ค้านกกต.ยื่นศาลรธน. ตีความ 'เลือกตั้งแล้วเสร็จ'

ค้านกกต.ยื่นศาลรธน. ตีความ 'เลือกตั้งแล้วเสร็จ'

"คณิน" ค้านกกต.ยื่นศาลรธน.ตีความ "เลือกตั้งแล้วเสร็จ" เรียกร้อง "มีชัย" อธิบายให้กระจ่าง

นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ( ส.ส.ร. ) ปี 2540 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) มีความคิดที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความคำ ว่า “การเลือกตั้งแล้วเสร็จ” ว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องนี้ โดยมีเหตุผล 3 ประการคือ 1. คำว่า “แล้วเสร็จ” ไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมาย แต่เป็นปัญหาทางภาษา ซึ่งอาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน ดังนั้น ผู้ที่จะตัดสินชี้ขาดได้ดีที่สุด น่าจะเป็นสำนักราชบัณฑิตยสถานมากกว่าที่จะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะราชบัณฑิตยสถานนั้น นอกจากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาแล้วยังเป็นกลางทางการเมืองมากกว่าศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย

นายคณิน กล่าวว่า 2. ศาลรัฐธรรมนูญ ชุดปัจจุบัน ถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งจากการที่ได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อโดยประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) ทั้งๆ ที่ควรจะถูกยกเลิกไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว และจากการที่จะต้องมาวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องที่เกี่ยวกับการช่วงชิงอำนาจและความได้เปรียบเสียเปรียบกันทางการเมือง ระหว่างฝ่ายที่ต้องการที่ต้องการจะยื้อการเลือกตั้งออกไปกับฝ่ายที่ต้องการให้เลือกตั้งเร็ว ดังนั้น การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะออกมาในรูปใด ก็ไม่มีทางที่จะยุติปัญหานี้ได้

นายคณิน กล่าวว่า 3 .การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยล่วงหน้าว่าการเลือกตั้งแล้วเสร็จ หมายถึง เมื่อไรนั้น ก็เท่ากับว่า เรายอมให้ศาลรัฐธรรมนูญเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ในเรื่องเดียวกัน ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ใช้บังคับเลย อีกทั้งยังจะกลายเป็นแบบอย่างที่ใครต่อใครที่กำลังต่อสู้เอาชนะคะคานกันในทางการเมืองจะพากันเอาอย่าง คือ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในทุกๆ เรื่องที่ยังไม่ได้เริ่มต้นใช้บังคับซึ่งจะนำมาซึ่งความวุ่นวายโดยใช่เหตุ

นายคณิน กล่าวว่า กกต. น่าจะรู้อยู่แล้วว่าการเลือกตั้งแล้วเสร็จ หมายถึงเมื่อไร เพราะถ้าดูจากอำนาจหน้าที่ของ กกต. ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญแล้ว กกต. คงไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่จัดให้คนมาลงคะแนนเลือกตั้งจนถึงปิดหีบบัตรเลือกตั้งแล้วก็เป็นอันจบเป็นแน่ แต่ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ กกต. จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จจนถึงวันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้ ส.ส. และ ส.ว. มาประชุมเป็นครั้งแรก จึงจะเรียกว่า กกต. ทำหน้าที่แล้วเสร็จ ดังนั้น จึงน่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่า เพราะเหตุใด กกต. จึงได้มีท่าทีเหมือนกับไม่แน่ใจในอำนาจหน้าที่ของตนเอง ถึงขนาดจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าวยังไม่ได้ใช้บังคับเลย ?

นายคณิน กล่าวต่อว่า ในเมื่อสังคมยังไม่ได้รับความกระจ่างจาก กกต. ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง แถมยังจะโยนให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความล่วงหน้าเช่นนี้แล้ว ทำให้รู้สึกวังเวง เพราะไม่รู้จะไปพึ่งใคร แต่ก็ยังไม่หมดหวังเสียเลยทีเดียว เพราะยังมีอีกคนหนึ่งที่น่าจะรู้ดีที่สุด เพราะเขียนไว้กับมือ คนๆนั้นก็คือ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งนายมีชัย ย่อมรู้ดีที่สุด เพราะถ้าดูตามประวัติแล้ว ในรัฐธรรมนูญปี 2521 และปี 2534 ซึ่งนายมีชัย เป็นเลขาฯ และเป็นประธานคณะยกร่างตามลำดับนั้นใช้คำว่า “การเลือกตั้งเสร็จสิ้น” เหมือนกับรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับก่อนหน้านั้น ต่อเมื่อถึงรัฐธรรมนูญปี 2540/2550 ได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “การเลือกตั้งแล้วเสร็จ” ซึ่งก็คงมีความหมายไม่แตกต่างกัน จนมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งนายมีชัย เป็นประธานยกร่างก็ยังใช้คำว่า “การเลือกตั้งแล้วเสร็จ” เหมือนรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ก่อนหน้านั้น ดังนั้น นายมีชัย จึงย่อมรู้ดีที่สุดว่า “การเลือกตั้งเสร็จสิ้น” กับ “การเลือกตั้งแล้วเสร็จ” เหมือนหรือต่างกันอย่างไร และที่สำคัญการเลือกตั้งแล้วเสร็จ หมายถึง “ลงคะแนนแล้วเสร็จ” หรือว่า “ประกาศผลแล้วเสร็จ” กันแน่

"ผมเรียกร้องให้ นายมีชัย ออกมาให้ความกระจ่างแก่สังคม ในประเด็นนี้แต่เนิ่นๆ เพื่อที่ว่าสังคมและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กกต. พรรคการเมือง และประชาชน ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะได้เกิดความกระจ่าง และไม่คุมเครืออีกต่อไป ผมเชื่อมันว่าถ้านายมีชัยออกมาชี้แจงและอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้กระจ่างแล้ว ปัญหานี้ก็จะเป็นที่ยุติอย่างแน่นอน เพราะทุกฝ่ายเชื่อถือและยอมรับ"นายคณิน กล่าว