วท.ถอดรหัสของนอก สร้างเครื่องจักรไทย

วท.ถอดรหัสของนอก   สร้างเครื่องจักรไทย

เครื่องนับจำนวนลูกกุ้งจากบ่ออนุบาล เครื่องคัดแยกมะขามปนเปื้อนอัตโนมัติและเครื่องเจาะด้วยคลื่นไมโครเวฟ เป็น 3 เทคโนโลยีต้นแบบจาก “โครงการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า”

เครื่องนับจำนวนลูกกุ้งจากบ่ออนุบาล เครื่องคัดแยกมะขามปนเปื้อนอัตโนมัติและเครื่องเจาะด้วยคลื่นไมโครเวฟ เป็น 3 เทคโนโลยีต้นแบบจาก “โครงการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า” ขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0


กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ดำเนินโครงการวิศวกรรมฯ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นเสมือนกลไกสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชนไม่เกิน 50% หรือวงเงินสูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านบาท สร้างเครื่องจักรที่ออกแบบใหม่ หรือถอดแบบจากต่างประเทศด้วยหลักวิศวกรรมย้อนรอย โดยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า


13 ปีที่ผ่านมาสามารถพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบ 356 เครื่อง เป็นเครื่องจักรอุตสาหกรรม 198 เครื่อง เครื่องจักรสำหรับชุมชน 156 เครื่อง ภาครัฐให้การสนับสนุน 458.7 ล้านบาท ภาคเอกชนลงทุน 564.56 ล้านบาท สามารถลดการนำเข้าเครื่องจักรคิดเป็นมูลค่า 1,251 ล้านบาท มีผลกระทบเชิงเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 3,286 ล้านบาท


ถอดแบบลดการนำเข้า


ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า กระบวนการทำวิศวกรรมย้อนรอยเพื่อสร้างเครื่องจักรกลต้นแบบที่ดีกว่าเดิม หรือคุณสมบัติแตกต่างจากเครื่องต้นแบบ จะช่วยย่นระยะเวลาการพัฒนาเทคโนโลยี หลายประเทศเริ่มต้นจากการทำวิศวกรรมย้อนรอย กระทั่งสามารถก้าวกระโดดกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำได้อย่างรวดเร็ว เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้


ล่าสุดได้พัฒนา 3 เครื่องจักรกลต้นแบบ ประกอบด้วย เครื่องจักรกลที่ช่วยสนับสนุนภาคการเกษตร 2 ผลงานจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ เครื่องนับจำนวนลูกกุ้งจากบ่ออนุบาลโดยวิธีการประมวลผลภาพ เป็นการประมวลผลการดำเนินการทางภาพถ่ายเพื่อหาจำนวนลูกกุ้ง การประมวลผลภาพจะเห็นบริเวณตับลูกกุ้ง ซึ่งใช้เป็นตัวแทนของตัวกุ้ง 1 ตัว


เครื่องดังกล่าวเหมาะสำหรับการนับลูกกุ้งที่มีขนาดยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร กล้องสามารถตรวจจับภาพลูกกุ้งด้วยความเร็ว 0.05 นาทีต่อครั้ง มีความแม่นยำของการประมวลผลสูงถึง 98 % และมีระบบแบตเตอรี่สำรองเพื่อความสะดวกต่อการใช้งานนอกพื้นที่
ส่วนเครื่องคัดแยกมะขามปนเปื้อนอัตโนมัติด้วยระบบรังสียูวีและการวิเคราะห์ภาพ เป็นระบบการตรวจสอบไข่แมลงในมะขามที่ผ่านการแปรรูปด้วยรังสียูวีในช่วงคลื่นความถี่ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสายตามนุษย์ และอีกหนึ่งผลงานเป็นเครื่องจักรกลด้านการก่อสร้าง คือเครื่องเจาะด้วยคลื่นไมโครเวฟ ที่ใช้ในงานเจาะคอนกรีต


“เทคโนโลยีทั้ง 3 เครื่องนี้ ตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเห็นการผลักดันงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยของรัฐและภาคเอกชน ในรูปแบบเกลียว 3 ประสาน หรือที่เรียกว่าโมเดล Triple Helix เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคผลิตและบริการในประเทศ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0”


แก้ปัญหาผู้ประกอบการ


ชมาพร เจียรบุตร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของเครื่องนับจำนวนลูกกุ้งจากบ่ออนุบาล เกิดจากปัญหาของการจำหน่ายกุ้งระยะอนุบาลคือ การวัดคุณภาพของลูกกุ้งระหว่างการส่งมอบ ผู้ซื้อขายจะทำการนับจำนวนลูกกุ้งจากปริมาณน้ำหนักกุ้ง 5 กรัม ซึ่งโดยทั่วไปจะทำการนับจำนวนโดยใช้แรงงานคน ทำให้เสียเวลาเป็นอย่างมากและอาจเกิดความผิดพลาดจากความเมื่อยล้าทางสายตา


ดังนั้น เครื่องนับจำนวนลูกกุ้งจึงถูกคิดค้นขึ้น โดยความร่วมมือบริษัท กิจจักร จำกัด กระทั่งสามารถแก้ปัญหาให้กับผู้เลี้ยงกุ้ง มีราคา 2 แสนบาทขณะที่เครื่องนำเข้าราคา 6 ล้านบาท ส่วนเครื่องคัดแยกมะขามปนเปื้อนอัตโนมัติ เป็นการทำงานร่วมกับ ไนน์ แทมมะรินด์ ผู้ประกอบการมะขามแปรรูปจากเพชรบูรณ์ เพื่อแก้ปัญหามะขามปนเปื้อนที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะตลาดส่งออก ขณะที่เครื่องเจาะคอนกรีตด้วยคลื่นไมโครเวฟนั้น ในอนาคตสามารถต่อยอดเทคโนโลยีให้ใช้งานในงานอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมอัญมณี เซรามิก แก้ว พลาสติก หรือประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ในการผ่าตัดเจาะกระดูก เป็นต้น