'ไลน์โมบาย' จ่อทำรัฐสูญเสียผลประโยชน์มหาศาล

'ไลน์โมบาย' จ่อทำรัฐสูญเสียผลประโยชน์มหาศาล

วงการสื่อสารชี้ "ไลน์โมบาย" จ่อทำรัฐสูญเสียผลประโยชน์มหาศาล

จากการที่ "ไลน์โมบาย ไทยแลนด์" ได้แถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมาหลังเปิดทดลองให้บริการมากว่า 3 เดือน โดยชูจุดเด่นการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล 100% ลูกค้าสามารถสมัครและเลือกแพ็คเกจบริการต่างๆ ผ่านทางแอพลิเคชั่น นอกเหนือจากค่าบริการที่ต่ำกว่าเครือข่ายอื่นๆ ทั้งยังสามารถใช้งานแชทไลน์ ดูไลน์ทีวีฟรีโดยไม่เสียค่าอินเตอร์เน็ต (ดาต้า) โดยยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้ให้บริการ Operator หรือบริการเสมือน MVNO แต่อย่างใดเป็นเพียงความร่วมมือระหว่างไลน์โมบาย และบริษัทดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือดีแทคเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เผยว่า หากพิจารณาการให้บริการของไลน์โมบายไม่ว่าจะพิจารณาอย่างไรก็ถือว่าเข้าข่ายเป็นผู้ให้บริการ MVNO หรือผู้ให้บริการโอปอเรเตอร์เต็มตัว เพราะมีการแยกโอปอเรเตอร์และทีมงานทางการตลาดออกมาจากดีแทคทั้งหมด แม้แต่ระบบบิลลิ่งที่แม้จะอ้างว่ามาจากดีแทคโดยตรง แต่เป็นการส่งผ่านข้อมูลเท่านั้น โดยไลน์โมบายเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งระบบ ส่วนค่าบริการที่ได้รับนั้นดีแทคจะได้เพียงค่าเช่าเครือข่ายเท่านั้น

แหล่งข่าว กล่าวว่า การเปิดตัวอย่างเป็นทางการของไลน์โมบายนั้นเท่ากับแสดงให้เห็นว่าไลน์มีตัวตนจริง ไม่ได้เป็นเพียงแพ็คเกจทางการตลาดหนึ่งของดีแทค หรือ Fighting Band อย่างที่เคยเข้าใจ ทำให้ผู้ให้บริการค่ายอื่น ๆ จับตามองการให้บริการของไลน์ โมบายที่อ้างว่าไม่ได้เป็น โอปอเรเตอร์ หรือ MVNO โดยจะรอดูผลการตรวจสอบของกสทช.ที่เคยระบุก่อนหน้านั้นว่ายังไม่พบความผิดปกติ

"เป็นไปได้อย่างไรที่ กสทช.จะไม่สามารถแยกแยะบริการของไลน์ โมบาย กับแพคเกจบริการทั่วไปเพราะรูปแบบการให้บริการที่เห็นไม่ได้เป็นแค่แพ็จเกจทางการตลาดปกติแน่ แต่เป็นการให้บริการที่มากกว่าบริการเสมือนจริง (MVNO )หรือ โอปอเรเตอร์เสียอีก หากกสทช.ยืนยันว่าการให้บริการไลน์ โมบายไม่ถือเป็นบริการ MVNO ที่ต้องขอใบอนุญาตจากกสทช.ก็เชื่อแน่ว่าค่ายอื่น ๆ จะเจริญรอยตามอย่างแน่นอน และอาจมีการเจรจากับผู้ให้บริการ Search Engine /แพลทฟอร์มรายใหญ่ของโลก ทั้งกูเกิ้ล เฟซบุ๊ค ฯลฯ เพื่อเปิดให้บริการในแบบเดียวกัน สามารถกำหนดค่าบริการต่างๆได้ต่ำแล้วโยกลูกค้าที่มีออกไป ซึ่งไม่เพียงจะเป็นการแข่งขันที่ไม่ได้ตั้งบนพื้นฐานเดียวกับโอปอเรเตอร์รายอื่น ๆ แล้ว ยังจะทำให้รัฐ และกสทช.สูญเสียประโยชน์มหาศาล ทั้งรายได้จากค่าธรรมเนียม (Fee) ใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมเข้ากองทุน USO"

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า เชื่อแน่ว่าในอนาคตหาก กสทช.นำคลื่นความถี่ใหม่ออกประมูลจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน เพราะค่ายมือถือต่าง ๆ คงไม่มีความจำเป็นต้องไปประมูลช่วงชิงคลื่นความถี่มาให้บริการ สู้ไปขอเช่าเครือข่ายมือถือของรัฐ หรือเครือข่ายอื่น ๆ มาให้บริการแทนโดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

"คงเป็นเรื่องที่กสทช.ต้องตอบโอปอเรเตอร์อื่น ๆ ที่ต้องประมูลจ่ายเงินเข้ารัฐกันเป็นหมื่นๆล้าน ถูกควบคุมจากกสทช.สารพัดแต่กสทช.กลับเปิดทางให้มีการผุดโอปอเรเตอร์แฝงหรือ MVNO ได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาต" แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว