นวัตกรรมกันซึม ตอบโจทย์หลังคา-โรงไฟฟ้า

นวัตกรรมกันซึม ตอบโจทย์หลังคา-โรงไฟฟ้า

ดาวเปิดตัว “โพลียูเรีย” สารเคลือบพื้นผิวสมรรถภาพสูง ตอบโจทย์อุตสาหกรรม นำร่องตลาดเมืองไทยในไตรมาส 4 ชูจุดเด่นกันน้ำ ทนสารเคมี แข็งแรง ยืดอายุ จับมือ “ธนาวุฒิ คอมโพสิท” เดินหน้าสู่อุตสาหกรรมเคมี ก่อสร้าง โรงไฟฟ้า ตั้งเป้าปี 61 สร้างยอดขาย 100 ตัน พร้อ

แม้จะเพิ่งเปิดตลาดในไทยแต่โพลียูเรียใช้กันแพร่หลายกว่า 40 ปีในยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและจีน โดยใช้กับพื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ อาทิ อ่างเก็บน้ำ โรงไฟฟ้า อุโมงค์ รางรถไฟ แท่นขุดเจาะกลางทะเล ลานจอดรถ หลังคา เรือและรถบรรทุกสินค้า

วิวัฒนาการสารเคลือบผิว

วัสดุกันซึมในตลาดมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การใช้ยางมะตอยทาเคลือบพื้นดาดฟ้า รอยแตกอาคารและอื่นๆ แต่ปัญหาคือ ไม่ทน กระทั่งมีการใช้อะคริลิคที่มีทับรัมหรือแคลเซียม ช่วยให้มีประสิทธิภาพและทนทานดีขึ้น แต่เมื่อได้รับความร้อนในตอนกลางวันก็จะขยายตัว และหดตัวเมื่อเจอความเย็นช่วงกลางคืน ทำให้เกิดช่องว่างหรือรอยแตก
ส่วนโพลียูริเทนแม้จะใช้งานสะดวกแต่มีกลิ่นแรง ขณะที่อิพ็อกซี่ที่นิยมใช้กับพื้นและภายในอาคารก็ไม่ถูกกับแสง จนถึงการนำยางมะตอยมาทำเป็นแผ่นพลาสติก ก็ไม่ทนแสงเช่นเดียวกัน ทำให้หดตัว หลุดลอก

โทนี ลู ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดอินโด-จีน ดาว เคมิคัล กล่าวว่า ดาวฯศึกษาเชิงลึกสารเคลือบผิวแต่ละชนิด แล้วดึงคุณสมบัติเด่นของโพลียูริเทนกับอิพ็อกซี่มาพัฒนาต่อยอดเป็น “โพลียูเรีย” ถือเป็นนวัตกรรมการป้องกันน้ำคุณภาพสูง และมีความยืดหยุ่นมากกว่า 500 เท่า แห้งไว ใช้งานได้เร็ว อายุการใช้งานนานถึง 25-30 ปีโดยไม่ต้องพ่นเคลือบใหม่
ผลิตภัณฑ์โพลียูเรียแบ่งเป็น 4 ชนิดมีฟังก์ชันต่างกันเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่หลากหลาย ทั้งสำหรับหลังคาและดาดฟ้า ป้องกันการรั่วซึม, ท่อและถังกักเก็บน้ำที่ต้องการความทนทานต่อสารเคมีและการย่อยสลาย, ไม้และโลหะที่ต้องการความรวดเร็วในการใช้งาน และเรือบรรทุกสินค้าที่ต้องการความทนทานต่อความเค็ม สภาพอากาศและน้ำฝน

ยกตัวอย่างลูกค้าที่ใช้โพลียูเรียทั้งการเคลือบระบบหล่อเย็นของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ซานเหมิน และโรงไฟฟ้าไป่หลิงเหยียนในจีน, การเคลือบอะไหล่รถขนส่งในเหมืองที่บราซิล ซึ่งปกติต้องเปลี่ยนหรือซ่อมอะไหล่ทุก 6-12 เดือน ให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น 3-4 เท่า หรือถังกรดและอาคารของบริษัทเคมีภัณฑ์ที่ต้องการความทนทานต่อสารเคมีระดับสูง
ปัจจุบัน โพลียูเรียมีฐานการผลิต 3 แห่งทั่วโลก ได้แก่ ฝรั่งเศส อเมริกาเหนือและจีน ขณะที่ในประเทศไทยจะนำเข้ามาทำตลาดในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ โดยร่วมมือกับบริษัท ธนาวุฒิ คอมโพสิท จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ นำเข้าเครื่องพ่นสารเคลือบผิวเพื่อป้องกันน้ำจากสหรัฐอเมริกา รวมถึงโพลียูเรีย

ปูทางสู่เอเชียแปซิฟิก

โทนี กล่าวว่า ตลาดผลิตภัณฑ์กันน้ำกันซึมในไทยมีความน่าสนใจ เพราะมีอุตสาหกรรมต่างๆ รองรับทั้งก่อสร้าง ยานยนต์ เคมีภัณฑ์หรืออื่นๆ แม้จะมีการแข่งขันสูง แต่ด้วยจุดแข็งของโพลียูเรียที่โดดเด่นเรื่องของประสิทธิภาพ การที่แห้งไว ทำให้ระยะเวลาการทำงานเร็วขึ้น ลดต้นทุน ต่างจากวัสดุอื่นที่อาจต้องใช้เวลาบ่มหรือรอให้แห้งกว่า 7 วัน

“โพลียูเรียในตลาดไทย เป็นการนำเข้ามาจากโรงงานผลิตในฝรั่งเศส การเปิดตัวผลิตภัณฑ์นี้ในไทย เรามองว่าจะเป็นการเปิดประตูสู่ตลาดในภูมิภาคนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่เป็นตลาดใหม่ ความท้าทายใหม่”

ด้านวุฒิชัย ธรรมสุจริต กรรมการผู้จัดการ บริษัทธนาวุฒิ คอมโพสิท จำกัด กล่าวว่า ความต้องการโพลียูเรีย สเปรย์ อิลาสโตเมอร์ มีมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตฯยานยนต์และก่อสร้าง เพื่อใช้แทนพอลิเมอร์ในเชิงคุณสมบัติด้านป้องกันสนิมและทนทาน

ในช่วง 1 เดือนของการเปิดตัว มีลูกค้าแล้ว 200-300 ราย กลุ่มท่อและถังเคมี กลุ่มก่อสร้าง คาดว่าหลังจบปี 2560 จะมียอดขาย 50-70 ตัน ขณะที่ปี 2561 จะมีลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเพิ่ม การรับรู้และขยายตลาดเพิ่ม จะสร้างยอดขายราว 100 ตัน และคาดว่า จะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของผลิตภัณฑ์โพลียูเรียเป็นตัวเลขสองหลักภายใน 2-3 ปีข้างหน้า