พท.ชี้ปชช.เดือดร้อน จี้เปิดแถลงการณ์'สหรัฐ-ไทย'ปมเลือกตั้ง

พท.ชี้ปชช.เดือดร้อน จี้เปิดแถลงการณ์'สหรัฐ-ไทย'ปมเลือกตั้ง

พรรคเพื่อไทย ชี้ปชช.เดือดร้อน จี้เปิดแถลงการณ์ร่วม "สหรัฐ-ไทย" ปมวันเลือกตั้ง แนะ คสช. เล่นตามกติกา อย่าสร้างสุญญากาศการเมือง

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เข้าพบนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาว ในโอกาสเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา บอกว่าจะมีการเลือกตั้งปี 2018 หรือ ปี 2561 แต่พอเดินทางกลับถึงประเทศไทย กลับชี้แจงให้เกิดความสับสน อ้างว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561 แต่จะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นความเข้าใจผิด สื่อสารผิด หรือจงใจที่จะส่งสัญญาณในลักษณะที่ไม่ชัดเจนของพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผูกมัดกับรัฐบาล คสช. สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ พูดกับสหรัฐ สวนทางขัดแย้งกับ Joint Statement หรือ แถลงการณ์ร่วม สหรัฐ-ไทย ในข้อ 8 ที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเร่งรัดดำเนินการออกกฎหมายลูกให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สามารถจัดเลือกตั้งได้ทันภายในปี 2561 ไม่ใช่ปี 2562 อย่างที่รัฐบาลพยายามจะบิดเบือนและทำให้เกิดความสับสนหรือไม่

ทั้งนี้ อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ นำบันทึกการสนทนากับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาชี้แจงให้ชัดเจนว่า ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กับคนไทย มีใครเข้าใจผิด หรือ ใครถูกหลอกหรือไม่ วันนี้ฝ่ายการเมืองไม่ได้เดือดร้อนว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่ แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้งประชาชนจะเดือดร้อน เศรษฐกิจฐานรากได้รับผลกระทบ ประชาชนไม่มีกำลังซื้อ เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน จะได้รับผลกระทบ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะหดหาย ยิ่งมาเจอกระแสข่าวมีเลือกตั้งหรือไม่มีเลือกตั้ง ทุกอย่างจะกระทบหนักทั้งระบบ

ส่วนกระแสข่าวว่า สนช. จะคว่ำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับสุดท้าย เพื่อยืดวันเลือกตั้งออกไปอีกนั้น วันนี้รัฐบาล คสช. และเครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย กุมความได้เปรียบทางการเมืองเอาไว้ สามารถเล่นตามกติกาที่ได้เปรียบฝ่ายการเมืองทั้งหมด ฝ่ายเสนาธิการของ คสช. คงกำลังประเมินกันว่าคะแนนนิยมของ คสช. กับฝ่ายการเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างไร ถ้าเมื่อไหร่ที่มั่นใจว่าคะแนนนิยม คสช. เหนือกว่าฝ่ายการเมืองอย่างชัดเจน เชื่อว่าอาจจะได้เห็นการประกาศวันเลือกตั้ง คสช. มีตัวเลือกหรือไพ่ในมือมากมาย ที่จะหยิบออกมาใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป

นอกจากนี้ หากคะแนนนิยมของ คสช. ไม่กระเตื้อง โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่ทำให้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 วรรค 5 กรณีที่ประชุม สนช. มีมติคว่ำร่างกฎหมายลูกด้วยคะแนน 2 ใน 3 ของจำนวน สนช. ซึ่งถ้าเลือกใช้แท็กติกนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป เท่ากับว่าจะเกิดสุญญากาศทางการเมืองหรือไม่ คือการไม่สามารถระบุหรือกำหนดอะไรได้ อาจต้องเริ่มต้นจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญใหม่ หรือเอาร่างที่ตกไปมาปรับแก้ใหม่ ซึ่งไม่มีใครรู้วันเวลาที่แน่นอนของกระบวนการดังกล่าวว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด กรธ. จะยังอยู่เพื่อปรับแก้หรือไม่ ต้องสรรหามาใหม่หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้

อย่างไรก็ตาม ขอให้สถานการณ์นั้นไม่เกิดขึ้น วันนี้ไม่มีใครรู้ว่าคะแนนนิยมของ คสช. จริงๆเป็นอย่างไร ประชาชนคิดอย่างไรต่อ คสช. เพราะเสียงที่ดังและชัดเจนที่สุดของประชาชน จะบอกในวันเลือกตั้ง ขอให้รัฐบาล คสช. มั่นใจในผลงานของตัวเอง ไม่มีอะไรต้องกลัว เพราะความกลัวทำให้เสื่อม ให้โอกาสประเทศชาติและประชาชนได้เดินไปข้างหน้า ตัดสินอนาคตของตัวเองโดยการเลือกตัวแทนของตัวเองเข้าไปทำหน้าที่ผ่านการเลือกตั้ง อย่าไปคิดหรือตัดสินใจแทนประชาชนทุกเรื่อง ส่วน คสช. ถ้ามั่นใจในคะแนนนิยม นโยบายและผลงานตลอด 3-4 ปี ของตนเอง ก็ขอให้ลงแข่งขันตามกติกาแล้วประชาชนจะเป็นคนตัดสิน