'โรฮิงญา' พวกเขาคือมนุษย์!

'โรฮิงญา' พวกเขาคือมนุษย์!

แม้ประกายไฟของปัญหาชาวโรฮิงญาจะปะทุอยู่นอกแผ่นดินไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลิงไหม้แห่งมนุษยธรรมนี้ลุกลามไปทั่ว

เสมือนปริศนาที่บางคนอาจรู้ แต่หลายคนยังไม่รู้ว่าทำไมปัญหาของชาวโรฮิงญาจึงไม่จบไม่สิ้นสักที และปัญหานอกประเทศแบบนี้เกี่ยวข้องกับประเทศไทยหรือไม่...อย่างไร

            ข้อสงสัยนี้เริ่มถูกสะกิดขึ้นอีกครั้ง เหมือนบาดแผลที่ยังไม่หายดีแต่ถูกมีดกรีดซ้ำ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ความรุนแรงภายในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาปะทุขึ้นใหม่อีกครั้ง จากการก่อเหตุโจมตีฐานที่มั่นหน่วยความมั่นคงของเมียนมา จนเกิดปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มเคลื่อนไหวติดอาวุธโดยไม่จำแนกพลเรือนออกจากกลุ่มเคลื่อนไหวติดอาวุธ การกวาดล้างดังกล่าวส่งผลกระทบร้ายกาจต่อพลเรือนทุกกลุ่มในรัฐยะไข่ โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา

            ถามว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อประเทศใดมากที่สุด คำตอบคือประเทศบังคลาเทศ เพราะมีชาวโรฮิงญาอพยพลี้ภัยเข้าไปในประเทศนี้จำนวนมากกว่า 400,000 คน ทว่าผลกระทบไม่ได้กระจุกอยู่แค่บังคลาเทศเท่านั้น มีความกังวลว่าจะขยายวงกว้างสู่ประเทศเพื่อนบ้านเมียนมาอีกหลายประเทศ

            แม้รัฐยะไข่จะอยู่ทางตะวันตกของเมียนมาและไม่มีอาณาเขตติดกับไทยโดยตรง ทว่าอาณาเขตทางทะเล ชายแดนตะวันตกของเมียนมาไม่ไกลจากชายฝั่งอันดามันของไทยมากนัก เมื่อปี พ.ศ.2555-2558 มีชาวโรฮิงญาอพยพทางทะเลจำนวนมหาศาล

            แม้พรมแดนและกฎเกณฑ์บางอย่างกีดกันและกดกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้ไว้ แต่ความเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับชนชาติอื่นก็เชื่อมโยงถึงกันผ่านการรับรู้ต่างๆ ความรุนแรงที่พวกเขาถูกกระทำย่ำยี และความเข้าใจกึ่งผิดกึ่งถูกเกี่ยวกับพวกเขาที่พวกเรามี คำต้นทางของคำตอบว่า “โรฮิงญากับสังคมไทย เกี่ยวข้องกัน”

            “โรฮิงญาไม่เป็นที่ยอมรับของเมียนมา” พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรโฟร์ติไฟไรท์ (Fortify Rights) เปิดประเด็นถึงโรฮิงญาในสายตารัฐเมียนมา ซึ่งถ้าย้อนไปในประวัติศาสตร์ของรัฐยะไข่จะเห็นว่าความขัดแย้งเริ่มต้นตั้งแต่ยุคอังกฤษเข้ามาล่าอาณานิคมในเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ คือสมัยนั้นยะไข่เป็นที่ตั้งของรัฐอิสระที่มีทั้งพุทธและอิสลาม มีพื้นที่บางส่วนอยู่ในบังคลาเทศ กระทั่งอังกฤษยึดอินเดีย เมียนมาจึงยกรัฐนี้ให้อังกฤษ

            ต่อมาเกิดการต่อสู้กับอังกฤษเพื่อเอกราช ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาก็ต้องการมีรัฐ-ชาติเป็นของตนเอง เกือบทุกกลุ่มชาติพันธุ์ได้รวมตัวกัน และทำข้อตกลงระหว่างเมียนมาในสัญญาปางหลวงว่าหลังจากได้รับเอกราช 10 ปี กลุ่มต่างๆ ก็จะแยกออกเป็นประเทศอิสระของตนเอง

            แต่โรฮิงญาอยากเข้าไปร่วมกับปากีสถาน จึงตั้งกลุ่มญิฮาด มูยาฮีดีน ขึ้นมาต่อสู้เพื่อเอกราช เมื่ออูนุฉีกสัญญาปางหลวงโดยลอบสังหารอองซาน ก็มีกลุ่มโรฮิงญาที่ร่วมกับอูนุด้วย ขณะที่สายที่ต้องการไปรวมกับปากีสถานไม่ประสบความสำเร็จ

            เมื่อเนวินที่มีแนวคิดสุดโต่งยึดอำนาจจากอูนุ ก็จัดการทุกกลุ่ม สู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศอย่างดุเดือด ขณะที่โรฮิงญาโดนหนักสุดเพราะมีการออกกฎหมายสัญชาติไม่ยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา มีการยึดบัตรประชาชน และเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้คนโรฮิงญากลายเป็นคนไร้รัฐ

            ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เขียนถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ใน บทความ โรฮิงญา : ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ว่า “พม่าทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยการไม่ให้สิทธิความเป็นพลเมือง การออกกฎหมายต่างๆ ที่จำกัดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญา การปิดมัสยิดไม่ให้ปฏิบัติศาสนกิจ การลบล้างประวัติศาสตร์และสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ที่ไม่มีโรฮิงญา การเปลี่ยนชื่อโรฮิงญาเป็นเบงกาลี ควบคู่ไปกับการใช้กำลังทหารเข้าเข่นฆ่า การข่มขืนผู้หญิง มีการฝังกับระเบิดที่ชายแดนติดกับบังคลาเทศไม่ให้หนี และการใส่ร้ายว่าโรฮิงญาเผาบ้านตัวเอง”

            แม้ปัจจุบันนี้โลกจะหมุนไปแค่ไหน แต่ พุทธณี บอกว่าสังคมเมียนมายังเหลื่อมล้ำ เพราะมีเพียง 135 ชาติพันธุ์ที่รัฐบาลเมียนมารับรอง แต่ยังมีอีกหลายสิบชาติพันธุ์ที่ถูกละเลย

            “ในประเทศไทยเรารู้กันว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ว่าเราไม่มีความรู้สึกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งไม่ควรจะอยู่บนแผ่นดินไทย คือไม่มีความคิดแบบนี้ แต่ในเมียนมายังมีอยู่ เพราะฉะนั้นเวลาเรามองสถานการณ์โรฮิงญา เราอาจต้องมองแบบเมียนมา เพราะถ้าเรามองแบบคนไทยก็จะไม่เข้าใจว่าเป็นไปหรือ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร”

            จินตนาการไปไม่ถึง...เธอใช้วลีนี้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะสิ่งที่รัฐบาลเมียนมากระทำต่อชาวโรฮิงญานั้นเกิดจะจินตนาการได้ เธอเล่าไปด้วยน้ำเสียงสั่นเครือทำให้รู้ว่าพุทธณีเคยได้รับรู้หรือเห็นอะไรมา

            “ถ้าคุณอยู่เชียงใหม่แล้วจะไปสุไหงโกลก ใช้เวลาบินไม่เกินสามชั่วโมง ถ้าขับรถไม่เกินหนึ่งวัน แต่ถ้าคุณอยู่ยะไข่จะไปย่างกุ้ง ถ้าคุณเป็นเมียนมาใช้เวลาเป็นอาทิตย์ แต่ถ้าคุณเป็นโรฮิงญาคุณอาจไม่มีวันไปถึง เพราะต้องทำจดหมายขอทหารก่อน และทหารอาจจะไม่ให้ด้วย เราจึงใช้ชุดความคิดและจินตนาการแบบเดียวกันไม่ได้เลย”

            ในอดีตพรรค NLD ของ อองซาน ซูจี เคยต่อสู้ในนามประชาธิปไตย เคยเป็นความหวังของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาที่หวังว่าเมื่อเกิดประชาธิปไตยในเมียนมาแล้ว อองซาน ซูจี จะนำเมียนมาไปสู่สังคมพหุวัฒนธรรม ที่ยอมรับสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์เหมือนนายพลอองซานผู้เป็นพ่อ แต่สุดท้าย อองซาน ซูจี กลับเพิกเฉยต่อกรณีโรฮิงญา ดร.ไชยณรงค์ บอกว่าการล้อมปราบชาวโรฮิงญาทำให้ซูจีไม่เหลือภาพของวีรสตรีและนักต่อสู้ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอีกต่อไป เพราะนางคือกระบอกเสียงสำคัญของพม่าในการสร้างความชอบธรรมเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา

            ด้าน ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่าเป็นเรื่องน่าตกใจมากที่ในระยะเวลาเพียงเดือนเดียวที่ผ่านมามีผู้อพยพหลายแสนคนในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเมื่อเทียบกับหลังปี พ.ศ.2555 ที่เริ่มมีผู้ลี้ภัยทางเรือเยอะๆ ก็ยังมีจำนวนเทียบไม่ได้กับตอนนี้ และในบรรดาผู้ลี้ภัยเหล่านั้นก็เสียชีวิตไปนับพันคนแล้ว

            มาถึงท่าทีของไทยที่จริงๆ มีประสบการณ์การจัดการผู้ลี้ภัยค่อนข้างมาก และทุกปัญหาก็คลี่คลายได้อย่างดี ดร.สักกรินทร์ ชี้ให้เห็นว่าแต่กับกลุ่มโรฮิงญานั้นรัฐบาลไทยมีมาตรฐานไม่เท่ากลุ่มอื่นๆ

            “มันขึ้นกับการเมืองระหว่างประเทศ ขึ้นกับรัฐบาลแต่ละช่วง ในยุคหนึ่งเราเคยมีบทบาทมากในแถบอินโดจีน ประเทศไทยเป็นผู้นำเลยในการเจรจาระหว่างประเทศ ว่าแต่ละชาติควรจะมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนี้ และเราก็เป็นเจ้าภาพประชุมมากมายก่ายกอง แต่ตอนนี้เรื่องนี้เราเงียบมาก แต่ขณะเดียวกันที่อินโดนีเซียมีการรวมตัวของกลุ่มมุสลิมกดดันหน้าสถานทูตเมียนมา ที่มาเลเซียก็นายกรัฐมนตรีมีออกมาประกาศประณามและเรียกร้องให้นานาชาติเข้ามาแก้ปัญหา”

            คำถามคือ แล้วรัฐบาลไทยควรจะทำอย่างไร นอกจากนิ่งเฉย หรือแค่คล้อยตามกับการเปลี่ยนคำเรียกโรฮิงญา เป็น เบงกาลี เท่านั้น

            ขณะที่รัฐยะไข่เองในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ทั้งที่เป็นพุทธ และโรฮิงญาที่เป็นมุสลิมต้องการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน คนยะไข่รุ่นใหม่มองความเป็นชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันลดลง เพียงแค่คนรุ่นใหม่ไม่มีเวทีจะพูด

            ในทางตรงกันข้าม คนรุ่นเก่ายังมีทัศนะที่คับแคบ ไม่ว่าจะเป็นทหารเมียนมา อองซาน ซูจี และพลพรรค NLD รวมถึงขบวนการพระสงฆ์หัวรุนแรงในเมียนมา และมีโลกทัศน์ที่คับแคบจากการที่เมียนมาปิดประเทศนานหลายทศวรรษ เห็นได้ว่านี่เป็นทัศนะที่ขัดแย้ง ทว่าเส้นทางสู่สันติภาพที่มีมนุษยธรรมเป็นตัวตั้งนั้นคืออะไร...คำตอบชัดเจนอยู่แล้ว

            ดร.สักกรินทร์ เล่าว่าแม้แต่พี่ใหญ่ของโลก เช่น จีน หรือ รัสเซีย ก็ยังได้รับผลกระทบ ถึงขนาดไม่กี่วันก่อนมีการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ และมีหัวข้อเรื่องโรฮิงญาที่น่าจะนำไปสู่มาตรการคว่ำบาตรเมียนมาจากที่ประชุมนี้ แต่เมียนมาจะไปขอให้รัสเซียกับจีนขัดขวางการคว่ำบาตร

            “นี่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก” เขาบอกว่าเรื่องนี้ท้าทายประชาคมอาเซียนมากทีเดียว เพราะภูมิภาคนี้มี กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ซึ่งระบุชัดเจนเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้นปัญหาสิทธิมนุษยชนเป็นปัญหารุนแรงของอาเซียน เป็นปัญหาซึ่งขัดกับกฎบัตรอาเซียนชัดเจน นี่จึงเป็นปัญหาของทุกชาติในอาเซียน

            “อีกประเด็นคือปัญหานี้เคยเป็นปัญหาของชาติพันธุ์มานานมาก แต่ตอนนี้กำลังถูกเสี้ยมให้เป็นความขัดแย้งทางศาสนา ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะอาจจะมีนักบวชบางคนที่มีความคิดสุดโต่งต่อเรื่องนี้ นี่ไม่ใช่ความคิดของศาสนจักร เป็นเพียงของปัจเจกบุคคล แต่สุ่มเสี่ยงถ้าถูกปล่อยให้เป็นเรื่องศาสนา ในที่สุดแล้วจะถูกแทรกแซงจากภายนอก”

            เพียงส่วนเสี้ยวที่โรฮิงญาถูกกระทำแล้วโลกรับรู้ นำไปสู่ความรู้สึกเชิงลบต่อรัฐบาลเมียนมา เกิดคำถามว่า “ใครถูกใครผิด” แต่ที่สำคัญกว่าหาคนผิดคือ จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะหยุดการฆ่าล้าง ทำอย่างไรจึงจะหยุดการอพยพของคนโรฮิงญา

            “ถ้าแก้ปัญหาไม่จบ อย่างน้อยอาเซียนต้องได้รับผลกระทบแน่ๆ ถามว่าไทยรับไหม ให้ย้อนกลับไปเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา มีหลายเรื่องที่เราต้องดูแลสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นคำถามคือแล้วจากนี้เราจะทำอย่างไร เมื่อมีผู้ลี้ภัยไม่น้อยกว่า 4 แสนคน จะทำอย่างไรให้เขาได้กลับบ้านได้อย่างปลอดภัย หรือถ้าเขากลับไม่ได้ เขาจะอยู่อย่างไร” พุทธณี กล่าว

            จากท่าทีต่างๆ ของประเทศมหาอำนาจและประเทศเพื่อนบ้าน มาถึงเราแล้วว่าเมื่อปัญหามาเคาะประตูบ้านแบบนี้ (บางส่วนก็เข้ามาเคาะจากในตัวบ้านด้วยซ้ำ) หากจะปล่อยให้ชาติพันธุ์หนึ่งต้องถูกฆ่าล้างคงไม่ได้ ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยและรัฐบาลไทยจะต้องแสดงท่าทีเชิงสิทธิมนุษยชน ดร.สักกรินทร์ แนะนำว่าให้ลดอคติ และมองปัญหาให้ถ่องแท้ว่าไม่ใช่ปัญหาศาสนา แต่เป็นปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ชาวโรฮิงญาถูกทำร้ายและฆ่า

          ให้มองเขาในฐานะ ‘มนุษย์’ เหมือนกัน