ธุรกิจไม่นิ่ง หากพบทีมที่ใช่

ธุรกิจไม่นิ่ง หากพบทีมที่ใช่

สตาร์ทอัพจะ “ล้ม” หรือ “รุ่ง” หนึ่งในตัวชี้วัดก็คือ “ทีม”

การเลือกคน “เก่ง” แต่ “ไม่ใช่” ทำให้ต้องแยกทางกันเดินมาก็เยอะ

มาฟังมุมมองการทำงานและสร้างทีมเพื่อไปให้ถึงฝันจากสตาร์ทอัพ ซึ่งแต่ละคนมีวิธีคิดและแนวทางปฏิบัติที่ต่างกันออกไป แต่บนเป้าหมายของการแจ้งเกิดและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ

Shiftspace ตลาดออนไลน์สำหรับร้านค้าออฟไลน์ที่เจ้าของแบรนด์สามารถเข้าถึงร้านค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ผู้บริโภคเข้าไปซื้อและสามารถเสนอสินค้าให้กับผู้มีอำนาจตัดสินใจซื้อได้โดยตรงในเวลาเพียงไม่กี่นาที

พนักงานขาย เจ้าของแบรนด์สามารถเข้าถึงและเสนอสินค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมายเพียง 3 ขั้นตอนและแบ่งกำไรจากการขายภายใต้เงื่อนไขฝากขายให้แก่เจ้าของร้านค้า โดยชิฟท์สเปซจะทำหน้าที่เชื่อมเจ้าของสินค้าและเจ้าของร้านค้าเพื่อสร้างการแบ่งปันโอกาสทางธุรกิจให้สามารถช่วยเหลือกันในการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น

แม้จะรวมทีมและทำงานกันได้ไม่นาน Shiftspace นับเป็นอีกสตาร์ทอัพที่เกิดจากการรวมตัวของคนที่มีประสบการณ์ในแต่ละด้าน

สุภาพ ธาราทิพย์พิทักษ์ CEO (Chief Executive Officer) และผู้ร่วมก่อตั้ง Shiftspace เริ่มต้นการทำงานจาก Management Trainee ที่ Singha corporation และทำงานที่แรกใน Italian Trading company (Bangkok Office) จากนั้นได้ร่วมงานที่ Unilever Thai Trading และเคยเป็นผู้บริหาร บริษัท ส.ขอนแก่น จำกัด (มหาชน)

ในทีมยังมี ภัทระ ชิรวาณิชย์ CDO (Chief Design Officer) และผู้ร่วมก่อตั้ง Shiftspace เปิดบริษัทออกแบบเว็บไซต์มากว่า 10 ปี วณิช จิรไชยสิงห์ CBO (Chief Business Officer) และผู้ร่วมก่อตั้ง Shiftspace สำเร็จ เคยทำงานที่ Microsoft(Thailand) และเป็นหนึ่งในทีมเปิดตัว Office 2010 ในประเทศไทย และ ทวีสิทธิ์ กาญจนวงศ์ไพศาล CMO (Chief Marketing Officer) และผู้ร่วมก่อตั้ง Shiftspace ทำธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายสินค้าแฟชั่นจากเกาหลี

จุดเริ่มต้นของ Shiftspace เกิดจากงาน Start-up Hackathon ชื่อ Hubba Stadium เกิดจากแนวคิดของแต่ละคนที่คล้ายกัน คืออยากแก้ปัญหาของธุรกิจค้าปลีก จากที่ฝั่งเจ้าของแบรนด์ที่ต้องการขายสินค้าหรือเปิดหน้าร้านเอง แต่พบว่ามีความเสี่ยงและต้นทุนสูง อีกทั้งยังต้องเจอกับอำนาจการต่อรองที่สูงของโมเดิร์นเทรด ทำให้เริ่มคิดถึงรูปแบบธุรกิจแนวใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหาในจุดนี้ได้

เมื่อแนวคิดเริ่มลงตัวก็มาถึงเรื่องคนและการสร้างทีม สุภาพ บอกในตอนแรกทีมใหญ่กว่านี้มีมากกว่า 10 คน แต่สุดท้ายก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ไปต่อ

“พอทำไป 2-3 เดือน มีบางคนไม่รู้สึกว่าอินกับสิ่งที่ทำอยู่ ที่สุดแล้วก็คุยกัน บางคนเมื่อทำงานร่วมกันไปสักระยะ คนที่ไม่ใช่ เราก็ต้องคุยกันแล้วแยกย้ายกันไป

ซึ่งทักษะเรื่องความเด็ดขาด จำเป็นอย่างมาก ใช่ คือใช่ ไม่คือไม่ เมื่อไม่ใช่ก็ค่อยกลับมา แก้ปัญหาให้ถูกจุด จุดที่ต้องเด็ดขาดก็เด็ดขาด แต่ก็ต้องมีข้อมูลที่พร้อมจะตัดสินใจด้วย

 ถึงตอนนี้ผมเฉียบขาดมากขึ้นเมื่อเทียบกับการทำงานเป็นพนักงานในองค์กร อย่างเช่น เดิมไมเคยกล้าไล่คนออก แต่ที่สุดแล้วก็ต้องทำให้ได้”

สุภาพ บอกการทำสตาร์ทอัพต้องตัดสินใจในเรื่องของทีมงาน แม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ต้องทำเพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อ Performance ไม่ดีก็ต้องกลับมามองที่ประสิทธิภาพและการทำงานของทีม 

ช้อปปี้ ออนไลน์ช้อปปิ้งแพลทฟอร์ม ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคมปี 2558 การเติบโตของธุรกิจดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกำลังคน หรือ ทีมงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนกลุ่มมิลเลนเนียล นับเป็นขุมกำลังที่สำคัญและมีศักยภาพในการผลักดันสตาร์ทอัพไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

เทคนิคการทำงานร่วมกับทีมที่เป็นกลุ่มมิลเลนเนียลให้รุ่งนั้น  เทเรนซ์ แพง ประธานฝ่ายปฏิบัติการช้อปปี้ (Shopee) แนะว่า

“ปรับตัวให้ไว และตามให้ทัน” เพราะชาวมิลเลนเนียลเป็นกลุ่มคนที่เปิดกว้างทั้งในเรื่องของแนวคิดและวิธีการ อีกทั้งยังพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและปรับตัว  ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ

ผู้บริหารควรมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี รวมทั้งเปิดกว้างรับสิ่งใหม่ๆ และพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและเหตุการณ์อยู่เสมอ

ถัดมาการสร้าง “สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ยืดหยุ่น” คนกลุ่มนี้จะมีความยืดหยุ่นเรื่องเวลา การสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายและยืดหยุ่น รวมถึงการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในสถานที่ทำงาน เช่น ระบบโต๊ะทำงานแบบฮอทเดสก์ (Hot Desk) และพื้นที่สำหรับการพักผ่อน เป็นต้น

“ทุกเสียงมีความสำคัญ” พวกเขามองว่าการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาจะช่วยประหยัดเวลาและทำให้งานเสร็จได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

นอกจากนี้ ควรเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพและความสามารถผ่านความคิดและข้อคิดเห็นต่างๆ อย่างเต็มที่

“การฟีดแบ็คอย่างรวดเร็ว” คนกลุ่มนี้จึงคาดหวังที่จะได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็วทั้งจากหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนำไปปรับปรุง พัฒนา หรือสานต่องานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการปรึกษาหารือระหว่างผู้ร่วมงานในบรรยากาศที่เป็นกันเองจะช่วยให้พวกเขาได้พัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น

“เสริมทักษะ”ชาวมิลเลนเนียลเป็นกลุ่มคนที่ต้องการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการจัดเทรนนิ่งเป็นประจำเพื่อฝึกฝนทักษะใหม่ๆ เป็นอีกประเด็นที่สิ่งที่สำคัญ

“สำหรับช้อปปี้ มีการจัดคลาสเทรนนิ่งให้กับทีมงานคนรุ่นใหม่เป็นประจำทุกเดือนในหัวข้อที่แตกต่างกันไป เพื่อที่จะช่วยพัฒนาและเพิ่มทักษะด้านต่างๆ ที่จำเป็น เช่น การใช้งานโปรแกรม Microsoft Office ไปจนถึงทักษะเฉพาะทาง เช่น การต่อรอง และการพูดคุยกับลูกค้า เป็นต้น”

“คน” นับเป็นทรัพย์สินที่มีค่าขององค์กรอยู่เสมอ เพราะทีมงานที่มีศักยภาพจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจเติบโตไม่หยุด