สวนผักบ้านคุณตา โชว์ผลงานที่เยอรมัน

สวนผักบ้านคุณตา  โชว์ผลงานที่เยอรมัน

สวนผักบ้านคุณตา อบรมและเผยแพร่มากกว่าการปลูกผัก ยังเน้นเรื่องพลังงานโซลาเซลล์ และอีกหลายเรื่องที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

.......................

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คงเคยได้ยินเรื่องเกษตรในเมืองอยู่เรื่อยๆ ซึ่งมีหลายแห่งที่ให้ความรู้ หนึ่งในนั้น ก็คือ สวนผักบ้านคุณตา  สุขุมวิท 62 

บ้านพึ่งพิงตนเอง ที่ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง แม้จะมีพื้นที่ไม่เยอะ แต่ก็ทำได้ทั้งสวนผัก การใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ เลี้ยงไก่ เพาะเห็ด รวมทั้งทำสบู่ แชมพู และน้ำยาล้างจาน ฯลฯ

สวนผักบ้านคุณตา เกิดจากแนวคิดของ คมสัน หุตะแพทย์ ผู้ปลุกปั้นมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา ทำบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนเมืองที่ต้องการพึ่งพิงตนเองให้สอดคล้องตามวิถีธรรมชาติ

โดยมีการอบรมเกี่ยวกับการพึ่งพิงตนเองในด้านการอุปโภค การผลิตอาหาร โดยเฉพาะการปลูกผักสวนครัวไม่ใช้สารเคมี ทำให้บ้านหลังเล็กๆ แห่งนี้ มีทั้งแปลงสาธิตการปลูกผักแนวตั้ง แนวนอน การเตรียมดิน การเพาะกล้า ฯลฯ

ล่าสุดสวนผักบ้านคุณตา ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมประชุม Urban Farming ที่เยอรมัน...

สวนผักบ้านคุณตา เป็นศูนย์เรียนรู้การพึ่งพิงตนเองนานแค่ไหน

7 ปี เป็นบ้านตาลูกสาวผม ซึ่งตอนนั้นไม่ได้อยู่ ก็เลยทำเป็นบ้านตัวอย่างของคนเมือง ปลูกผักปลอดสาร แล้วเริ่มฝึกอบรมให้คนทั่วไป ผักที่ปลูกเราก็กินด้วย ไม่ได้ปลูกแค่เป็นตัวอย่าง เราเปิดอบรมเดือนละหนึ่งหรือสองครั้ง โดยคิดค่าใช้จ่ายไม่แพง และมีการอบรมการทำโซลาเซลล์ ฯลฯ

เราทำเป็นเครือข่ายสำหรับคนเมือง โดยทำหน้าที่สองอย่างคือ อบรมกลุ่มที่สมัครเข้ามา และชุมชนที่อยากปลูกผักและมีพื้นที่สาธารณะร่วมกัน หน่วยงานหรือโรงงานที่อยากจัดพื้นที่ให้พนักงานได้ปลูกผัก 

การปลูกผักในพื้นที่จำกัดมีวิธีการอย่างไร

ปลูกได้ทั้งในดินและแนวตั้ง สำหรับคนเมืองที่มีพื้นที่จำกัด เมื่อปลูกผักได้ ก็อยากทำการเกษตรแบบอื่นด้วย เริ่มทดลองปลูกข้าวในบ่อซีเมนต์ เลี้ยงไก่ในพื้นที่ 2 คูณ 3 เมตร และโรงเห็ด ในแง่การบริโภค ถ้าเรามีข้าว ไข่ เห็ด และผัก เป็นอาหารพื้นฐาน ก็ดำรงชีวิตอยู่ได้ ตอนปี 2554 น้ำท่วมบ้านผมที่รังสิต เผชิญวิกฤติ จึงลองเอาเรื่องราวเหล่านี้มาเผยแพร่

การพึ่งพิงตนเองทำได้หลายอย่าง มีอะไรบ้าง 

  เราขยายการพึ่งพิงตนเอง แปรรูปโดยไม่ใช้สารเคมี ถ้ามีไข่ ก็ทำไข่เค็ม ทำเต้าหู้จากถั่วเหลือง ซอสพริก ผักดอง สบู่ แชมพู และเรื่องพลังงาน ติดตั้งโซลาเซลล์เข้าไปในบ้าน คำนวณปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ในบ้าน ทำเป็นบ้านตัวอย่างเกษตรในเมือง เป็นบ้านพึ่งพิงตนเองด้านพลังงานและการดำรงชีวิต   

   คนอื่นไม่ได้ทำครบวงจรแบบนี้ เราจัดการของสี่อย่างภายในบ้าน ก็คือ การเกษตร แปรรูป การจัดการของเสีย และพลังงาน ขยะเศษอาหารทำน้ำหมัก เลี้ยงไส้เดือน เวลาปลูกผักต้องใช้น้ำเยอะ ก็เลยทดลองทำระบบกรองน้ำแบบง่ายๆ ด้วยทรายหยาบ ถ่าน และทรายละเอียด และกรองน้ำที่ใช้แล้ว เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ตอนน้ำท่วมเราเคยนำระบบเหล่านี้ไปช่วยชุมชน นี่คือส่วนที่เราคิดว่าจำเป็น เพราะในเมืองแค่น้ำไม่ไหล ไฟฟ้าดับ ก็อยู่ไม่ได้แล้ว เราพยายามทำให้เห็นว่า ปัญหาสามารถเบาบางลงได้ด้วยการพึ่งพิงตนเอง

โดยเน้นเทคโนโลยีแบบง่ายๆ ?

สวนผักบ้านคุณตาได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนมากมาย คนนึกไม่ถึงว่า พื้นที่ขนาดนี้ทำอะไรได้เยอะแยะ เราทำให้เห็นว่าการใช้พื้นที่จำกัดมีความยืดหยุ่นสูง ถ้าทำแบบปราณีตเข้มข้น ก็สามารถพึ่งพิงตนเองได้เต็มร้อย ที่นี่มีคนเข้ามาเดือนละร้อยกว่าคน เสียค่าน้ำและไฟเดือนละไม่กี่ร้อยบาท เลี้ยงไก่วันละสิบตัวมีไข่กินทุกวัน หลายอย่างเพียงพอ แต่บางอย่างก็จำเป็นต้องซื้อ

ปัจจัยอะไรที่เป็นอุปสรรคในการพึ่งพิงตนเอง ?

ความไม่แน่นอนของฤดูกาล ฤดูหนาวปีก่อน ฝนตกเกือบตลอดปี สลับกับอากาศร้อน ทำให้พืชผักที่เคยปลูกได้ดีมีปัญหาเรื่องแมลง จึงต้องพัฒนาเทคนิคการปลูก โดยใช้โรงเรือนกึ่งเปิดกั้นน้ำฝนที่ตกลงมา หรือช่วงฝนแรงทำให้หน้าดินเสื่อมสภาพ เราก็เพิ่มพื้นที่ปลูกผักในร่ม โดยใช้หลอดไฟจากพลังงานโซลาเซลล์ เราพยายามใช้นวัตกรรมที่เหมาะสม ไม่ใช้เทคโนโลยีที่แพงเกินไป

ตอนนี้นำนวัตกรรมอะไรมาใช้

เรากำลังทำเรื่องการเพาะต้นอ่อนจากหลอด LED และช่วงฤดูฝนจะปลูกผักได้น้อยกว่าปกติ เพราะแดดน้อย เราก็เลยใช้พลาสติกบังไม่ให้ปะทะฝน เราใช้แสงจากหลอด LED มาช่วยทำให้ผักเจริญเติบโต ช่วงฤดูฝน เราก็จะปลูกผักอายุสั้น ต้นอ่อนทานตะวัน ถั่วงอก ผักที่มีใบสีเขียวต้องมีแสงสว่างให้มันบ้าง เพาะแค่หนึ่งสัปดาห์ก็บริโภคได้แล้ว และเทคโนโลยีที่เราคิดไม่ใช่เรื่องใหม่ เราทำมานานแล้ว 

ทำไมสวนผักบ้านคุณตา จึงได้รับการคัดเลืือกไปแสดงที่เยอรมัน

ปีที่แล้วองค์กรสาธารณะกุศลในเยอรมันที่ทำด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม อยากให้ประเทศต่างๆ นำเสนอผลงานเกษตรในเมือง เพื่อจัดประชุม Urban Farming ในปีนี้ โดยประเทศต่างๆ ส่งผลงานเข้ามาร่วมกว่า 100 โครงการ และคัดเลือกไว้ 50 แห่ง  ทางสวนผักบ้านคุณตาก็เขียนโครงการที่ทำส่งเข้าไป จนได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมประชุมที่กรุงเบอร์ลิน วันที่ 11-13 กันยายนนี้ เพื่อช่วยกันสร้างเครือข่าย ส่งเสริมการทำการเกษตรในเมือง

เพราะในอนาคตประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 8-9 พันล้านคน และส่วนใหญ่จะอยู่ในเมือง ซึ่งมีความเสี่ยงเรื่องอาหารปลอดภัย และใน 30 ปีข้างหน้า คนในเมืองจะเจอปัญหาเรื่องอาหารแพง ดังนั้นการส่งเสริมให้มีพื้นที่ปลูกพืช น่าจะเป็นนโยบายหลักของประเทศในอนาคต

โมเดลสวนผักบ้านคุณตาจะขยายต่อไปอย่างไร

น่าจะมีการขยายตัวในระดับโครงสร้าง เมื่อมีการออกแบบเมืองชัดเจนมากขึ้น ควรมีการจัดสรรที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ของเอกชนและรัฐให้ประชาชนใช้พื้นที่ระยะสั้นหรือระยะยาว ในต่างประเทศมีการทำแบบนี้แล้ว เราก็อยากทำงานส่วนนี้ ตอนนี้มีภาคเอกชนและบริษัทอสังหาริมทรัพย์ให้เราเป็นที่ปรึกษาฝึกอบรมการเกษตรในเมือง ในพื้นที่ก่อสร้างที่มีคนหลายชาติ เพื่อให้พวกเขามีผักปลอดภัยบริโภค ประหยัดค่าใช้จ่าย

2-3 ปีที่ผ่านมา คนอยากทำการเกษตรมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบท โดยเฉพาะคนเกษียณอายุ อยากทำเรื่องเหล่านี้ แต่ขาดทักษะและความรู้ ทำให้หลายคนล้มเหลว เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เนื่องจากภูมิอากาศแปรปรวน แต่เราทำเรื่องนี้มาตลอด ก็พยายามอบรมให้ความรู้

เรื่องอะไรที่น่าเป็นห่วงในยุค 4.0

เวลาพูดถึงยุค 4.0 คนส่วนใหญ่มองไปที่เทคโนโลยีมากกว่าความรู้ความสามารถ เรื่องที่น่าห่วงคือ ฟาร์มขนาดใหญ่ การปลูกพืชผักแนวตั้งในพื้นที่จำกัด หรือระบบไฮโดรโปนิกส์ที่ใช้สารเคมี ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และหุ่นยนตร์ เพื่อแก้ปัญหาการผลิตอาหารสำหรับคนยุคปัจจุบันและอนาคต เรื่องเหล่านี้ในสิงคโปร์ ญี่ปุ่น รัสเซียและอเมริกาทำแล้ว

ไฮโดรโปนิกส์สมัยก่อน ปลูกในพื้นที่แนวราบ ใช้แสงจากธรรมชาติและใส่สารเคมีในน้ำ แต่ตอนนี้ปลูกในแนวตั้งเป็นชั้นๆ ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการให้น้ำและปุ๋ย ช่วงเวลาให้แสงและการเก็บเกี่ยว และเริ่มมีในเมืองไทยแล้ว

การใช้เทคโนโลยี ทำให้ผลิตอาหารได้เยอะ ? 

เพิ่มผลผลิตในพื้นที่จำกัดได้ก็จริง แต่บั่นทอนศักยภาพมนุษย์ ต่อไปคนจะปลูกผักไม่เป็น เพราะเทคโนโลยีทำให้หมด เหมือนทักษะการถ่ายภาพ ถ่ายออกมาสวยหมด เพราะเทคโนโลยี ทำให้คนขาดการพัฒนาความรู้และความสามารถ 

การเกษตรก็เหมือนกัน สมัยก่อนดูดินฟ้าอากาศ รู้วิธีการแก้ปัญหา แต่ต่อไปจะพึ่งพิงเทคโนโลยีทั้งหมด คนที่พัฒนาโปรแกรมก็คือ ประเทศตะวันตกที่จะควบคุมเทคโนโลยีในระยะยาว ทั้งๆ ที่คนไทยเก่งการเกษตร อย่างการพัฒนาด้านจุลินทรีย์พวกน้ำหมัก สภาพอากาศบ้านเราเอื้ออำนวย ซึ่งประเทศเราได้เปรียบ ถ้าเอามาปรับใช้กับเทคโนโลยีก็จะดี

ดังนั้นเรื่องที่ผมห่วง ไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องทักษะความสามารถของคนไทย จะถูกบั่นทอนไปเรื่อยๆ

.........................................

  หมายเหตุ ดูเฟสบุ๊คได้ที่ สวนผักบ้านคุณตา