ปั้นฝันให้เป็นจริง โมเดล ‘เวริลี วิชั่น’

ปั้นฝันให้เป็นจริง โมเดล ‘เวริลี วิชั่น’

ทำให้วิสัยทัศน์กลายเป็นจริง “ชนาธิป ฤกษ์สุขรุ่งเรือง” (บุ๊ค) บอกว่านี่คือความหมายของ “เวริลี วิชั่น” (Verily Vision)

สตาร์ทอัพที่เขาลงขันกับเพื่อนๆ ทั้งหมด 5 คน ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อปั้นงานวิจัย นวัตกรรม ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถขายได้ และใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ

คงเพราะมี “สตีฟ จ็อบส์” และ “อีลอน มัสก์” เป็นฮีโร่ในดวงใจ ชนาธิปจึงมีความใฝ่ฝันในเรื่องนี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก พอโตขึ้นเขาก็เลือกเรียนวิศวะสาขาโทรคมนาคม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ระหว่างเรียนก็มีโอกาสทำโปรเจ็คร่วมกับอาจารย์ และรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาหลายโครงการหนึ่งในนั้นก็คือ “เครื่องมือวัดความอ่อนแก่ของทุเรียน” ด้วยคลื่นไมโครเวฟ ซึ่งเพิ่งไปคว้ารางวัลเหรียญทองแดง จากเวทีสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก ในงาน 44th International Exhibition and Invention of Geneva 2016 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปีที่ผ่านมา

"ช่วงเวลาที่ผ่านมาผมได้ไปเจอผู้คนมากมาย ได้เห็นว่าถึงความต้องการนวัตกรรมว่ามีอยู่สูงมาก บวกกับความคิดอยากจะเปิดบริษัทของตัวเอง พอเรียนจบเลยตัดสินใจก่อตั้งเวริลี วิชั่น ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรมเพื่อให้ตอบสนองทุก ๆอุตสาหกรรมของประเทศไทย"

ต้องบอกว่าชนาธิปเพิ่งจบการศึกษา ถามว่ามีความคิดจะไปแสวงหาประสบการณ์การทำงานในองค์กรใหญ่หรือไม่ ?  เขาบอกว่าก็เหมือนเด็กทั่วไปที่อยากไปทดลองทำงานเป็นพนักงาน อยู่ในโหมดของลูกน้อง ไปสัมผัสถึงวัฒนธรรมองค์กรต่างๆ

"แต่เพราะมีปัจจัยหลาย ๆอย่างมากระตุ้น สนับสนุนให้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการของภาครัฐและทางมหาวิทยาลัยที่ผลักดันให้มีการนำเอางานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจ ผมมองว่าในเมื่อโอกาสมาแล้วก็ควรจะคว้ามันเอาไว้"

และรู้ดีว่า “เสี่ยง” มากสำหรับคนที่เพิ่งเรียนจบแล้วกระโดดลงมาทำธุรกิจเลย เขาบอกว่าก็ต้องค่อย ๆพัฒนา และโชคดีที่มีคุณแม่ทำสำนักงานบัญชี และคอยให้คำแนะนำ ดูแลเรื่องการเงินการบัญชีของบริษัทให้ทั้งหมด นอกจากนั้นเขาก็ใช้วิธีไปเรียนรู้ ฟังคำชี้แนะจากรุ่นพี่สถาบันซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ก้าวเป็นนักธุรกิจที่มากประสบการณ์และประสบความสำเร็จ

"ตอนนี้บริษัทของเราเพิ่งเริ่ม ตัวผมเองเป็นซีอีโอ และดูในส่วนเทคนิคด้วย พวกเราตั้งเป้ากันไว้ว่าระยะเวลา 3 ปีจากนี้ จะต้องมีออฟฟิศเป็นของตัวเอง ตอนนี้การทำงานของเราก็เวียนไปตามบ้านของแต่ละคน่"

เวริลี วิชั่นทำธุรกิจอยู่สองขา หนึ่ง บริษัทจะรับโจทย์ความต้องการจากลูกค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ  แล้ววิจัยและพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์ สอง เป็นผู้พัฒนาโปรดักส์ขึ้นมาเอง โดยพยายามมองหาดีมานด์และปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่จากนั้นก็คิดหาทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อจำหน่าย

"เนื่องจากเวลานี้ทีมของเรายังเล็ก จำเป็นต้องกำหนดขอบเขต ในช่วงแรก ๆ ที่เราทำจะเป็นการใช้เทคนิคเกี่ยวกับการประมวลผลภาพ ใช้กล้องเป็นตัวเซ็นเซอร์หลักทำหน้าที่เป็นตาของคน และระบบรู้จำใบหน้า รู้จำป้ายทะเบียนรถ รู้จำพวกหมายเลขของตู้คอนเทนเนอร์ เพราะความต้องการของอุตสาหกรรมในเวลานี้คือการลดจำนวนคนงาน นำเอาเครื่องจักรมาแทนที่"

ลูกค้าหลัก ๆของเขา ก็คือ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เนื่องจากกระบวนการในการทำงานต้องใช้รถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งแต่ละตู้จะมีหมายเลขเฉพาะ และในความเป็นจริงก็คือ อุตสาหกรรมนี้ยังคงต้องใช้คนจำนวนมากเพื่อบันทึกข้อมูลเวลาที่รถวิ่งเข้า-ออกคลังสินค้าซึ่งเวริลี วิชั่น ช่วยได้โดยการติดกล้องและให้คอมพิวเตอร์มาช่วยทำงาน ช่วยลดจำนวนคน ลดระยะเวลาในกระบวนการทำงานลง  ขณะที่อีกธุรกิจหนึ่งที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเอง (ยังอยู่ในขั้นตอนของการวางแผน)  จะเป็นการนำเอาระบบรู้จำ มาใช้ประโยชน์ในการวางแผนการตลาด

"ปัจจุบันเห็นได้ว่าเฟสบุ๊คเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้ สังเกตุได้จากเวลาที่โพสต์รูป เมื่อก่อนถ้าต้องการจะแท็กเพื่อนเราต้องไปกรอกชื่อเอง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องทำแล้วเพราะระบบรู้จำใบหน้าทำหน้าที่นี้ให้ มันเป็นเรื่องของบิ๊กดาต้า เรานำเอาข้อมูลของผู้คนมหาศาลมาประมวลผลและใช้ประโยชน์ในเชิงการตลาด อีกเรื่องหนึ่งที่เราสนใจก็คือ เทคโนโลยีไอโอที"

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือวัดความอ่อนแก่ของทุเรียน (Durianary) ก็จะอยู่ในธุรกิจขาที่สองนี้ และลูกค้าเป้าหมายที่ได้เล็งไว้ก็คือ  กลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก สำนักงานเกษตรจังหวัดซึ่งมีหน้าที่ควบคุมคุณภาพผลิตผลในพื้นที่ ตลอดจนพ่อค้าคนกลางที่อยู่ในท้องตลาด

จะเห็นว่าธุรกิจทั้งสองแนวทางต่างเป็นโมเดล “บีทูบี” ชนาธิปบอกถึงเหตุผลว่าเพราะกำลังซื้อของกลุ่มบิสิเนสย่อมมีมากกว่าลูกค้ารายบุคคล รวมถึงปัญหาที่เวริลี วิชั่นมองเห็นก็มักเป็นปัญหาเดียวกันกับที่หลาย ๆอุตสาหกรรมกำลังประสบอยู่  และการพัฒนาโซลูชั่นหรือผลิตภัณฑ์ขึ้นมา ต้องสามารถเจาะกลุ่มตลาดที่ค่อนข้างกว้าง ขณะที่บีทูซีต้องเน้นปริมาณถึงจะเห็นกำไร

พบเจออุปสรรคอะไรบ้างในการขับเคลื่อนธุรกิจ แน่นอนที่สุดคือเรื่องของการบริหาร เนื่องจากยังเป็นมือใหม่ การบริหารจัดการจึงยังไม่ค่อยเป็นระบบเท่าที่ควร อีกเรื่องหนึ่งที่ยังหนักใจก็คือ มีความกังวลและประหม่าเวลาไปเจรจาธุรกิจกับลูกค้า ซึ่งคงต้องอาศัยเวลาและการลงสนามจริง ไม่มีตำราไหนที่ช่วยได้

ชนาธิป มีคำแนะนำให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่ว่า ควรต้องมีครบในปัจจัยสำคัญ 3 ข้อ หนึ่ง มีความตั้งใจ ถ้ามีเป้าหมายมีความฝันอยู่แล้วจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ สอง มีคอนเน็คชั่น ต้องรู้จักผู้ที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำ แทนที่ต้องล้มเองเจ็บเองแล้วค่อยเรียนรู้ ก็สามารถเรียนลัดเพื่อหลีกเลี่ยงความล้มเหลวได้ก่อน สุดท้ายคือ มีทีมงาน ที่มีเป้าหมาย ความคิด ความฝันเดียวกัน พร้อมที่จะเดินไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกัน

“โชคดีที่เราทั้ง 5 คนมีความฝันเหมือนกัน ประการสำคัญครอบครัวของพวกเราให้การสนับสนุน ถ้าทางบ้านไม่สนับสนุนก็มีที่ต้องล้มเลิกความคิด ผมมองว่าครอบครัวมีส่วนสำคัญ”

เทคโนโลยีในทุกวันนี้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ชนาธิปมองว่าในการพัฒนาโปรดักส์ขึ้นมาแต่ละตัวก็ควรต้องมองไกลไปใน 5-10 ปีข้างหน้า  ต้องติดตามข่าวสารงานเทคโนโลยีทั่วโลกว่า เพื่อดูว่านวัตกรรมที่คิดทำจะยังอยู่หรือไม่ ถ้าเห็นว่าจะมีสิ่งอื่นมาทดแทนก็คงไม่คุ้มค่าในการจะลงทุนลงแรง

ซึ่งนวัตกรรมถือว่ายังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดในการจะพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาเองยังมีอยู่น้อยมาก

"เราเป็นสตาร์ทอัพกลุ่มแรก ๆเลยก็ว่าได้ที่กระโดดเข้ามาทำเรื่องนี้ ซึ่งมันก็หมายถึงความท้าทาย เพราะคนไทยมักมองว่าโปรดักส์ที่ผลิตโดยคนไทยนั้นไม่โอเค มาตรฐานสู้ต่างชาติไม่ได้ จุดนี้เราต้องสร้างมาตรฐาน ความเชื่อมั่นให้ลูกค้าเชื่อว่าคนไทยทำได้จริง  ซึ่งเป็นเรื่องยาก"

เวริลี วิชั่น ต้องพิสูจน์ตัวเอง ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด ต้องสามารถใช้งานได้จริงตามที่ได้โฆษณาหรือการันตีเอาไว้

 “ถ้าเราไม่คิดจะทำหรือคิดว่าต่างประเทศทำได้ดีกว่า ก็เท่ากับเราปิดประตูตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้นเลย ด้วยมุมมองแบบนั้นก็คงไม่มีแรงบันดาลใจจะทำอะไรแล้ว”