ผจก.ไฟฟ้าฯ แจงกำลังเร่งแก้ไขปัญหาความไร้ระเบียบสายไฟ-สื่อสาร

ผจก.ไฟฟ้าฯ แจงกำลังเร่งแก้ไขปัญหาความไร้ระเบียบสายไฟ-สื่อสาร

ผจก.ไฟฟ้าพัทย แจงกำลังเร่งแก้ไขปัญหาความไร้ระเบียบสายไฟ-สื่อสาร หลังโซเชียลโพสต์ประจาน ระบุเป็นปัญหาเรื้อรังมานานแต่ไม่เคยนิ่งดูดาย

จากกรณีที่เพจ “แหม่มโพธิ์ดำ” เผยแพร่ภาพปัญหาความไร้ระเบียบของสายสื่อสาร บนเสาไฟฟ้าสาธารณะ บริเวณปากซอยเนินพลับหวาน พัทยากลาง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยระบุว่า “เป็นพื้นที่น่ากลัว แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่มาเก็บงานให้เรียบร้อย จนเกิดอุบัติเหตุต่อเนื่อง พร้อมกล่าวย้ำว่าต้องมีการสูญเสียหนักๆถึงจะลงมือแก้ไข” ซึ่งพบว่ามีการแชร์ภาพดัง กล่าวและมีการวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมากนั้น

โซเชียลโพสต์ประจานสายไฟ-สื่อสาร ปากทางพัทยากลางไร้ระเบียบ ขาดห้อยกลางถนนขมวดปมสร้างทัศนียภาพอุดจาดตา 

กรณีดังกล่าวผู้สื่อข่าวได้เดินทางเข้าพบ นายนิรุติ เจริญชอบ ผู้จัดการสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิ ภาคสาขาเมืองพัทยา ก่อนได้รับการเปิดเผยว่าสำหรับปัญหาระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าสาธารณะนั้นเป็นปัญหาเรื้อรังมานานแล้ว เนื่องจากสมัยก่อนตาม พรบ.ไฟฟ้าในปี2503รัฐเล็งเห็นความสำคัญของการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชน จึงได้มีการจัดตั้งเสาขยายเขตไปอย่างทั่วถึง ก่อนที่จะมีองค์กรสื่อสารต่างๆทั้ง โทรศัพท์ ระบบการสื่อสาร อินเตอร์เน็ต เคเบิ้ลทีวีและอื่นๆ มาพาดสายบนเสาเดียวกัน เนื่องจากขณะนั้นอยู่ในความดูแลของกรมโยธาธิการ ที่ให้ทุกองค์กรมาใช้เสาร่วมกันเพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

อย่างไรก็ตามการพาดสายบนเสาไฟฟ้านั้นก็มีมาตรฐาน และข้อกำหนดหลายประการ ได้แก่ เสาไฟฟ้าต้องมีความยาว 12 เมตร ขณะที่สายไฟฟ้าแรงสูงซึ่งจะอยู่ด้านบนสุด สายแรงต่ำจะอยู่ห่างจากระดับพื้นดิน 6.5 เมตร และสายสื่อสารอื่นจะอยู่ต่ำลงมาจากสายไฟแรงต่ำในระยะ 1 เมตรหรือสูงจากพื้นดิน 5.5 เมตรตามมาตรฐานที่กรมทางหลวงกำหนด แต่ปรากฏว่าจากการเจริญเติบโตของสังคมเมืองก็มีการพัฒนาถนนสายต่างๆ โดยมีการถมให้สูงขึ้นทำให้ระยะของสายสื่อสารบนเสากับพื้นด้านล่างมีระยะที่ต่ำลง ดังนั้นเมื่อมีรถบรรทุกหรือรถโดยสารขนาดใหญ่สัญจรผ่าน และไปเกี่ยวทำให้สายเหล่านี้ชำรุดหรือขาดออก โดยเฉพาะสายสื่อสารค้างเก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้วแต่ไม่มีการรื้อออกจากแนวสายจนทำให้เกิดปัญหาขึ้น

นายนิรุติ กล่าวต่อไปว่า จากมาตรฐานสายสื่อสารเหล่านี้หากนำมารวมกันต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์ กลางไม่เกิน 300 มม. แต่ในพื้นที่เมืองพัทยาซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักปัจจุบันมีผู้ประกอบการสื่อสารถึง 31 ราย ทำให้ปริมาณสายเกินขอบเขตมาตรฐานจนเข้าขั้นวิกฤติ ที่ผ่านมา กฟภ.จึงร่วมกับ กสทช.ในการกำหนดการจัดระเบียบสายสื่อสารใหม่เพื่อลดปัญหา โดยกำหนดให้มีการลดขนาดสายสื่อสารทุกประเภทลงเหลือรายละ 21 มม. พร้อมให้ดำเนินการพาดสายไปบนแนวคานเหล็กหรือคอน ที่ขนาดความยาว 1.5 เมตร ที่จะติดตั้งไว้บนเสาเพื่อป้องกันปัญหาความไร้ระเบียบ ปัญหาการลัดวงจร และอื่นๆ ซึ่งแผนงานนี้ได้เริ่มประชุมหารือและกำหนดมาตรการ พร้อมวางแผนไปแล้วตั้งแต่ปี 2558-2559 โดยจะมีการเริ่มดำเนินการในระยะแรกที่ถนนสุขุมวิทในระยะทาง 10 กม. จากแยกกระทิงราย-ถนนเทพประสิทธิ์ ตลอดแนวในฝั่งทิศตะวันออก และจะดำเนินการจนแล้วเสร็จทั้งหมดภายในวันที่ 20 ธันวาคม 2560 นี้

โดยแผนงานทั้งหมดเป็นการระดมทุน และออกค่าใช้จ่ายกันเองระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ได้ใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลแต่อย่างใด เพียงแต่ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการเท่านั้น แต่ก็เป็นกระแสข่าวเกิดขึ้น
ขณะที่โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่นั้น ปัจจุบันรัฐบาลได้อุดหนุนงบประมาณแล้วกว่า 11,668 ล้านบาท เพื่อดำเนินการใน 4 พื้นที่หลักของประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา หาดใหญ่ และพัทยา ในระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2560-2564 โดยในส่วนของเมืองพัทยานั้นจะได้รับงบประมาณจำนวน 2,500 ล้านบาท เพื่อนำสายไฟฟ้าลงดินในพื้นที่ของ ถนนพัทยาเหนือ กลาง ใต้ สาย 2 สาย 3 บาลีฮาย ถนนวอล์คกิ้งสตรีท และซอยบัวขาว ซึ่งปัจจุบันได้มีการสำรวจ และวางแผนการดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนส่งเรื่องไปขอรับความเห็นชอบจากสภาพัฒน์ และครม.มีมติอนุมัติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โดยในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้จะมีการจัดจ้างผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการบนถนนพัทยาเหนือเป็นถนนนำร่องก่อน ซึ่งเป็นไปตามการร้องขอขอเมืองพัทยาเพื่อจัดทำถนนตัวอย่าง ที่จะมีการวางสายไฟฟ้าลงดินขนาด 115 KV สำหรับห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ และสายขนาด 22 KV เพื่อจ่ายระบบไฟฟ้าเพิ่มเติมรองรับการอุปโภค บริโภคในอนาคต โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 490 วัน เนื่องจากปริมาณผู้ใช้ไฟเพิ่มขึ้นอย่างต่อ เนื่อง ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่เมืองพัทยาจะมีผู้บริโภคกว่า 1.5 แสนราย

นายนิรุติ กล่าวต่อไปว่าอย่างไรสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทางการไฟฟ้าก็ต้องขออภัยมายังประชาชนต่อปัญหาของระเบียบสายไฟฟ้าเหล่านี้ แต่ทาง กฟภ.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขและทำการปรับปรุงอย่างสุดกำลัง ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาบ้างเท่านั้น