'รถเมล์ไทย 4.0' คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ

'รถเมล์ไทย 4.0' คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ

เมื่อการพัฒนารถเมล์แบบรัฐไทยไม่ตอบโจทย์ ผู้ใช้งานจริงจึงต้องมาจัดการเอง ด้วยเทคโนโลยีง่ายๆ ในมือ

รถโดยสารประจำทางหรือที่เรียกติดปากว่า ‘รถเมล์’ เป็นอีกระบบขนส่งสาธารณะที่มีอายุอานามร่วมร้อยกว่าปี แม้หน้าตาและรูปแบบการบริการจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ปัญหาเรื้อรังก็ยังคงเดิม

            แทบเป็นความเคยชินจนบางคนด้านชาไปแล้วกับสารพัดปัญหารถเมล์ไทย ทั้งรถน้อย รอนาน การบริการไม่ดี บางทีแถมรถเสียให้แห่กันลงไปรอต่อรถคันใหม่เป็นของสมนาคุณอีกด้วย แต่กระนั้นรถเมล์ก็ยังเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่ยังมีคน (ต้อง) ใช้บริการอยู่ตลอด เพราะ ราคาถูกและเส้นทางครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯยันปริมณฑล

            ภาวะจำยอมผสมความจำเป็น ยังคงผลักดันให้ผู้ใช้บริการยังต้องใช้ต่อไปทั้งที่รถเมล์หลายสายยังล้าสมัย บางคนถึงขั้นมองว่าการรอและขึ้นรถเมล์ไทย คือ การฝึกตน คือการปลงอนิจจังเลยทีเดียว

  • Line หมายเลข 558

            เกือบทุกเช้าพนักงานบริษัทด้านสื่อสารมวลชนอย่าง จักรพันธ์ สังข์ขาว ต้องใช้บริการรถเมล์สาย 558 จากสุขสวัสดิ์มาที่ทำงานย่านบางนา และย้อนกลับทางเดิมในเวลาเย็นหรือหัวค่ำ แม้จะเป็นสายรถเมล์ที่นั่งยาวๆ ขึ้นหน้าบ้านลงหน้าที่ทำงาน แต่ใช่ว่าชีวิตจะดี๊ดีอย่างเดียว ตลอดเวลาของสถานะผู้โดยสารเขาต้องเสียเวลารอรถเมล์อย่างกับรอลุ้นหวย เพราะสาย 558 ไม่น้อยหน้าใครในฐานะรถเมล์สายช้า ปัญหาเยอะ

            “เวลารอขึ้นรถเมล์สายนี้ นานๆ มาที นานมากจนเราต้องไปขึ้นสายอื่นแล้วไปต่อรถเอา และจำนวนรถมันน้อย พังบ้างอะไรบ้าง จนบางทีก็เลิกขึ้นไปพักใหญ่ เปลี่ยนไปสายอื่นแล้วต่อรถเอา” มั่นใจได้ว่าต้องมีคนอีกไม่น้อยรู้สึกคล้ายกับที่ จักรพันธ์ ระบายให้ฟัง แม้จะไม่ได้ร่วมชะตากรรมบนรถเมล์สายนี้ แต่เป็นสายอื่นๆ

            ธนิษฐา เสรีนิราช เป็นอีกคนที่ใช้บริการรถเมล์สายนี้ แม้จะขึ้นคนละป้าย แต่ได้รับทุกข์ร้อนเหมือนกัน จนกระทั่งเธอและเพื่อน ลองตั้งกลุ่มในแอพลิเคชัน Line สำหรับผู้โดยสารรถเมล์สาย 558 เมื่อประมาณห้าปีที่แล้ว เพราะช่วงนั้นนับว่าเป็นกลียุคของสายนี้ ทั้งรอนาน พอรถมาก็ใช่ว่าจะได้ขึ้นเพราะรถแน่นเป็นปลากระป๋อง

            แรกเริ่มมีสมาชิกเพียง 5-6 คน หน้าที่ของกลุ่มเล็กๆ นี้ คือ คอยแจ้งว่าใครขึ้นรถแล้ว จากจุดไหน คนที่อยู่ถัดมาจะเดาได้ว่ารถจะมาถึงตอนไหน เป็นธรรมดาที่ของดีย่อมมีคนบอกต่อ จากวันนั้นจนวันนี้มีสมาชิกมากถึง 212 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตราบที่รถสายนี้ยังแล่น

            “ตึ๊งดึ่ง” เสียงเตือนข้อความไลน์กลุ่มดังขึ้น และดังอีกอย่างต่อเนื่อง จนต้องคว้ามาดูเวลาอย่างงัวเงีย

            “ตีห้า!” แม้ว่ารถสายนี้จะเริ่มแล่นตอนตีห้าครึ่ง แต่เริ่มมีคนส่งข่าวกันในกลุ่มตั้งแต่ตีห้า เพราะเริ่มเตรียมขึ้นรถกันแล้วที่ต้นทาง ในวันธรรมดาเสียงข้อความเตือนจะดังอยู่ตลอดทั้งวัน ซึ่งความคึกคักในกลุ่มไม่ได้เป็นข้อความลูกโซ่หรือภาพแนวสวัสดีวันนั้นวันนี้ หรือข่าวมั่วข่าวเม้าท์ เกือบทุกข้อความคือข้อมูลการเดินรถจากผู้ดูแลกลุ่ม และสมาชิก ทั้งที่เป็นผู้โดยสารธรรมดาและเจ้าหน้าที่ขสมก.แฝงตัวมา

            “สมาชิกในกลุ่มมีคนที่ขึ้นตั้งแต่เคหะพระรามสองจนถึงสุวรรณภูมิ ใครขึ้นตรงไหนก็จะแจ้งเพื่อนว่าขึ้นรถแล้วนะ เพื่อนๆ จะได้รู้ตามทางมาเลยว่าใครขึ้นป้ายไหน เรียกว่ามีเกือบทุกป้าย ยิ่งป้ายใหญ่ก็มีสมาชิกรอหลายคนหน่อย”

            ส่วนการเข้ามาเป็นสมาชิก ผู้ร่วมก่อตั้งและดูแลกลุ่มไลน์รถเมล์สาย 558 คนนี้เล่าว่าแค่รอขึ้นรถป้ายเดียวกัน เคยเห็นหน้ากัน หรือเห็นหน้าเขาเป็นทุกข์เป็นร้อนว่าเมื่อไรรถจะมา สมาชิกกลุ่มก็จะไปบอกว่ารถจะมาตอนไหน ได้ข้อมูลมาแล้วก็แบ่งปันกัน ถ้าใครสนใจก็ชวนเข้ากลุ่มกัน

            อย่าง จักรพันธ์ เองก็เป็นสมาชิกใหม่ไม่นาน ที่พี่ที่ทำงานซึ่งขึ้นรถสายนี้เหมือนกันชักชวนร่วมหอลงไลน์ เท่านั้นแหละ...ชีวิตเปลี่ยน

            “กลายเป็นว่าเราไม่ต้องออกมารอรถนานๆ แล้ว เรามาก็ได้ขึ้นรถเลย คือพอก่อนออกจากบ้านเราเช็คในกลุ่มไลน์ จะมีพวกพี่ๆ สมาชิกที่บอกว่ารถเมล์เบอร์นี้ออกจากอู่แล้ว หรือรถเมล์เบอร์นี้ถึงจุดนี้แล้ว คนที่ขึ้นรถก่อนเราจะรายงานแบบเรียลไทม์เลย ถึงขั้นรายงานว่ารถคันที่ตามหลังมาคือเบอร์นี้นะ ถึงประมาณไหนแล้ว”

            ซึ่งข้อมูลนอกเหนือจากที่สมาชิกรายงานกันเอง มีกระเป๋ารถเมล์ที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มคอยรายงานแบบเอ็กซ์คลูซีฟ เช่น เวลานี้รถคันไหนกำลังเตรียมออกจากอู่บ้าง

            “ชีวิตผมดีขึ้นเยอะเลย” เขาบอก

            ส่วนข้อมูลอีกส่วนผู้ดูแลกลุ่มอย่างธนิษฐาและเพื่อนพ้อง เป็นคนคอยหาข้อมูล หากว่างก็จะโทรหานายท่าโดยตรง เมื่อเช็คข้อมูลตรงกันค่อยแจ้งสมาชิก ข้อดีอีกอย่างจากการรวมกลุ่มแบบนี้คือ ‘มีพลังต่อรอง’ เนื่องจากรถเมล์ไทย (ส่วนใหญ่) เก่าไม่แพ้ชาติใดในโลก รวมทั้งการบริการที่ลุ่มๆ ดอนๆ เมื่อกลุ่มร้องเรียนไป ก็มีการแก้ไข แม้บางครั้งจะแก้แล้วกลับมาเป็นเหมือนเดิมก็ตามที

  • Mayday ยกระดับรถเมล์ไทย

            อีกสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์คยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊ค รถเมล์ไทยก็ไปสะกิดให้เกิดความเคลื่อนไหวในนั้น เช่น การเกิดขึ้นของเพจ Mayday (https://www.facebook.com/maydaySATARANA) ซึ่ง วริทธิ์ธร สุขสบาย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Mayday เล่าว่าเกิดจากเมื่อปีก่อนหลังจากเหตุการณ์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สวรรคต มีผู้คนหลั่งไหลไปที่ท้องสนามหลวงจำนวนมหาศาล ขณะที่เขานั่งรถไฟฟ้า ต่อรถเมล์ไปทำงานที่เกาะรัตนโกสินทร์ วันนั้นหลายคนก็ไปเกาะรัตนโกสินทร์ เขาได้เห็นพนักงาน ผู้บริหาร ของบริษัทที่เขาเคยฝึกงาน ใช้บริการรถเมล์ ทั้งที่จริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้แทบจะไม่ขึ้นรถเมล์ เขาคิดว่าถ้าคนได้รู้ว่ารถเมล์มีศักยภาพอย่างไรบ้างคงจะดี จึงร่วมกับเพื่อนๆ ซึ่งทำงานด้านพัฒนาเมืองอยู่แล้ว ก่อกำเนิดเพจ Mayday เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับใช้ขนส่งสาธารณะได้สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น

            นอกจากเพจนี้ทำหน้าที่บอกข้อมูลเป็นประโยชน์ อีกด้านหนึ่งคือเงาสะท้อนปัญหาของรถเมล์ไทย โดยเฉพาะเรื่องการประชาสัมพันธ์และการออกแบบ

            “อย่างเรื่องรถทางด่วน ก็ชัดมากว่าคนไม่รู้ว่ามี ทั้งที่มีมานานมากๆ รถเมล์ทางด่วนบางสายแล่นมาตั้งแต่สะพานพระรามเก้าเพิ่งเปิด ผ่านมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว หรืออย่างเรื่องป้ายบ้านเราก็มองข้ามการออกแบบ ไม่มีหน่วยงานที่ให้คุณค่าหรือรับผิดชอบตรงนี้เต็มๆ”

            ว่ากันตามตรง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องคอยมาทำกันเอง แต่ในอีกมุมหนึ่ง ตราบใดที่ยังดำรงชีวิตในการดูแลของภาครัฐที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังและเข้าใจ ย่อมต้องปรับทัศนคติใหม่ว่า “ทำไปเถอะ”

            “หากมองในมุมประชาชนคนเสียภาษี นี่ไม่ใช่หน้าที่ แต่ในความเป็นจริง ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพราะถ้ามัวแต่เฝ้าฝันว่าเขาต้องทำแบบนี้สิ ทำไมไม่ทำ ภาครัฐเขาก็ไม่ทำอยู่ดี เพราะปัญหาแบบนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดหรอก ผมเห็นพ่อผมบ่นเรื่องรถเมล์มาตั้งแต่ผมเด็กๆ แล้ว จนถึงวันนี้ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะเรามัวแต่เฝ้าฝันว่ารัฐในอุดมคติเมื่อไรจะมาถึงสักที ในขณะเดียวกันรัฐก็รู้สึกว่าฉันทำแค่นี้ฉันก็อยู่ได้ ต่างคนต่างคิดคนละทาง”

            จากเพจให้ข้อมูลจึงเริ่มต่อยอดเป็นโครงการพัฒนาด้านขนส่งสาธารณะ เช่น โครงการป้ายรถเมล์ ซึ่งวริทธิ์ธรยืนยันว่าพวกเขาไม่ใช่คนคิดคนแรกๆ แต่อะไรก็ตามที่เคยติดขัดก็เริ่มคล่องตัว คือ ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ (จริงๆ) ซึ่งป้ายรถเมล์เดิมแสนคุ้นตาคือป้ายรถเมล์สีฟ้าๆ ป้ายสีขาวบอกสายรถเมล์ มีเสาโครงโค้งๆ บางที่เหลือแต่โครง หรือป้ายสีขาวก็บอกสายรถเมล์บ้างไม่บอกบ้าง บอกผิดบ้างถูกบ้าง เพื่อไม่ต้องทำใหม่ทั้งหมดก็ใช้โครงเดิม เพิ่มเติมตรงป้ายขาวที่เคยเป็นพื้นที่โฆษณา มาออกแบบให้ระบุว่าคุณอยู่จุดไหนของถนนสายนั้น รถเมล์สายใดผ่านบ้างและไปที่ไหนได้บ้าง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงน้อยแต่ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น (ตอนนี้มีทดลองติดตั้งที่ถนนราชดำเนิน บริเวณหน้ากองสลากฯเก่าและตรงข้ามกองสลากฯเก่า)

            มีคำกล่าวว่า “อยู่กับปัจจุบันขณะ” แต่สำหรับเรื่องการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะคงต้องมองไปถึงอนาคต แม้ไม่ยาวไกล แต่ในระยะปีสองปีอันใกล้นี้ ผู้ร่วมก่อตั้ง Mayday คนนี้ บอกว่าพอลงท้ายด้วยคำว่า ‘สาธารณะ’ ไม่มีอะไรดีไปกว่าผู้ให้บริการจะฟังผู้ใช้บริการ

            “นี่เป็นสิ่งดีมาก แม้รัฐจะไม่เคยรู้สึกเลยว่าต้องทำ”

            เขายกตัวอย่างเส้นทางรถเมล์ 269 สาย ที่รัฐตั้งใจทำ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จแต่รัฐก็ยังคงทำต่อไป เพราะเขาเชื่อว่ามันดี โดยหลงลืมไปว่าที่เชื่อว่าดีเหลือเกินในเชิงทฤษฎี มันดีในเชิงปฏิบัติหรือเปล่า ประชาชนชอบหรือไม่ หากสิ่งนี้เกิดจากเอกชนเขาก็แค่ไม่ได้รับความนิยมและเจ๊งไป ทว่าพอเป็นระบบขนส่งสาธารณะ พอไม่ดีจะเกิดผลกระทบหลายอย่าง ยิ่งเป็นรถเมล์ที่มีปัญหาอยู่แล้ว ที่คนไม่ค่อยอยากใช้อยู่แล้ว และมีความพยายามให้คนกลับมาใช้เพื่อแก้ปัญหารถติด ซึ่งปัจจุบันการแก้ปัญหารถติดมักจะลงเอยที่การสร้างถนนใหม่ สร้างสะพานใหม่ โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม โดยหลงลืมไปว่าถ้าระบบขนส่งสาธารณะพื้นฐานๆ ดีขึ้นนั้นจะช่วยแก้ปัญหา ไม่ใช่เอะอะก็จะสร้างรถไฟฟ้าไปเรื่อยๆ ทั้งที่สุขุมวิทก็ยังรถติด สีลมก็ยังรถติด

            ด้านผู้ใช้บริการรถเมล์เป็นประจำอย่างจักรพันธ์สะท้อนว่า “ผมว่าคนละแนวทางเลย ที่รัฐกำลังทำผมว่ามันหลงทาง แต่ที่ผู้ใช้บริการทำกันเองผมว่ามันตอบโจทย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่างที่เขาพยายามทำแล้วล้มเหลวไป อย่างเปลี่ยนสายรถเมล์ ต้องเสียเวลาจำกันใหม่ แต่นี่คือต่อเนื่องจากที่เราใช้ปัจจุบัน

            ก่อนหน้านี้มีโครงการติด GPS แต่ไม่เป็นรูปเป็นร่างอะไร ไอ้การตั้งกลุ่มไลน์เนี่ยผมว่าเป็น 4.0 มากกว่าอีกนะ ถ้าทุกสายทำ และคนใช้บริการเข้าไปอยู่ในกลุ่มเยอะๆ ผมว่ามันดีนะ”

          ถ้า 4.0 เป็นนิยามของการพัฒนาที่นำเทคโนโลยีมาใช้ การพัฒนารถเมล์ไทยให้ต่อท้ายด้วยเลขชุดนี้ คงไม่จำเป็นต้องแต่งหน้าทาปากด้วยสีรถใหม่ หรือรันเลขรถพร้อมรหัสจำยาก แค่ฟังเสียงสะท้อนของผู้ใช้ เรียนรู้การหยิบเทคโนโลยีง่ายๆ มาประยุกต์ใช้ การใช้บริการรถเมล์คงไม่ต้องรอลุ้นเหมือนเล่นหวย ที่ไม่รู้ว่ารถจะมาตอนไหน และถึงจะมาแล้วจะแน่นเอียดจนขึ้นไม่ได้หรือเปล่า