ส่องแผนลับวิถีโต 'ส.กิจชัย เอ็นเตอร์ไพรส์'

ส่องแผนลับวิถีโต 'ส.กิจชัย เอ็นเตอร์ไพรส์'

เจาะธุรกิจ..! 'ส.กิจชัย เอ็นเตอร์ไพรส์' ปลดล็อคกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัว 'วิชัย แสงวงศ์กิจ' หัวเรือใหญ่ เร่งผลัดดันพันธกิจยกฐานการเงิน 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่ไอพีโอระดมทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 26 ก.ย.นี้

แม้ บมจ.ส.กิจชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือ SKN ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายแผ่นไฟเบอร์บอร์ดความหนาแน่นปานกลาง (Medium Density Fiberboard) หรือเรียกว่า 'แผ่นไม้เอ็มดีเอฟ' ของ 'ตระกูลแสงวงศ์กิจ' เพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจแผ่นไม้เอ็มดีเอฟเมื่อปี 2556 หุ้นไอพีโอน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 26 ก.ย.นี้ ราคาหุ้นละ 7.35 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท หลังเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรกจำนวน 200 ล้านหุ้น 

ทว่า ในความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับไม้เป็นอย่างดี เนื่องจากครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับ ไม้ยางพารา โรงเลื่อยไม้ แผ่นไม้ปาร์ติเกิ้ล และธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ สั่งสมประสบการณ์มากว่า 30 ปี ถือเป็น 'จุดเด่น' ของบริษัทที่เข้าใจความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้กิจการของบริษัทมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงที่ตั้งของโรงงานที่อยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตมีเทคโนโลยีทันสมัย ความสามารถบริหารต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในปี 2559 มีอัตรากำไรขั้นต้น 36.72% อัตรากำไรสุทธิ 17.60% ขณะเดียวกันบริษัทยังให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพการผลิตมาเป็นอันดับหนึ่งจากการทำวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการแผ่นไม้เอ็มดีเอฟที่เติบโตต่อเนื่องทุกปี

สะท้อนผ่านรายได้จากการขาย 4 ปี (2556-2559) อยู่ที่ 783.71 ,1,526.38 ,1,649.91 และ 1,477.69 ล้านบาท ตามลำดับ

'วิชัย แสงวงศ์กิจ' กรรมการผู้จัดการ บมจ.ส.กิจชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือ SKN ผู้ผลิตและส่งออกแผ่นไม้เอ็มดีเอฟ บอกจุดเด่นการเติบโตกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในครานี้ หุ้นใหญ่ยอมรับว่า เมื่อต้องการ 'การเติบโต' ของธุรกิจจำเป็นต้องมีเงินลงทุนเพื่อขยายกำลังผลิต หลังจากความต้องการสินค้า (ดีมานด์) มีจำนวนมาก สะท้อนผ่านการปฏิเสธคำสั่งซื้อดังกล่าวไป 

สะท้อนภาพชัดเจนในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทมีปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาจำนวนมาก ส่งผลให้กำลังการผลิตแผ่นไม้เอ็มดีเอฟขึ้นไปแตะ 'ระดับ90%' เป็นการทำ 'สถิติสูงสุด' นับตั้งแต่เริ่มธุรกิจมาเป็นเหตุผลหลักของการเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้...!  

ดังนั้น แผนธุรกิจของบริษัทจำเป็นต้องขยายกำลังการผลิตเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 'เท่าตัว' ด้วยการลงทุนขยายสายการผลิตสูงสุดระดับ 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อปี จากเดิม 2.4 แสนลูกบาศก์เมตรต่อปี มูลค่าโครงการประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการขยายกำลังการผลิตใหม่แล้ว และคาดว่าจะสามารถผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงกลางไตรมาส 3 ปี 2661 ทว่า เมื่อขยายกำลังการผลิตเสร็จเรียบร้อย ซึ่งถึงเวลานั้นบริษัทพร้อมเติบโตแบบ 'ก้าวกระโดด' สะท้อนจากความเชื่อมั่นของลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ รวมทั้งแนวโน้มการเติบโตของแผ่นไม้เอ็มดีเอฟตลาดโลก ปัจจุบันคิดเป็น 'มูลค่าตลาด 94 ล้านลูกบากศ์เมตร' หรือเฉลี่ยเติบโตปีละ 11% สูงกว่าการเติบโตของแผ่นไม้ทดแทนธรรมชาติที่โตราว 4% 

ถือเป็นโอกาสที่สนับสนุนให้ บริษัทสร้างการเติบโตอย่างโดดเด่นในระยะยาว และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเต็มที่....!! โดย บมจ.ส.กิจชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายแผ่นไฟเบอร์บอร์ดความหนาแน่นปานกลาง MDF (Medium Density Fiber Board) ซึ่งเป็นแผ่นไม้ทดแทนไม้ธรรมชาติจากไม้ยางพารา สัดส่วนรายได้เกือบ 100% มาจากยอดขายแผ่นไม้เอ็มดีเอฟ 

'กำลังการผลิตใหม่ช่วยปลดล็อค และสามารถรองรับคำสั่งซื้อลูกค้าที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก และสนับสนุนให้บริษัทมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น'

'ความต้องการของตลาดยังมีอีกสูง หากเราไม่ขยายกำลังการผลิต เราคงเสียโอกาสอีกมาก' หุ้นใหญ่ ส.กิจชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ มีความเชื่อเช่นนั้น...!

'กรรมการผู้จัดการ' เล่าต่อว่า ในแผนธุรกิจ 'ระยะยาว' บริษัทมีเป้าหมายต้องการกระจาย 'ยอดขาย' ออกไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจด้วย จากปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าทุกมุมโลก โดยเฉพาะตลาดในเอเชีย และตะวันออกกลาง ประกอบกับ ในช่วงที่ผ่านมาแนวโน้มความต้องการใช้แผ่นไม้เอ็มดีเอฟในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเพื่อมาใช้ประโยชน์ทดแทนไม้จริง โดยในปี 2558 ประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกแผ่นไม้เอ็มดีเอฟสูงเป็น 'อันดับ4' ของโลก คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (ปี 2555–2558) ประมาณ 13.4% 

แต่หลังจากบริษัทมีความพร้อมเรื่องกำลังการผลิต บริษัทจะมีการ 'ขยายตลาดใหม่ ๆ' อาทิ ตลาดในแถบเพื่อนบ้านเรา (อาเซียน) โดยปัจจุบันบริษัทมีการทำงานร่วมกับการส่งเสริมการส่งออกเปิดบูทโชว์ ในประเทศเมียนมา และ กัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ระหว่างการพัฒนาประเทศ ฉะนั้น ความต้องการอยู่ในระดับสูง ประกอบกับยังไม่มีผู้ประกอบการในธุรกิจลักษณะเดียวเข้าไปทำตลาด ดังนั้น ถือเป็นโอกาสของบริษัท  

'เป้าหมายของเราต้องการกระจายยอดขายไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ' 

โดยปัจจุบันบริษัทให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจ นั่นคือ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล การบริหารจัดการที่ดี และการส่งมอบสินค้าได้ตรงตามเวลาที่กำหนด ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า ล่าสุด บริษัทารับออเดอร์ลูกค้าล่วงหน้าได้เพียง 2 เดือน แต่คำสั่งซื้อมีเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาใหญ่คือไม่สามารถผลิตสินค้าให้ลูกค้าได้ 'ลูกค้าใหม่ก็ขอซื้อเพิ่ม ส่วนลูกค้าเก่าก็คอมเม้นมาว่าต้องรับออเดอร์เขาให้ได้ก่อน' ฉะนั้น ในปี 2560 จึงมีปัญหาออเดอร์ล้นมือ 

ขณะเดียวกัน ยังให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพการผลิตมาเป็นอันดับหนึ่ง จากการทำวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการแผ่นไม้เอ็มดีเอฟที่เติบโตต่อเนื่องทุกปี สำหรับเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นจำนวน 1,470 ล้านบาท นำไปชำระคืนเงินกู้ระยะยาว 650-700 ล้านบาท ทำให้อัตรา 'หนี้สินต่อทุน' ( D/E) ลดลงเหลือ 0.5 เท่า จากปัจจุบันที่กว่า 1 เท่า  และ ใช้ลงทุนขยายกำลังการผลิต 500 ล้านบาท  และที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน 

วิเคราะห์เป้าหมายรายได้ปี 2560 คาดเติบโตกว่าปี 2559 ที่มีรายได้ 1,492.17 ล้านบาทเนื่องจากราคาขายได้ MDF ปรับตัวเพิ่มขึ้น และการใช้กำลังการผลิตไม้ MDF เฉลี่ย  90% ของกำลังการผลิต  2.4 แสนลูกบาศก์เมตรต่อปี จากปีก่อนที่มีการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยที่ 80% ของกำลังการผลิตรวม  ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบกับบริษัทมากนัก เพราะบริษัทมีการป้องกันความเสี่ยงอยู่แล้ว

สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจ 'ข้อแรก' ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบไม้ โดยบริษัทใช้ไม้ยางพาราเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตแผ่นไม้เอ็มดีเอฟ ฉะนั้นความไม่เพียงพอของวัตถุดิบไม้ยางพาราจึงเป็นความเสี่ยงหลัก เนื่องจากชาวสวนจะเริ่มโค่นต้นยางที่มีอายุประมาณ 20-25  ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ต้นยางเริ่มมีปริมาณน้ำยางที่น้อยลงและไม่คุ้มค่าต่อการปลูก หากพิจารณาข้อมูลประมาณการปริมาณไม้ยางพาราในภาคตะวันออกที่สามารถนำมาใช้ผลิตแผ่นไม้เอ็มดีเอฟ เปรียบเทียบกับประมาณการความต้องการใช้วัตถุดิบไม้ของโรงงานผลิตแผ่นไม้เอ็มดีเอฟในภาคตะวันออก แต่เชื่อว่าความเพียงพอของปริมาณวัตถุดิบไม้ยางพารายังคงอยู่ในสถานการณ์ที่มีปริมาณวัตถุดิบไม้มากกว่าปริมาณความต้องการใช้ แต่บริษัทยังมีแผนสำรองในการจัดหาวัตถุดิบไม้ยางพาราจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในกรณีที่ไม้ยางพาราในภาคตะวันออกไม่เพียงพอไว้ด้วย 

ท้ายสุด 'วิชัย' พูดทิ้งท้ายว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะยิ่งสนับสนุนให้บริษัท เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมรุกตลาดแผ่นไม้เอ็มดีเอฟไปยังลูกค้ากลุ่กเป้าหมายทั่วโลกได้มากยิ่งขึ้น

กำลังผลิตใหม่ 'ปัจจัยบวก'

บล.ทิสโก้ ระบุว่า บมจ.ส.กิจชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ หรือ SKN  หนึ่งในผู้ผลิตแผ่นไม้ทดแทนธรรมชาติชั้นนำของไทยอีกหนึ่งผู้ผลิตแผ่นไม้ MDF ระดับแนวหน้าของประเทศไทย โดยมีมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของ EPS ในปี 2561-2562 สูงถึง 81% ต่อปี จากการขยายกำลังการผลิตเท่าตัวเป็น 500,000 ลูกบากศ์เมตรต่อปี โดยมีอุปสงค์ที่แข็งแกร่งรองรับ ประเมินมูลค่าเหมาะสมปี 2561 อยู่ที่ 9.40 บาทต่อหุ้น 

ทั้งนี้ ด้วยปริมาณการบริโภคแผ่นไม้ MDF ของโลกที่เติบโตแข็งแกร่ง 11% หรือ 95 ล้านลูกบากศ์เมตรต่อปี โดยมีประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 4 ของโลก ทำให้ SKN ที่เพิ่งเริ่มเดินเครื่องจักรในปี 2556 และใช้กำลังการผลิตเต็มที่ทันทีในปี 2557-2559  ในขณะที่ยังมีความต้องการสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าเข้ามาอีกมาก ทำให้ที่ผ่านมา SKN ต้องปฏิเสธลูกค้าไป จึงเป็นที่มาของแผนการขยายกำลังการผลิตเท่าตัวในครั้งนี้ภายในพื้นที่โรงงานเดิมที่ได้เตรียมการไว้แล้ว 

ฉะนั้น จึงมองว่า SKN มีโอกาสต่อยอดและลดต้นทุนเพิ่มเติมในหลายด้าน ได้แก่ 1.โครงการลงทุนปรับปรุงระบบฉีดกาว 2.ปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วย 3.ลดสัดส่วนการขายผ่านนายหน้า และ4.โอกาสต่อยอดไปยังธุรกิจปลายน้ำมากขึ้นในอนาคตสำหรับกำไรสุทธิปี 2560 ชะลอตัวลงเล็กน้อย 4.3% ที่ 251 ล้านบาท จากราคาขายที่ลดลงและปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักรครั้งใหญ่ แต่มองบวกต่อกำไรสุทธิปี 2561-2562 ที่คาดจะเติบโตก้าวกระโดด 85.8% และ 76.7% มาอยู่ที่ 467 และ 825 ล้านบาท ตามลำดับ

หลักๆ ถูกขับเคลื่อนจาก 1.รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,158 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.1% จากปีก่อน จากการเพิ่มกำลังการผลิตแผ่นไม้ MDF เป็น 5 แสนลูกบากศ์เมตรต่อปี จากปัจจุบันที่มีอยู่ 2.4 แสนลูกบาศก์เมตรต่อปี 2. คาดอัตรากำไรขั้นต้นปรับสูงขึ้นเป็น 36.1-36.8% จากต้นทุนกาวเคมีที่จะลดลงจากการติดตั้งเครื่องฉีดกาวใหม่และต้นทุนคงที่ต่อหน่วยที่ลดลงจากการขยายกำลังการผลิต อีกทั้งการลดสัดส่วนการขายผ่านนายหน้าลง และ 3.ค่าใช้จ่ายทางการเงินที่ลดลงจากการนำเงินเพิ่มทุนไปชำระคืนเงินกู้