ครม.ไฟเขียวมาตรการประกันราคาข้าวเปลือกปี60/61

ครม.ไฟเขียวมาตรการประกันราคาข้าวเปลือกปี60/61

ครม.ไฟเขียวมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปี 60/61ใช้เงิน 87,000 ล้านบาท ผ่านสินเชื่อ ธ.ก.ส.

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ใช้เงินช่วยเหลือ 87,000 ล้านบาท ผ่านการให้สินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 33,510 ล้านบาท และจ่ายขาด 53,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกรผ่าน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.มาตรการสินเชื่อชะลอขายข้าวปีการผลิต 2560/2561 เพื่อช่วยเหลือด้านราคา เกษตรกรจะได้รับสินเชื่อสัดส่วนร้อยละ 90 ของราคาตลาด กำหนดเป็นข้าวความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ ช่วยเหลือราคาข้าวเหนียวและหอมมะลิราคาเดียวกัน จึงให้สินเชื่อ 10,800 บาทต่อตันของราคาตลาด , กำหนดให้สินเชื่อเข้าเปลือกเจ้า 7,200 บาทต่อตันของราคาตลาด, ข้าวหอมปทุมธานี 18,500 บาทต่อตันของราคาตลาด

นอกจากนี้ รัฐบาลยังจ่ายค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว 1,200 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 10 ไร่ รวมช่วยเหลือ 12,000 บาทต่อไร่ รวมทั้งค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉาง 1,500 บาทต่อตัน เมื่อรวมทุกมาตรการรัฐบาลช่วยเหลือให้ชาวนาได้รับเงินข้าวเปลือกเหนียวและข้าวหอมมะลิ 15,300 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 11,000 ล้านบาทต่อตัน และข้าวหอมปทุมธานี 12,000 ล้านบาทต่อตัน เป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก

2.มาตรการให้สินเชื่อกลุ่มสหกรณ์ กลุ่มสถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้าวจากชาวนา เพื่อนำมาแปรรูป ในราคา 12,000 บาทต่อตัน เป้าหมาย 2.5 ล้านตัน คิดดอกเบี้ย MLR-1 ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5 เมื่อรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 สถาบันเกษตรกรจึงรับภาระดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ระยะเวลา 12 เดือน เร่ิมตั้งแต่ 1 ตุลาคม 60-30 ก.ย.61 เตรียมสินเชื่อวงเงิน 12,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 406 ล้านบาท

3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีข้าว เพื่อรวบรวมข้าวจากเกษตรกรในอัตราร้อยละ 3 กำหนดให้เก็บข้าวไว้ในสต็อก 2-6 เดือน วงเงินชดเชยดอกเบี้ย 940 ล้านบาท เป้าหมาย 8 ล้านตัน ระยะเวลารวบรวมข้าวเปลือก 2-6 เดือน รวมทั้งสองมาตรการให้กลุ่มสหกรณ์และโรงสีช่วยดูดซับข้าวประมาณ 10.5 ล้านตัน นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯดูแลการปลูกข้าวแบบครบวงจร หลังจากการปลูกข้าวแปลงใหญ่ ได้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 13,700 ราย พื้นที่ 68,000 ไร่ จากเป้าหมาย 150,000 ไร่ ให้สินเชื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกนาแปลงใหญ่ได้เพียง 557 ล้านบาท จากเป้าหมายตั้งไว้ 10,686 ล้านบาท จึงขยายเวลาจากวันที่ 30 กันยายน 2560 ออกไปเป็นวันที่ 30 กันยายน 2561