แจงร่างกฎหมายปฏิรูป 'อปท.' คืบหน้า

แจงร่างกฎหมายปฏิรูป 'อปท.' คืบหน้า

กรธ.แจงร่างกฎหมายปฏิรูป "อปท." คืบหน้า เน้นกระจายปฏิบัติได้จริง พร้อมส่งต่อคกก.กระจายอำนาจ21ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานอนุกรรมการจัดทำร่างกฎหมายแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กล่าวความคืบหน้าในการพิจารณาว่า หลักหัวใจในการปฏิรูปเพื่อให้การกระจายอำนาจเดินหน้าได้ อปท. จะต้องบริหารงานด้วยความโปร่งใส เปิดเผย มีส่วนร่วม ซึ่งการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางไปท้องถิ่นเริ่มในปี 2544 กว่า254 ภารกิจ ซึ่งมีหลายภารกิจที่โอนไปแต่ยังทำไม่ได้ เช่นอย่าง การซ่อมถนน งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่โอนไปได้เพียง 5 พันล้าน และซ่อมได้เพียงแค่ ร้อยละ 20 เท่านั้น ในขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาเกี่ยวกับระเบียบรองรับที่ไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้ สตง.เข้ามาสอบและเรียกเงินคืน ปัญหาเรื่องการทำงานที่ซ้ำซ้อน คลุมเครือระหว่างส่สวนกลางและส่วนท้องถิ่น ที่เป็นปัญหาจนส่งให้คณะกรรมการกระจายอำนาจฯและคณะกรรมการกฤษฎีกาต้องตีความกันอยู่ทุกวันนี้

นายชาติชาย กล่าวอีกว่าใน 16 ปีที่ผ่านมาท้องถิ่นยังไม่มีการปรับปรุงปัญหาที่เกิดหรือคือภารกิจเป็นแบบเก่าไม่ทันต่อเหตุการณ์และความต้องการของประชาชน ดังนั้นรัฐธรรมนูญปี 60 จึงมีจุดมุ่งหมาย ปฏิรูปท้องถิ่นให้มีการกระจายอำนาจอย่างจริงจัง ตามมาตรา 249 ประกอบกับ เราได้ร่างให้กฎหมายให้สามารถปฏิบัติได้จริง เช่น อปท. คิดเริ่มงานได้เองไม่ต้องเรียกร้องการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางตามกฎหมายปี 42 โดยจะมีคณะกรรมการกระจายอำนาจคอยพิจารณา ขณะเดียวกันก็ริเริ่มสิ่งใหม่ๆได้ ส่วนเรื่องเงินอุดหนุนพึ่งตนเอง ที่มีการเปิดพื้นที่ให้สามารถหารายได้เอง โดยการตั้งวิสาหกิจท้องถิ่นส่งเสริมธุรกิจในท้องที่ตรงนี้จะเป็นแหล่งหารายได้ให้กับ อปท.โดยดูตามความแตกต่างตามภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่ เช่น ภูเขา เกาะ อะไรที่เป็นงานขั้นพื้นฐานที่ต้องปฏิบัติก็ต้องทำให้กับประชาชน แต่อะไรที่เป็นสิ่งริเริ่มใหม่แล้วดีๆ ก็ต้องสนับสนุนให้ถูกต้อง แล้วจะมีการลงไปตรวจสอบในภายหลัง เป็นต้น

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า การปฏิรูปท้องถิ่นเราได้เปิดพื้นที่ให้ท้องถิ่นทำงานกันเองมากขึ้น โดยมีกลไกสนับสนุนให้สามารถทำได้จริง รวดเร็วสะดวก และระบบราชการต้องเป็นคุณแก่คนที่จะทำประโยชน์ให้ท้องถิ่น นอกจากนี้จะเป็นการแก้ปัญหาพื้นฐานที่โอนได้และไม่ได้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ซึ่งขณะนี้กำลังมีการยกร่างกฎหมายการมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่

“ร่างกฎหมายกระจายอำนาจฯฉบับนี้ เราเขียนให้ อปท.คิดริเริ่มงานเอง ไม่ต้องเรียกร้องการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนราชการส่วนกลาง ที่มักจะถ่ายโอนภารกิจ ในลักษณะที่ว่า เสื้อที่พี่ใส่นั้น เก่าแล้ว คับแล้ว ถ่ายโอนให้น้อง อปท.ใส่แทน ตลอด 16 ปีที่ผ่านมาเรามีปัญหามามาก วันนี้กลไกต่างๆ เริ่มอ่อนล้า วิ่งตามปัญหาในปัจจุบันไม่ทันการณ์ ดังนั้นเราจึงต้องเร่งสร้างสมรรถนะองค์กรท้องถิ่นให้ทันกับเหตุการณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเรา จึงถึงเวลาที่ต้องเดินหน้าปฏิรูปท้องถิ่นอย่างจริงจังเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างทันต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน”นายชาติชาย กล่าว

นายชาติชาย กล่าวต่อไปว่า ทางคณะอนุฯจะนำผลสรุปครั้งสุดท้ายหลังจากที่ได้ไปทำความเห็นเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 จากประชาชน 5 ภาค ใน77 จังหวัด ที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ โดยจะส่งให้กับคณะกรรมการกระจายอำนาจได้ดูในวันที่ 21 ก.ย. นี้ ถ้าเห็นชอบก็จะได้ส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไปซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะต้องใช้ควบคู่กับกฎหมายท้องถิ่นอีก 4 ฉบับอย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ ถ้ามีการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือน เม.ย. 61 หรือหลังการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาใดก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล