'สคร.'ปลื้ม!!ช่วยดันสินทรัพย์รัฐวิสาหกิจโต3เท่าใน15ปี

'สคร.'ปลื้ม!!ช่วยดันสินทรัพย์รัฐวิสาหกิจโต3เท่าใน15ปี

"สคร." ปลื้ม!! ผลงาน 15 ปีช่วยดันสินทรัพย์รัฐวิสาหกิจไทยโตจาก 4.3ล้านลบ. มาอยู่ที่ 15 ล้านลบ. พร้อมเดินหน้าสานต่อการลงทุนร่วมรัฐ-เอกชน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 15 ปี ของ สคร. ได้มีส่วนในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศพร้อมกับการกำกับการดำเนินงานด้วย ธรรมาภิบาล ผ่านภารกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านรัฐวิสาหกิจ ด้านหลักทรัพย์ของรัฐ และด้านการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(PPP) ซึ่งได้มีการจัดตั้ง PPP Fast Track ที่ช่วยทำให้โครงการก่อสร้างพื้นฐานภาครัฐ ทำได้รวดเร็ว และมีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น โดยในปีงบประมาณที่ผ่านมาสามารถขับเคลื่อนโครงการได้ 340,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ Thailand Future Fund เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกให้แก่ภาครัฐในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อีกทั้งยังได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ โดยกำหนดให้ผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ซึ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว /

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน 15 ปีที่ผ่านมา ของ สคร. ส่งผลให้สินทรัพย์รัฐวิสาหกิจรวม จากปี 2546 มีมูลค่า 4.3 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 15 ล้านล้านบาทในปี 2560 หรือคิดเป็นประมาณ 3 เท่าตัว ขณะที่หลักทรัพย์ของรัฐ เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2546 ที่ 300,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1.15 ล้านล้านบาทในปี 2560 และด้านการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันมีมูลค่าถึง 3.35 แสนล้านบาท

ขณะที่แผนยุทธศาสตร์ปีงบประมาณ 2561 ได้ตั้งเป้าที่จะดูแลงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ให้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งปีงบประมาณที่ผ่านมา สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 20 สูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวได้ ร้อย 3.7

ส่วนหลักทรัพย์ที่ถือครองอยู่ในขณะนี้ จำนวน 109 หลักทรัพย์ จะทำแผนยุทธศาสตร์ บริหารจัดการหลักทรัพย์ให้เเล้วเสร็จ ภายใน ไตรมาส 1 ปีหน้า โดยเฉพาะการทำแผนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่ไม่จำเป็นต่อยุทธศาสตร์ของประเทศ ในจำนวนมูลค่ากว่า 370,000 ล้านบาท อาทิ การขายหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่ภาครัฐดำเนินการยึดมาได้ โดยจะต้องทบทวนวิธีการขายหลักทรัพย์ให้เหมาะสม

สำหรับกรอบแนวคิดในการจัดแผนยุทธศาสตร์ PPP โดยมีมูลค่าโครงการลงทุนรวม 1.62 ล้านล้านบาท สำหรับ 55 โครงการลงทุน โครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะของกระทรวงคมนาคม ประมาณร้อยละ 94 อาทิ โครงการท่าเรือสาธารณะ โครงการขนส่งทางรางภายในประเทศ โครงการลงทุนถนน รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น ซึ่งได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว 16 โครงการ คาดว่า ในปี 2561 จะสามารถดำเนินโครงการได้สำเร็จ 4 โครงการ โดยประเมินว่าในปี 2563-2564 จะมีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบประมาณร้อยละ 40 ซึ่งแผนยุทธศาสตร์นี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ คาดว่าจะนำเสนอ ครม. พิจารณาได้ภายในเดือนธันวาคม 2560