพู่กัน ทั้งหมดมีความสุข เพื่อนไม่เคยเจอกัน 30 ปีได้กอดกัน คนที่มาวาดรูปได้รับการยกย่องมากนะ นี่คือสิ่งที่ผมได้รับ”

       จากสัปดาห์ กลายเป็นเดือน เรื่องราวของรัตนชัย ศิลปินจากพังงานที่มานอนกินอยู่สำนักช่างสิบหมู่ จนท้ายที่สุดต้องนำสุนัขคู่ใจมาอยู่ด้วย(เนื่องจากภรรยาติดภารกิจไปต่างจังหวัด) กลายเป็นที่เล่าขาน

        “กิน นอน อยู่ข้างๆภาพเขียน ลืมตาก็เห็นเลย ใจจดจ่อกับงานมากๆ”

        รัตนชัยบอกกับเราว่า “อาจารย์ให้เกียรติเรามาทำ เราไม่อยากเสียโอกาสตรงนี้ ยอมทิ้งทุกอย่างที่เราทำ ซึ่งอาจหมายถึงเรื่องเงินๆทองๆเศรษฐกิจรายได้ส่วนตัว แต่เราคิดว่าเรามาทำตรงนี้ไม่มีอามิสสินจ้าง ไม่ใช้เวลาตัดสินใจนานเลย ตัดสินใจเดี๋ยวนั้นเลยว่าต้องมาทำงานที่นี่ ต้องมาทำเพื่อในหลวง”

         หนึ่งปีเต็มที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นคือ หัวใจของคนไทยทุกดวงหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

         เราร้องไห้ด้วยเรื่องเดียวกัน และเราก็สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเพื่อถวายแด่พระราชาผู้ครองดวงใจของปวงประชาตลอดกาล