ตลท.เล็งเตือนผู้ลงทุนกรณีมีส่วนผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 25%

ตลท.เล็งเตือนผู้ลงทุนกรณีมีส่วนผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 25%

"ตลาดหลักทรัพย์" เล็งขึ้นเครื่องหมายเตือนผู้ลงทุน กรณีมีส่วนผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 25% - งบการเงินมีปัญหา แต่ยังให้ซื้อขายได้เฉพาะบัญชี Cash Balance เท่านั้น

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องมาตรการเตือนผู้ลงทุน เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯให้ความสำคัญของการที่ผู้ลงทุนจะมีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ จึงได้กำหนดเกณฑ์และนโยบายสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ ครบถ้วน ทั่วถึงและทันเวลา และให้บริษัทชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมในกรณี ที่เห็นว่าข้อมูลยังไม่เพียงพอ และจาก ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การติดตามข้อมูลต้องใช้เวลา ทำให้ผู้ลงทุนอาจพลาดข้อมูลสำคัญต่อการตัดสินใจ

ดังนั้นจึงเห็นว่าควรเพิ่มมาตรการระดับกลางเพื่อเตือนนักลงทุนโดยการจัดกลุ่มบริษัทที่อาจมีความเสี่ยงทั้งในด้านฐานะการเงินถดถอย มีปัญหาเรื่องงบการเงิน หรือการประกอบธุรกิจไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเข้าข่ายถูกเพิกถอนในอนาคต โดยเห็นว่าการเตือนผู้ลงทุนก่อนที่จะทำการซื้อขาย จะเป็นมาตรการที่ช่วยเสริมให้ผู้ลงทุนเข้าใจถึงสถานการณ์ของบริษัทดียิ่งขึ้น ก่อนตัดสินใจลงทุน

ทั้งนี้ ตลท.จะมีการขึ้นเครื่องหมายบนหลักทรัพย์ที่มีส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) น้อยกว่า 25% ของทุนชำระแล้วของบริษัท (Paid-up Capital) ไม่รวมส่วนต่ำมูลค่าหุ้น บริษัทที่ยื่นหรือถูกเจ้าหนี้หรือหน่วยงานทางการสั่งฟื้นฟูกิจการและศาลรับคำร้องนั้น บริษัทถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย และศาลรับคำร้อง รายงานการสอบบัญชีมีลักษณะไม่แสดงความเห็นงบการเงินเนื่องจากถูกจำกัดขอบเขตโดยบริษัทจดทะเบียน หรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน หรือ แสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง มีเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน (งบการเงินรายไตรมาส/งบการเงินประจำปี) ก.ล.ต.สั่งแก้ไขงบหรือสั่ง SpecialAudit และลักษณะธุรกิจ เป็น Cash Co. แต่ยังไม่เข้าข่ายถูกเพิกถอน โดยตลท.จะมีการรวบรวมรายชื่อบริษัทที่ถูกขึ้นเครื่องหมายเตือนเพื่อให้นักลงทุนเห็นข้อมูลชัดเจน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงซื้อขายหลักทรัพย์นั้นได้ โดยให้ซื้อขายด้วยบัญชีเงินสดแบบ Cash Balance เท่านั้น คือ ผู้ลงทุนต้องวางเงินเต็มจำนวนก่อนการซื้อหลักทรัพย์ โดยหากบริษัทมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ จะมีจะมีการปลดเครื่องหมาย แต่หากไม่สามารถแก้ไขเหตุ และมีฐานะการเงินถดถอยหรือเข้าเงื่อนไขที่อาจถูกเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจะถูกประกาศเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน และพ้นจากการเป็นบริษัทในกลุ่มนี้ แต่จะถูกย้ายไปอยู่ในกลุ่มบริษัทที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนและถูกห้ามซื้อขายแทน

นอกจากนี้ ตลท. จะปรับปรุงเกณฑ์ Backdoor Listing เนื่องจาก พบว่ามีบางรายการที่ขนาดรายการอาจยังไม่เข้าเกณฑ์พิจารณา Backdoor Listing แต่โดยเนื้อหาสาระที่แท้จริง (Substance) อาจพิจารณาได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจหรืออำนาจควบคุม ซึ่งห็นว่าควรคงนิยามและขนาดรายการที่ 100% ไว้เช่นเดิม แต่เสนอให้เพิ่มเติมเกณฑ์ให้ ตลท.สามารถพิจารณาถึงเนื้อหาสาระที่จริง (Substance) ของรายการ Backdoor Listing ในลักษณะเดียวกับเกณฑ์การเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยเพิ่มถ้อยคำในเกณฑ์ Backdoor Listing ว่า “หากมีเหตุอันควรสงสัยว่ารูปแบบของรายการเป็นไปตามเกณฑ์แต่อาจพิจารณาได้ว่าเนื้อหาสาระที่แท้จริง (Substance) เข้าลักษณะเป็นการเลี่ยงเกณฑ์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจพิจารณาว่ารายการ
ดังกล่าวเป็น Backdoor Listing”

อย่างไรก็ตามเพื่อให้กระบวนการพิจารณามีความโปร่งใส ตลท. อาจจัดตั้ง คณะอนุกรรมการ (Committee) สำหรับให้ความเห็นต่อรายการที่เกิดขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในตลาดทุนหรือธุรกิจที่มีความเป็นอิสระและผู้บริหาร ตลท. ทำหน้าที่ ให้ความเห็นต่อกรณีที่เห็นว่าอาจเข้าข่ายเป็น Backdoor Listing แต่มีลักษณะที่หลีกเลี่ยงเกณฑ์ เมื่อพิจารณาจาก Substance ของรายการ ก่อนนำสนอคณะกรรมการของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อพิจารณาต่อไป โดย ตลท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็น 2 เรื่องดังกล่าว จนถึงวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ตลท.ต้องการรับฟังความคิดเห็นบุคคลภายนอกในเรื่องที่จะออกมาตรการเตือนนักลงทุนเพิ่มเติม จากมาตรการเดิม กรณีที่บริษัทอาจมีความเสี่ยงทั้งในด้านฐานะการเงินถดถอย มีปัญหาเรื่องงบการเงิน หรือการประกอบธุรกิจไม่เหมาะสม เพื่อนำความคิดเห็นดังกล่าวมาพิจารณา จึงยังไม่กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการเริ่มใช้มาตรการดังกล่าว