มือประสานสิบทิศ โขนพระราชทาน

มือประสานสิบทิศ โขนพระราชทาน

เขาคนนี้เป็นผู้หลอมรวมคนทำงานศิลป์เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างสรรค์โขนให้มีความวิจิตรงดงาม น่าประทับใจ

............................

ถ้าคนรุ่นใหม่ไปดูโขน ส่วนใหญ่จะปฎิเสธ แต่ถ้าใครได้ชมโขนพระราชทาน ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถก็จะประทับใจ เพราะเครื่องแต่งกาย ไม่ว่าพระราม พระลักษณ์ ทศกัณฐ์ หนุมาน ฯลฯ วิจิตรงดงามประหนึ่งภาพวาด และองค์ประกอบศิลป์ ไม่แพ้ศิลปะการแสดงร่วมสมัยระดับโลก

นี่ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลย เพราะคนที่ได้ชมโขนพระราชทาน ต่างรู้ดี

โขนพระราชทานจะเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงมหรสพสมโภช พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่9 ในวันที่ 26 ตุลาคม2560

ถ้าอย่างนั้นมารู้จักกับ ครูไก่-ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการแสดงโขนพระราชทาน ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม

อาจารย์วิทยาลัยนาฎศิลปคนนี้ เป็นทั้งผู้ริเริ่มและผลักดันให้เกิดโขนที่มีความวิจิตรงดงาม โดยทำงานร่วมกับคนทำงานศิลป์หลากหลายวงการ

 

โขนกลับมาได้รับความนิยมได้อย่างไร

โขนมีพัฒนาการมาหลายยุค สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นยุคเฟื่องฟู สมัยรัชกาลที่7 โขน ละคร ของหลวงที่ได้รับการอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ถูกย้ายมาขึ้นกับรัฐบาลคณะราษฎร พอปี2476ตั้งกรมศิลปากร และฟื้นฟูการแสดงโขนขึ้นใหม่ หลังสงครามโลกครั้งที่2 จนถึงสมัยอ.ธนิต อยู่โพธิ์ มีการเปิดสอนโขนอีกครั้ง เอาครูโขนจากในวังมาสอน โขนก็บูมขึ้นในปี2480-2500 ประมาณยี่สิบปี และมาบูมอีกครั้งยุคอาจารย์เสรี หวังในธรรม ช่วงปี2525-2535ที่เรียกว่า โขนเงินล้าน แต่หลังจาก ปี2540 การแสดงโขนค่อยๆ ลดความนิยม

เราก็มาคิดว่า จะทำยังไงให้โขนเฟื่องฟูเหมือนศิลปะการแสดงสากล ก็ปรึกษากับเพื่อนๆ หลายคน อาจารย์พีรมณฑ์ ชมธวัช ที่สนใจเรื่องเครื่องแต่งกายโขนละครโบราณในราชสำนักต่อมาได้รู้จักอาจารย์สมิทธิ ประกอบกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เกี่ยวกับสถานการณ์การแสดง ซึ่งมีคนชมน้อย และหานักแสดงได้ยาก

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งว่า “ถ้าไม่มีใครดู แม่จะดูเอง” และนำไปแสดงในโอกาสเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปที่ต่างๆ

รวมคนทำงานศิลป์ทุกสาขามาทำงานโขนได้ยังไง

หลายคนมีความฝันแบบผม คนเก่งๆ มาอยู่รวมกัน บางครั้งก็ต้องทะเลาะกันบ้าง แต่มีศูนย์รวมจิตใจ เราทำถวายเจ้านาย ต้องทำให้ดีที่สุด ผมจึงเป็นเสมือนมือประสานสิบทิศโขนพระราชทาน เพราะมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพลงทุนมหาศาล งานวัฒนธรรมไม่มีมูลค่าเป็นตัวเลข แต่มีผลกำไรเป็นคุณค่า เราต้องยอมรับว่า ศิลปะวัฒนธรรมคือการสร้างคน และด้วยพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดให้เรียกว่า โขนพระราชทาน เพราะพระองค์พระราชทานให้ประชาชน

ตอนนั้นเชิญอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าโบราณ ,อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและควบคุมฉากมาช่วยเป็นคณะทำงานด้วย ส่วนผมและอาจารย์พีรมณฑ์ เชี่ยวชาญด้านโขนก็ช่วยกันดูแล

 ตอนแรกตั้งใจว่า ทำเครื่องแต่งกายโขน เพื่อใช้ในงานมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ และช่วงปี2549 เป็นช่วงที่ในหลวง รัชกาลที่9 ครองราชย์ครบ60ปี เราก็คิดว่า ทำชุดโขนไว้รอ ซึ่งมีพระราชอาคันตุกะ มีการรับรองที่พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดวรรณคดี อิเหนาขุนช้าง ขุนแผน เครื่องแต่งกายสตรีไทย และรามเกียรติ์ โขนก็เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงชุดพระราชทานด้วย

แล้วเปลี่ยนวิธีการนำเสนออย่างไร?

ปีพ.ศ.2548-2549 เราก็ปรึกษาอาจารย์สมิทธิว่า ทดลองเล่นโขนตอนพรหมาศ อยากให้การแสดงแปลกใหม่ ตอนนั้นยังไม่เรียกว่า โขนพระราชทาน เล่นเป็นคอนเสิร์ตกับดนตรีสากลประกอบ เพราะตอนพรหมาศ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงโน้ตไทยเป็นโน้ตสากลให้วงทหารบกเล่นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่6 ตอนนั้นเราเชิญอาจารย์สุดสาคร ชายเสม มาทำฉาก บุรณี รัชไชยบุญ มาช่วยออกแบบแสง เอาเทคนิคสมัยใหม่เข้ามา อยากให้การแสดงมีมิติ ปรากฎว่า คนดูไม่เต็มโรง

จุดบกพร่องอยู่ตรงไหน

ตอนนั้นชุดโขนยังไม่สมบูรณ์แบบ ปักชุดโขนไม่ทัน ปี2550 ต้องเกณฑ์ทหารมาดู มีคนวิจารณ์เยอะ ชุดไม่สวยบ้าง เราก็มาคุยกันว่าจะปรับปรุงโขนอีกไหม จนปี2551 ทำชุดโขนไว้เป็นร้อยๆ ชุด จองศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยไว้ เพื่อจัดการแสดง ก็เลยกราบเรียนท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพว่า โครงการโขนจะทำต่อหรือยกเลิก จนปี2552ก็ถกเถียงกันอีกว่า จะเล่นเป็นคอนเสิร์ตดนตรีสากลแบบเดิม หรือมีวงปี่พาทย์ประกอบ ก็เปิดแสดงทั้งสองแบบ ตอนนั้นเสื้อผ้าโขน ฉากพัฒนาใหม่แล้ว ปรากฎว่าคนดูเต็ม

เราศึกษาเรื่องเครื่องแต่งกายโบราณ ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ เหมือนทำวิจัย แล้วเชิญอาจารย์วีรธรรมมาช่วย เพราะท่านฟื้นฟูผ้ายกโบราณ เราก็คิดกันว่า จะใช้เทคนิคผสมผสานทั้งโบราณและสมัยใหม่ ปักสะดึง กึ่งไหมแบบโบราณ กับเทคนิคสมัยรัชกาลที่6ทำให้วิจิตรกว่าเดิม เพราะอาจารย์วีรธรรมชำนาญเรื่องผ้า เรื่องลายไทย และกระบวนการปัก ยิ่งวิจิตรไปอีก มองใกล้ๆเห็นความละเอียด มองไกลก็สวย ยิ่งทำงานกับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เราทำงานหยาบไม่ได้ อีกอย่างที่เราทำคือ ทำนิทรรศการทุกครั้งที่มีโขนพระราชทาน ไม่ใช่แค่การแสดง

นอกจากเครื่องแต่งกายโขนที่มีความวิจิตรงดงาม ยังปรับปรุงท่ารำด้วย ?

ปรับท่ารำโบราณให้มีความทันสมัย เราจับจุดว่า ช่วงสิบปีนี้คนไทยโหยหาอดีต แต่เนื้อเรื่องต้องกระชับ ใช้ฉากหมุน เหาะเหินใช้รอก นำเทคนิคแบบฝรั่งมาปรับใช้ อย่างผมไปอังกฤษ ซื้อตั๋วห้าพันบาท เพื่อดูละครเพลงเดอะแฟนธอม ออฟ ดิโอเปร่า มีฉากหนึ่งแฟนธอมหายตัว เราก็เอามาใช้ตอนศึกไมยราพ หรือฉากหนุมานแปลงกายเป็นใยบัวและตอนนางสีดาลอยตัว ก็ต้องใช้เทคนิคใหม่

โขนพระราชทานจะร่วมแสดงในงานมหรสพ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่9 ครั้งนี้ด้วยใช่ไหม?

คนที่เล่นโขนจะมาแสดงกันทั้งหมด จะแสดงสองชั่วโมง ซึ่งเป็นการแสดงโขนกลางแจ้ง เราก็เลยต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ฉายภาพ LED เทคนิคจะสู้ในโรงละครไม่ได้ ส่วนการแสดงเหมือนเดิม และศิลปินหลายคนก็อยากร่วมแสดง ผมก็แสดงเป็นฤาษีเชิญพระรามมาอวตาร

ทำไมอาจารย์มีความผูกพันกับโขน

เราเป็นเด็กบ้านนอก เคยเห็นในทีวี แล้วรู้สึกว่างามเหลือเกิน รูปแบบโขนเป็นแฟนตาซี ก็เลยตัดสินใจมาเรียนโขน ตอนเรียนวิทยาลัยนาฎศิลป์ กาฬสินธุ์ มีคนฝึกเป็นตัว”พระ”สองคน ในยุคนั้นคนเรียนโขนน้อยมาก

ตอนที่เรียนในต่างจังหวัด ก็ไม่ค่อยได้เล่นโขน เล่นแต่โปงลาง พอมาอยู่กรุงเทพฯ ว่างเมื่อไหร่ก็ชอบไปดูศิลปินเล่นโขน เราเป็นนักเรียนนาฎศิลป์ก็ดูฟรีได้ดูทั้งโขนหน้าไฟ เล่นก่อนเผาศพ โขนโรงที่จะแสดงในงานสมโภชงานศพต่างๆ เล่นตั้งแต่สองทุ่มถึงเที่ยงคืน

ตอนเราเป็นเด็กก็ไปเล่นโขนหน้าไฟ โขนโรง เล่นเป็นม้าลากรถ คนยกกลด พระลักษณ์ พระราม ก็เล่นมาเยอะ ส่วนใหญ่เราจะเล่นเป็นตัวพระ ถ้าขาดคน เราก็เล่นได้ทุกบท เล่นเป็นลิงก็เล่นได้ เมื่อก่อนมีโขนชักรอก ตอนนั้นไม่มีใครกล้าเสี่ยง ผมก็เล่นเป็นเสนายักษ์เหาะชักรอก เป็นประสบการณ์สะสม เพราะได้ดู ได้เห็น ได้เรียนรู้ เหมือนฝังในชิพ

อยู่บ้านครูบุญรอด เราต้องจัดเครื่องโขนเป็น เวลามีโขนโรง เราก็เหมือนเด็กในบ้าน ต้องไปช่วย ขึ้นโรงโขน ผูกฉากผูกจอ ก่อนขึ้นโรงโขน ต้องหัดเช็คเครื่อง ต้องจัดชุดให้ได้ว่ามีพระราม พระลักษณ์ หนุมานกี่ตัว เราต้องจัดห่อและแพ็ค ถูกปลูกฝังให้ทำเป็นทุกอย่าง แม้กระทั่งปักชุด เราก็ทำได้ หรือเรื่องหัวโขน เขียนสี การแสดง ฉาก เราก็ทำเป็นหมด

นอกจากเรื่องโขนแล้ว อาจารย์ยังสนใจงานช่างโบราณด้วย?

เราชอบศิลปะการแสดงและงานช่างอยู่แล้ว แต่บ้านนอกไม่มีงานช่างที่เป็นงานปราณีตศิลป์ ไม่ว่าทำหัวโขน หุ่นกระบอก เราชอบเรื่องพวกนี้ เราก็แสวงหา เคยไปเรียนที่บ้านครูบุญรอด ที่นั่นมีเครื่องโขนให้เช่า ทำหัวโขน หุ่นกระบอก เราก็ได้เรียนรู้กับครู และไปหาความรู้จากครูตู่วรวินัย หิรัญมาศ และไปเรียนหุ่นกระบอกกับพี่เล็ก กฤษดากร สุดประเสริฐ ลูกศิษย์อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต

ทำไมอยากผลักดันให้โขนเป็นศิลปะการแสดงระดับนานาชาติ? 

ผมเป็นคนชอบเรียนรู้ ดูการแสดง อย่างงานมหกรรมศิลปะและการแสดงนานาชาติ ช่วงเดือนนี้ของทุกปี ผมก็ไปดูบัลเล่ต์ โอเปร่า ศิลปะการแสดงร่วมสมัยต่างๆ ชมอยู่หลายปี เราก็คิดว่า บัลเล่ต์ดังๆ จากรัสเซียมาแสดงในไทย ญี่ปุ่นเอาคาบุกิมาแสดง ขนพื้นเวที ฉากใหญ่โตมาเอง แต่ไม่มีการแสดงโขนแบบไทยๆ ขึ้นไปเล่นบนเวที ตอนนั้นเรารู้จักคนที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเราก็ขอไปดูเบื้องหลังฉากคาบุกิ  เราก็คิดว่า ถ้าทำโขน แล้วสามารถขนฉากไปแสดงที่ไหนก็ได้ ก็น่าจะดี แต่ระบบการแสดงแบบไทยๆ ยังไม่ได้มาตรฐาน

ผมอยากให้โขนเป็นศิลปะที่สามารถเรียนและเผยแพร่ได้ทั่วโลกเหมือนบัลเล่ต์ เวลาสอบบัลเล่ต์ ต้องเชิญครูจากลอนดอนมาสอบ แล้วทำไมโขนไม่ทำแบบนั้น หรืองิ้วปักกิ่งไปได้ทั่วโลก ฝรั่งในยุโรป อเมริกา เรียนงิ้ว แล้วมาแข่งขันที่จีน

อย่างอินโดนีเซียก็ส่งศิลปะวัฒนธรรมออกนอกประเทศ พวกฝรั่งรู้จักวงกาเมลันมากกว่าวงปี่พาทย์ไทย และอินโดนีเซียเริ่มให้ทุนนาฎศิลป์นอาเซียนไปเรียนอินโด ไทยก็เอาท่ารำอินโดไปทำอิเหนา หรือการเต้นของอินเดีย การแสดงร่วมสมัยที่ดังไปทั่วโลก

ไม่ได้เน้นแค่การอนุรักษ์ แต่ทำให้มีความร่วมสมัยด้วย ?

มุมหนึ่งผมก็อนุรักษ์ ผมอยู่บ้านเรือนไทยแบบวิถีโบราณ แต่สิ่งไหนจะสื่อกับคนสมัยใหม่ เราก็ต้องใช้เทคโนโลยี อย่างเราอยู่บ้านเรือนไทย คนส่วนใหญ่อยู่ไม่สบายหรอก ต้องปรับให้เข้ากับวิถีชีวิต

อีกอย่างเราเป็นนักค้นคว้า ไม่ปิดกั้นตัวเอง โลกเปลี่ยนไปแล้ว ผมเองก็พยายามสนับสนุนให้นักศึกษาได้ดูการแสดงนานาชาติเยอะๆ  ยิ่งดูมาก ยิ่งเปิดโลกทัศน์

ณ วันนี้ โขนที่เราทำมาถึงจุดสุดยอดแล้ว และสิ่งที่ผมอยากทำต่อไป คือ การสร้างคนมาแทนตรงนี้