เทรดโชว์‘STYLE’ดันไทยฮับสินค้าไลฟ์สไตล์-แฟชั่น

เทรดโชว์‘STYLE’ดันไทยฮับสินค้าไลฟ์สไตล์-แฟชั่น

กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นของไทยแม้จะมีเอกลักษณ์ความโดดเด่นเป็นจุดขายที่แตกต่างแต่ดีกรีการแข่งขันที่ต้องเผชิญผู้เล่นมหาศาลตั้งแต่รายเล็ก กลาง และยักษ์ใหญ่

รวมทั้งรูปแบบธุรกิจ และการนำเสนอสินค้า ถูกพัฒนาให้มีความหลากหลายมากขึ้น  ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปฏิวัติโมเดลธุรกิจและวิธีการทำตลาดด้วยเช่นกัน 

 อโนทัย ชลชาติภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแฟชั่นจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แนวทางของการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าด้านไลฟ์สไตล์และแฟชั่นของไทย ในส่วนที่เป็นแฟชั่นได้มีการกำหนดเทรนด์ฟอรั่มของตัวเองที่ผ่านการคิดค้นโดยกูรูและผู้ทรงอิทธิพลด้านแฟชั่นในเมืองไทย เรียกว่า  “ASIEN EXPRESSION” แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มไลฟ์สไตล์ที่มีทัศนคติที่แตกต่างกันตามพื้นฐานทางชีวิต การกินอยู่ ตำแหน่งและสถานะทางสังคม ประกอบด้วย  “Asien Resolation” เป็นการหวนรำลึกถึงอดีตที่เราเป็นเอเชียมาตั้งต้นใหม่ว่างานฝีมือของไทยเป็นอย่างไร เทียบยุโรปหรือประเทศอื่นๆ  “Ordinary Eat” คือ มินิมอลไลฟ์สไตล์ เป็นการกลับมาดูว่าการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยคุณภาพที่ยอดเยี่ยมของเอเชียเป็นอย่างไร “Genaration Art” เป็นเจนเนอเรชั่นใหม่ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสปอร์ตและใช้ศิลปะเป็นไกด์ไลน์ในการใช้ชีวิตเหมาะกับสตรีทแบรนด์ สุดท้าย “Man Made Topia”  โลกแฟนตาซีของคนเอเชียที่ใช้ชีวิตแบบ “Hipperty Be Frerdom” มีความเป็นโบฮีเมียน มีสีสันจัดจ้าน 

ปกติจะต้องมาอัพเดทเทรนด์ว่ายุโรป สหรัฐ ไปถึงไหนแล้ว เวลานี้เราพัฒนาจนสามารถกำหนดเทรนด์ขึ้นมาเองได้และนำสมัย”

การกำหนดเทรนด์ที่จะเป็นสไตล์ของคนไทยหรือเอเชีย เป็นพื้นฐานสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายเศรษฐกิจใหม่ สะท้อนถึงความมี “Unity”  หรือแพลตฟอร์มในกรอบการเดินที่ต่างจากทั่วโลก 

ทั้งนี้ ล่าสุดการพัฒนาคอลเลคชั่นใหม่ภายใต้ความสนับสนุนขององค์กรภาครัฐอย่าง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)  ในโครงการ ยังก์ ดีไซเนอร์ รวม 75  นิวคอลเลคชั่น ผ่านการดูแลจาก ท็อป ดีไซเนอร์ ของเมืองไทย โดยมี “Fashion Mark” เป็น Quest Fashion Mark การันตีศักยภาพ จะมีการเปิดตัวคอลเลคชั่นใหม่นี้ตั้งแต่ 1 ต.ค.

เมธชนัน สวนศิลป์พงศ์ กูรูด้านแฟชั่นจากแบรนด์ “KENKOONEX”  กล่าวว่า วิถีของการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลเป็น “อัตลักษณ์” ที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาตีโจทย์ในการพัฒนาสินค้าและบริการรองรับและสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ที่แตกต่าง ในการเจาะลูกค้าเป้าหมายกลุ่มนั้นๆ

โดยขณะนี้ “ผู้ซื้อเป้าหมายใหม่” ทั้งกลุ่มผู้ค้าปลีก คอนเซปต์สโตร์ พร็อพเพอร์ตี้โปรเจค ตัวแทนจัดซื้อของต่างประเทศ นักออกแบบ มัณฑนากร สถาบันการออกแบบต่างๆ ห้างสรรพสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนผู้ที่อยู่ในวงการแฟชั่นและไลฟ์สไตล์จากทั่วโลก รวมถึงผู้ที่ทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ เป็นกลุ่มทรงอิทธิพลในตลาดจะปรับตัวรองรับโอกาสนี้อย่างไร 

อย่างไรก็ตาม หนึ่งตลาดใหญ่ของสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น ผ่านงานแสดงสินค้าด้านไลฟ์สไตล์ ทั้งงานแสดงสินค้าแฟชั่นและงานแสดงสินค้าเครื่องหนัง ( BIFF&BIL) งานแสดงสินค้าของขวัญและงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน (BIG+BIH) และงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ (TIFF)  เวทีเชื่อมต่อผู้ประกอบการไทยและตลาดโลก พลิกกลยุทธ์โดยยกระดับควบรวม 3 งานเทรดโชว์เข้าด้วยกันพร้อมปั้นแบรนด์ใหม่ “STYLE”

STYLE” ภายใต้แนวคิด “Life+Style” เป็นส่วนหนึ่งของ “ครีเอทีฟ ไทยแลนด์” วางเป้าหมายศูนย์กลางการผลิต การตลาด และการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ครบวงจรแห่งภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย เป็นไปตามนโยบายของ สมเด็จ สุสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า รูปแบบการดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะ “ตลาดเป้าหมาย” เสนอสินค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คอนเซปต์สโตร์, มัลติแบรนด์สโตร์, ซีเล็คเต็ด ช็อป ที่รวมสินค้าหลากหลายหมวดหมู่ไว้ในร้านเดียว

ทำอย่างไรก็ได้ให้สินค้าไทยออกไปสู่ตลาดต่างประเทศมากที่สุด ยิ่งในห้วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งผู้ประกอบการและผู้ซื้อต่างต้องการประหยัดงบประมาณและต้นทุน”

งาน “STYLE” วันที่่ 17-21 ต.ค.นี้ ภายใต้ความร่วมมือจาก 24 สมาคมที่เกี่ยวข้อง คาดมีผู้ประกอบการไทยและต่างชาติเข้าร่วมแสดงสินค้ากว่า 1,000 บริษัท 2,000 บูธ บนพื้นที่ 4 หมื่นตร.ม. ที่ ไบเทค บางนา มีสินค้า 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ แฟชั่น (BIFF) เครื่องหนัง (BIL) ของขวัญ (BIG) ของตกแต่งบ้าน (BIH) และเฟอร์นิเจอร์ (TIFF)เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ค้าและผู้ผลิต โดยมุ่งสื่อสารสร้างการรับรู้การจัดงานไปยังหัวเมืองใหญ่ของไทยและประเทศต่างๆ ที่มีสำนักงาน DITP กว่า 50 ประเทศ พร้อมโรดโชว์กัมพูชา เกาหลีใต้ ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการจากจีน เกาหลี ศรีลังกา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และซีแอลเอ็มวี ร่วมแสดงสินค้าจำนวนมาก ผู้สนใจร่วมงาน 6 หมื่นรายจากทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐ  ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

แก่นแท้แบรนด์'ต่อยอดธุรกิจ

พลอย จริยะเวช คอนเซปต์ดีไซเนอร์ กล่าวว่า ในการออกแบบคอนเซปต์สำคัญสุด “แก่นต้องชัด” และขับออกมาให้สัมผัสและจับต้องได้ สะท้อนผ่านแบรนด์และโปรดักท์ เป็นพื้นฐานของแบรนด์ ดังนั้นการกำหนดเทรนด์ นั่นคือการสร้างแก่นของแบรนด์ให้ชัดเจนนั่นเอง 

เทรนด์โลก หรือกระแสความนิยมต่างๆ จะไม่ประสบความสำเร็จหรือยั่งยืนได้หากแก่นแท้หรือสไตล์ของแบรนด์ไม่ชัดเจน สำคัญมากสำหรับสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นที่จะต้องมีเอกลักษณ์แตกต่างจากคู่แข่ง” 

ในฐานะนักออกแบบคอนเซปต์จะให้ความสำคัญกับแก่นที่แท้จริงของแบรนด์ 80% อีก 20% นำเทรนด์โลกมาปรับใช้ให้เหมาะกับแบรนด์

ก่อนจะก้าวไปถึง 4.0 หรือการใช้นวัตกรรมต่อยอดธุรกิจ “พื้นฐานต้องแน่น” เพื่อต่อยอดธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ