“นิธิฟู้ดส์” เปิดโลกตะวันตก พบเครื่องเทศไทย

“นิธิฟู้ดส์” เปิดโลกตะวันตก พบเครื่องเทศไทย

รุ่นพ่อและอาเปิดธุรกิจค้าเครื่องเทศป้อนโรงงานอุตสาหกรรมนับวันกำไรบางลงคู่แข่งมากขึ้น ถึงมือเจน 2 ไม่รีรอกินบุญเก่าสร้างกองกำลังวิจัยปฏิวัติเครื่องเทศเป็นสารพัดเมนูอาหารไทยพร้อมปรุง ทั้งสูตรดั้งเดิมและฟิวชั่น เปิดตลาดคนตะวันตก อยากลุกมาทำอาหารเอเชีย

ประสบการณ์ของเด็กจบนอกที่เคยใช้ชีวิตอยู่สหรัฐอเมริกาผู้ลุ่มหลงการปรุงอาหารจานเด็ดเสิร์ฟตัวเอง สำหรับ สมิต ทวีเลิศนิธิ” กรรมการผู้จัดการ บริษัทนิธิฟู้ดส์ จำกัด ถึงจังหวะต้องเข้ามาสืบทอดกิจการครอบครัว ค้าขายเครื่องเทศให้โรงงานอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรแปรรูป เช่น กระเทียมผง พริกไทยป่น กระเทียมเจียว น้ำมันเจียวหอม หอมแดงเจียว ใบหอมอบแห้ง ธุรกิจที่สร้างจากคนรุ่นแรก พ่อและอาของเขา (กอบชัย -สุรพล ทวีเลิศนิธิ) ผู้ปลุกปั้นธุรกิจ มาตั้งแต่ปี 2541

การบ้านชิ้นแรกที่เขาให้กับตัวเอง คือ กากรคิดค้นหาโปรดักท์ดาวรุ่งตัวใหม่ เพื่อไปปักธงตลาดใหม่ในน่านน้ำสีคราม (Blue Ocean)

ผู้บริหารรุ่น 2 ในวัย 38 ปี จบปริญญาโท จากรัฐแคโรไลน่า สหรัฐอเมริกา หลังมาบริหารกิจการเครื่องเทศได้ 8 ปี “สมิต” ก็คลอดโปรดักท์นวัตกรรมเครื่องเทศพร้อมปรุง ตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบทำอาหาร

“ผมต้องการทำให้ธุรกิจยืนยาว งานวิจัยพบว่าอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปีธุรกิจหลายตัวจะค่อยๆ เลือนหายจากตลาดเพราะไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเครื่องเทศก็เป็นหนึ่งในนั้น นับวันจะมีกำไรลดลง คู่แข่งก็มากขึ้น เราจึงต้องหนีออกจากความเสี่ยงนี้” สมิต เผยความคิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่เขามาสืบทอดกิจการ

แบรนด์แรกเกิดขึ้นในปี 2554 ในชื่อ เออร์เบิร์นฟาร์ม” (Urban Farm) ผักอบแห้ง ก่อนจะต่อยอดเป็นข้าวอบแห้งพร้อมหุง เช่น ข้าวหอมผงกระหรี่ ข้าวต้มยำ เป็นต้น

จนปี 2557  ก็เปิดตัวแบรนด์ที่ 2 พ็อคเก็ต เชฟ” (Pocket Chef) ซอสผงปรุงรสสำหรับทำข้าวผัดรสชาติต่างๆ

“เราจะพัฒนาสินค้านวัตกรรม จากการคิดความเห็นของลูกค้าว่าอยากได้แบบไหน เช่น แบรนด์เออร์เบิร์นฟาร์ม ลูกค้าบอกว่า มีขนาดบรรจุมากเกินไปหุงครั้งเดียวทานได้สามคน แบบนี้ถือว่าไม่ตอบโจทย์ครอบครัวขนาดเล็กลง หนุ่ม-สาวโสดมีมากขึ้น เราเลยทำขนาดเล็กลง แต่มีเมนูหลากหลายมากขึ้น”

ในปี 2558 ยังวิจัยและพัฒนาแบรนด์ อีสท์คิทเช่น” (East Kitchen) เป็นแบรนด์ที่สาม ซึ่งเพิ่งเปิดตัวในปีนี้ เป็นผงปรุงรสอาหารไทยที่นำไปสร้างสรรค์เมนูผสมผสานกับทุกชาติ เช่น ผงรสแกงเขียวหวาน พะแนง มัสมั่น ต้มยำ ต้มข่า สิ่งเหล่านี้พร้อมไปผัดกับข้าว เส้นสปาเก็ตตี้ มะกะโรนี ได้ทันที

“นี่คือช่องว่างการตลาดเครื่องปรุงรสข้าวผัด หรืออาหารไทยฟิวชั่นที่ผสมผสานตามไอเดียสร้างสรรค์เมนูตะวันออกสู่โลกตะวันตก” เขาเล่าถึงเมนูที่ออกแบบให้คนตะวันตกหัดทำอาหารไทย

ตำแหน่งสินค้าทั้ง 3 แบรนด์ยังมีเป้าหมายเจาะเซ็คเมนท์ลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป อย่าง เออร์เบิร์นฟาร์ม เป็นสินค้าแปรรูปน้อยที่สุด เพียงนำผักมาอบ เน้นวัตถุดิบธรรมชาติ เน้นทำตลาดในประเทศ เพราะผักแห้ง หาได้ทั่วไปในต่างประเทศ 

ขณะที่แบรนด์พ็อคเก็ตเชฟ จับกลุ่มลูกค้าเอเชีย นอกจากนี้ยังพบว่า ซอสผงพร้อมปรุงสำหรับผัดข้าวผัด หลังเปิดตลาด 1 ปี ลูกค้าที่เข้ามาสั่งซื้อเข้ามามากหกลับไม่ใช่ห้างสรรพสินค้า แต่กลับเป็นร้านอาหาร จึงทำให้ต้องเพิ่มขนาดบรรจุเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับร้านอาหาร ที่ต้องการไปผสมเมนูข้าวผัด เมนูอาหารแนะนำตามฤดูกาล เพื่อเรียกลูกค้า

ส่วนแบรนด์น้องใหม่อย่าง“อีสท์คิทเช่น” เน้นตลาดลูกค้าชาวต่างชาติิ คนผิวขาว แถบตะวันตกทั้งสหรัฐ อเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ที่รักการทำอาหาร และชอบสร้างสรรค์เมนูตะวันออก

กลยุทธ์การเจาะตลาดของอีสท์คิทเช่น คือ การส่งโปรดักท์แชมป์เปี้ยนดึงให้ทดลองเมนูแรกแล้วลองเมนูต่อๆไป โดยเฉพาะเมนูพะแนง ที่ทางซีเอ็นเอ็น ระบุว่า เป็นอาหารไทยระดับโลกที่คนทั่วไปชื่นชอบ

“สมิต” ยังระบุว่า แม้สินค้า 3 แบรนด์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมา จะตามหลังแบรนด์รุ่นพี่อย่าง “รอยไทย”  “โลโบ” หรือ “แม่ประนอม” ที่ลุยตลาดโลกมาก่อน แต่นิธิฟู้ดส์  จะชูความแตกต่างด้วยการเน้นกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่ชอบปรุงเมนูอย่างไทย เขาย้ำ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจนิธิฟู้ดส์ รายได้หลักกว่า 90% ยังมาจากธุรกิจเครื่องเทศส่งโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลืออีก 5 % คือการกระจายตัวของสินค้าทั้ง 3 แบรนด์ โดยสินค้าที่ขายดีที่สุดคือแบรนด์พ็อคเก็ต เชฟ มีรายได้ปีที่ผ่านมากว่า 360 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะมีรายได้แตะ 400 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายรายได้ที่ 1,000 ล้านบาทภายในปี 2563

“จากนี้เราจะเริ่มทำตลาดให้ชัดเจนขึ้น ภายหลังจากลงทุนไป 20 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานเพิ่มกำลังการผลิตจากไม่ถึง 100 ตัน เป็น 900 ตันต่อเดือน ทำให้กล้ารับคำสั่งซื้อขนาดมากขึ้น และก็จะเน้นการวิจัยและพัฒนาผ่านสถาบันวิจัยรสชาติอาหารที่บริษัทตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาสินค้าเครื่องปรุงรส มาตั้งแต่ปี 2554” สมิตเล่าและว่า

แนวคิดการพัฒนาเพื่อหารายได้จึงเชื่อมโยงพัฒนาองค์ความรู้ และพร้อมสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์อาหารไทยไปโตต่างประเทศ ก้าวข้ามข้อจำกัดของการขนของสด แต่มีการพัฒนาสูตรปรุงรสในรูปผง เช่นเดียวกับแบรนด์ไก่บอนชอน แบรนด์จากเกาหลี ที่เข้ามาในไทยก็มาในรูปแบบซอสและผงปรุงรสสำเร็จรูป ไม่มีการเปิดเผยสูตรทั้งหมด

สำหรับปรัชญาการดำเนินธุรกิจของนิธิฟู้ดส์ ยังยึดหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เดินอย่างระมัดระวังมีภูมิคุ้มกันและประมาณตนก่อนตัดสินใจลงทุน จะเห็นด้ว่าบริษัทจะเน้นการวิจัยและพัฒนาจนแน่ใจก่อนจะพัฒนาแบนรนด์ และเมื่อพัฒนาแบรนด์แล้ว ก็ต้องวางแผนการตลาดให้ดี รับคำสั่งซื้อเท่าที่ความสามารถจะทำได้ แม้จะมีโอกาสใหญ่เข้ามา ก็ต้องปฏิเสธ รอให้กำลังการผลิตเพียงพอจึงจะรับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น พร้อมไปกับการเชื่อมโยงแหล่งวัตถุดิบกับผู้ผลิตในภาคต่างๆของประเทศ เพื่อสร้างความยั่งยืนของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต 

-----------------------

Key to Success

รสชาติไทยเปิดประตูสู่โลกตะวันตก

-สำรวจตัวเองปิดความเสี่ยง

-วิจัยและพัฒนาจากวัตถุดิบคุณภาพ

-พัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นจากความเห็นลูกค้า

-แบ่ง 3 เซ็คเมนท์ 3 แบรนด์ ลุยตลาดโลก

-จับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ให้อยู่หมัด 

-ดำเนินธุรกิจภายใต้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง