'ไอฟลาย'ชูโมเดลสิงคโปร์เจาะตลาดไทย

'ไอฟลาย'ชูโมเดลสิงคโปร์เจาะตลาดไทย

แม้ว่า "สิงคโปร์" จะมีขนาดเล็กประเทศเล็กใกล้เคียงกับภูเก็ต แต่สิ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวมีความโดดเด่นคือการลงทุนแหล่งท่องเที่ยวประเภทฝีมือมนุษย์ (แมนเมด) ที่มีเอกลักษณ์ เน้นประสบการณ์ที่ไม่มีในประเทศในภูมิภาคเดียวกัน

โดยหนึ่งในธุรกิจที่เป็นไฮไลต์ให้นักท่องเที่ยวมาเยือนคือ "ไอฟลาย สิงคโปร์" ที่เป็นเครื่องจำลองประสบการณ์โดดร่มเหมือนจริง

ลอว์เรนซ์ โกห์ ยี่ เล่อ กรรมการผู้จัดการบริษัท สกายเวนเจอร์ วีดับบลิวที สิงคโปร์ จำกัดผู้ให้บริการไอฟลายสิงคโปร์กล่าวว่า หลังจากที่เปิดให้บริการที่สิงคโปร์เป็นที่แรกในเอเชียมีการตอบรับที่ดีจากผู้เล่นรวมกว่า 2.5 แสนคน เนื่องจากไม่เคยมีผู้ประกอบการรายใดนำมาปรับแนวคิดเพื่อรับการท่องเที่ยวมาก่อนจึงได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสิงคโปร์ เช่น ตลาดจีน, อินเดีย เป็นต้น

สาเหตุที่ตลาดท่องเที่ยวตอบรับไอฟลายได้ดีต่อเนื่องเพราะตั้งแต่เมื่อ 40-50 ปีที่ผ่านมา กีฬากระโดดร่มจากเครื่องบินเริ่มได้รับความสนใจเล่นแพร่หลาย และตัวเองก็มีประสบการณ์โดยตรงจากการโดดร่มจากเครื่องบินไม่ต่ำกว่า 500 ครั้ง แต่สิ่งที่เห็นในปี 2551 คือ อุโมงค์ลม (Wind Tunnel) ที่ให้บรรยากาศจำลองเหมือนจริง มีอยู่แค่ 2-3 แห่งเท่านั้นที่เปิดให้บริการ อีกทั้งยังจำกัดเฉพาะให้คนที่จะฝึกซ้อมก่อนกระโดดร่มจริงหรือให้บริการสำหรับหน่วยนาวิกโยธินที่ต้องการฝึกหัดเท่านั้น ยังไม่มีใครปรับแนวคิดมาทำตลาดท่องเที่ยวอย่างจริงจัง จึงเห็นว่าเป็นโอกาสให้เริ่มพัฒนาเพื่อรับตลาดนี้โดยเฉพาะเป็นครั้งแรก 

ทั้งนี้พบว่างผลตอบรับที่ผ่านมาพบว่าผู้เล่นกว่า 40% มีอายุในกลุ่ม 7-16 ปี สะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ เนื่องจากกลุ่มอายุดังกล่าว ยังไม่สามารถเข้าร่วมกีฬากระโดดร่มในสภาพบรรยากาศจริงได้ จากข้อกำหนดที่เข้มงวดและอนุญาตให้คนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น

เมื่อเห็นว่าการเปิดตลาดที่สิงคโปร์ได้รับการตอบรับที่ดี บริษัทจึงศึกษาโอกาสในการเข้ามาขยายกิจการให้บริการเครื่องเล่นจำลองประสบการณ์โดดร่มเหมือนจริงในประเทศไทย โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทไทยรายใหญ่เพื่อเป็นพันธมิตรร่วมกัน

รูปแบบที่น่าสนใจคือการเปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้า เนื่องจากมีการจราจรช่วยส่งเสริมการเข้าถึงบริการและช่วยสร้างการรับรู้ที่ดีในระดับหนึ่งมากกว่าการเปิดเป็นอาคารเดี่ยวเหมือนกับการเปิดให้บริการบริเวณเซ็นโตซ่าที่สิงคโปร์

โดยมองว่าการขยายกิจการในไทยจะ "ได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนการให้บริการซึ่งต่ำกว่าสิงคโปร์ หรือเท่ากับ ใน 3 ทั้งในด้านราคาค่าเช่าที่ดิน,ต้นทุนแรงงาน จึงคาดว่าจะทำให้ค่าบริการสามารถปรับลดจากราคาเฉลี่ยของไอฟลายสิงคโปร์จาก 120 ดอลลาร์สิงคโปร์/ครั้ง (ราว 3,000 บาท) เหลือ 60-80 ดอลลาร์สิงคโปร์ (1,400-1,900 บาท)

ขณะที่ งบลงทุนเฉลี่ยคาดว่าอยู่ที่ 10-15 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (245-367 ล้านบาท) ขึ้นอยู่กับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของอุโมงค์ลมซึ่งไอฟลายสิงคโปร์มีขนาด 16.5 ฟุต (5 เมตร) และเคยครองสถิติอุโมงค์ขนาดใหญ่ที่สุด แต่ทั้งนี้อุโมงค์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 14 ฟุต (4.2เมตร) ก็ถือว่าเพียงพอต่อการให้บริการ 

สำหรับต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานนั้นส่วนใหญ่คือค่าไฟฟ้าในการขับเคลื่อนระดับ คิดเป็น 25-30% ของต้นทุนทั้งหมด

ส่วนการสนใจเข้ามาลงทุนเนื่องจากเห็นศักยภาพตลาดไทยที่มีฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยสูง มีโอกาสเจาะตลาดที่หลากหลาย ทั้ง กลุ่มนักเรียน กลุ่มองค์กรที่สามารถผนวกกิจกรรมนี้เข้ากับการจัดประชุมสัมมนาได้ ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับที่ริเริ่มมาแล้วในสิงคโปร์และได้รับความนิยมในฐานะโปรแกรมที่ช่วยให้การประชุมบรรลุความสำเร็จเพราะเมื่อเริ่มต้นด้วยการจัดให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีประสบการณ์โดดร่มจำลองพบว่า ทำให้คนเริ่มมีความตื่นตัวกระปรี้กระเปร่า และละลายพฤติกรรมทำให้มีความพร้อมก่อนเข้าร่วมประชุมในช่วงต่อไปได้ดีมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ยังวางตำแหน่งตัวเองให้พร้อมเป็นสถานที่ฝึกให้กับหน่วยนาวิกโยธินต่างๆ เช่นกัน โดยที่ผ่านมาไอฟลายสิงคโปร์ยังมีนักท่องเที่ยวคนไทยมาใช้บริการราว 2% เท่านั้น ดังนั้นจึงมีโอกาสขยายฐานตลาดอีกมากหากสามารถนำไปเปิดบริการถึงในไทย

“กีฬากระโดดร่มเป็นกิจกรรมที่เป็นนิชมาร์เก็ตและมักจะถูกมองว่าอันตราย ดังนั้นเมื่อมีกิจกรรมที่สามารถจำลองประสบการณ์ใกล้เคียงกันแบบปลอดภัยขึ้นมาได้โดยไม่จำกัดเรื่องอายุโดยมีอายุ 7 ปี ขึ้นไปก็สามารถเข้าร่วมได้ และที่ผ่านมายังมีนักท่องเที่ยวที่อายุ 95 ปีใช้บริการมาแล้วจึงมีผลตอบรับค่อนข้างดีทำให้บริษัทเริ่มศึกษาแนวทางขยายการลงทุนในรูปแบบร่วมทุนกับท้องถิ่นวางจุดหมายไว้ที่ไทย,จีน,มาเก๊าและเวียดนาม”

ลอว์เรนซ์ กล่าวว่า กีฬาประเภทนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ในไทยมีการให้บริการกระโดดร่มจริงจากเครื่องบินเท่านั้น ยังไม่มีการสร้างอุโมงค์ลมเพื่อรับการท่องเที่ยวและการสร้างเพื่อตอบรับการท่องเที่ยวยังกระจุกตัวอยู่ที่ภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเป็นหลัก อีกทั้งลูกค้าของประเทศเหล่านั้นก็มักจะเป็นนักกระโดดร่มมืออาชีพที่มีสัดส่วน 50% เท่ากันกับกลุ่มที่ใช้บริการครั้งแรก (First Timer)

ดังนั้น การเข้ามาของไอฟลายจึงจะช่วยตอบโจทย์ให้นักท่องเที่ยวที่มาไทยและชื่นชอบกีฬาประเภทนี้อยู่แล้วให้มีตัวเลือกมากขึ้นหากยังไม่ต้องการเสี่ยงในการไปกระโดดร่มจริง โดยเฉพาะกลุ่ม First Timer ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน น่าจะเป็นตลาดใหญ่เหมือนกับโมเดลที่เคยบุกเบิกในสิงคโปร์มาแล้ว และพบว่ากลุ่มคนที่มาครั้งแรกสูงถึง 90%

ไอฟลายในสิงคโปร์มีอัตรารองรับผู้เล่นได้ 400 คน/วัน และมียอดการใช้งานเฉลี่ย 60-70% ต่อวัน ซึ่งอยู่ในระดับที่น่าพอใจนอกจากนั้นไอฟลายยังฝึกพนักงานที่สามารถส่งไปแข่งในระดับโลกได้เหรียญทองในรายการนานาชาติด้วยเพื่อตอกย้ำความนิยมในฐานะกีฬาที่สูงขึ้นต่อเนื่อง”