แม่ครู ผู้ผลักดันแชมป์ดนตรีไทย

แม่ครู ผู้ผลักดันแชมป์ดนตรีไทย

“เคยมีครูที่อื่นมาดูว่า ทำไมเด็กที่นี่ได้รางวัลเยอะมาก ทั้งๆ ที่ไม่มีงบประมาณ และที่ทำแบบนี้ได้ เขาบอกว่า ถ้าครูไม่เสียสละและครูดนตรีไม่เก่ง เรื่องนี้ไม่เกิด”

 

..........................

ว่ากันว่า ครูดีๆ เด็กไทยเก่งๆ มีอยู่เยอะ แต่ไม่ค่อยมีการบอกเล่าให้สาธารณชนรับรู้

อรุณรัตน์ ศักดิ์ภิรมย์ ครูโรงเรียนบ้านจันทึง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร หนึ่งในครูดี ซึ่งสังคมไม่รู้จัก

เธอเป็นครูธรรมดาๆ สอนชั้นประถมที่ 4-6 วิชาคณิตศาสตร์และศิลปะ แต่สามารถทำให้เด็กๆ ชนะเลิศการแข่งขันดนตรีไทยระดับประเทศได้ ได้รางวัลทั้งการแสดงเดี่ยวและระดับวงดนตรีไทย รวมถึงรางวัลศิลปะการแกะสลักผักผลไม้อีกนับไม่ถ้วน

เธอเจียดเงินส่วนตัวให้เด็กๆ ได้เรียนดนตรีไทยและการแกะสลักผลไม้ รวมถึงให้ทุนเรียนในระดับที่สูงขึ้น...นั่นไม่ใช่เพราะเธอมีทุนทรัพย์ แต่เธอเชื่อว่า เด็กๆ สามารถพัฒนาศักยภาพได้ ถ้ามีผู้ใหญ่สนับสนุน และเธอเองก็ไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ ขอเพียงเด็กๆ ที่มาเรียนกลายเป็นผู้ให้สอนน้องๆ รุ่นถัดไป

ครูอรุณรัตน์ไม่ได้เรียนด้านดนตรีไทย แต่ทำไมทำให้เด็กๆ เก่งดนตรีไทย และการแกะสลักผักผลไม้ จนได้รางวัลมากมาย ทั้งๆ ที่โรงเรียนนี้ไม่มีครูประจำที่สอนดนตรีไทย และไม่มีงบประมาณจัดซื้อเครื่องดนตรีไทยชิ้นใหม่ ไม่มีงบประมาณพานััักเรียนไปแข่งขัน 

เพราะเธอและครูอรสา แซ่อ้วง แบ่งเงินเดือนอันน้อยนิด ทุกๆ เดือนของพวกเธอ มาจ้างครูดนตรีไทยที่ร่ำเรียนตามหลักดนตรีและครูภูมิปัญญาในหมู่บ้าน โดยไม่รอคอยงบประมาณจากรัฐ ไม่เรียกร้องสิ่งใด ไม่กล่าวโทษระบบการศึกษา และโทษโชคชะตาของเด็กชนบทที่ไม่มีเงินเรียนดนตรี

เมื่อไม่มีงบ อยากทำสิ่งนี้เพื่อเด็กๆ ก็เจียดเงินเดือนลงขันร่วมกับครูร่วมอุดมการณ์ และหางบมาสนับสนุน แม้จะได้งบจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพรปีละห้าหมื่นบาทสองปีติดกัน แต่เธอบอกว่า ปีต่อไปคงไม่ได้งบส่วนนี้แล้ว แต่ก็ยังทำโครงการนี้ต่อไป เพื่อให้เด็กได้ฝึกและเรียนดนตรีไทย

เธอบอกว่า ถ้าจะให้เด็กเก่งดนตรี ไม่ใช่แค่ฝึกในชั่วโมงเรียนเท่านั้น เด็กๆ ต้องฝึกฝนหลังเลิกเรียนทุกวัน ไม่ต่างจากการแกะผักผลไม้ แม้ผักผลไม้ที่แกะทิ้งจะใช้เงินไม่ใช่น้อย แต่เธอและเพื่อนครูก็ยอมลงทุน

“เราเองก็เล่นดนตรีไม่เป็น แต่ชอบ เพราะข้างบ้านมีคนเล่นซอ ขลุ่ย หนังตะลุง จึงทำให้คุ้นเคยกับดนตรีไทย จำได้ว่าปี 2551 มีครูเกษแก้ว ประพฤติดี สอนประวัติศาสตร์ มาที่โรงเรียน มีความรู้เรื่องดนตรีไทย เราก็เอาเครื่องดนตรีเก่าๆ ที่โรงเรียนมาปัดฝุ่น ให้ครูช่วยสอนหลังเลิกเรียน และจ้างครูภูมิปัญญาในหมู่บ้านมาสอนเพิ่ม”

เมื่อให้เด็กๆ หัดเล่นดนตรีไทย ก็ต้องหาเวทีให้แสดง เธอพาไปแข่งขันตั้งแต่ระดับจังหวัด เขต และระดับประเทศ

“ถ้าให้เรียนกับครูดนตรีไทยที่ไม่ได้เรียนอย่างถูกต้องตามหลักสูตร จะพาไปแข่งขันคงสู้พวกเขายาก เราจึงจ้างครูดนตรี ตอนนั้นได้นักศึกษาที่เรียนสาขาดนตรีไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สองสามคนมาช่วยสอน จนทุกวันนี้ครูอภิวัฒน์ นวลสิริ ซึ่งเคยเป็นนักศึกษาช่วยสอน ก็ยังสอนให้เด็กๆ เพราะครูก็มีใจอยากช่วย “

สี่ปีที่ครูทั้งสองต้องเจียดเงินเดือนตัวเอง เดือนละห้าพันบาทมาช่วยผลักดันเรื่องการสอนดนตรีและการแข่งขันตามที่ต่างๆ โดยมีงบจากองค์การบริหารจังหวัดมาช่วยสนับสนุนบ้าง

“พอเด็กๆ ได้รางวัลจากการแข่งขันดนตรีไทยกลับมา พ่อแม่ก็ยอมรับ และตอนนี้ทุกชั้นตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถม 6 เด็กๆ จะได้เรียนดนตรีไทย ปัจจุบันตั้งเป็นชุมนุมดนตรีไทย เด็กที่สนใจก็มาเรียนนอกเวลาเรียน มีประมาณ 24 คน “

เหมือนเช่นที่กล่าวมา ดนตรีเป็นเรื่องทักษะ ต้องซ้อมเยอะๆ รวมถึงมีครูดนตรีดีๆ ช่วยสอน และผู้สนัับสนุนให้เด็กๆ ได้เรียนดนตรีไทยจนถึงที่สุด

และนั่นคือ สิ่งที่ครูรัตน์และครูอรพิณ ครูอภิวัฒน์ ฯลฯ ช่วยกันผลักดัน

“ดนตรีไม่เหมือนศาสตร์อื่น ต้องซ้อมเยอะๆ บางทีก็เอาเด็กเข้าค่ายดนตรีเลย เราก็มาหุงหาอาหาร จัดที่นอนให้ ผู้ปกครองก็มาช่วย และถ้าเด็กอยากเล่นเครื่องดนตรีชิ้นไหน ก็ให้เด็กเลือก เคยมีครูที่อื่นมาดูว่า ทำไมเด็กที่นี่ได้รางวัลเยอะมาก ทั้งๆ ที่ไม่มีงบประมาณ ที่ทำแบบนี้ได้ เขาบอกว่า ถ้าครูไม่เสียสละและครูดนตรีไม่เก่ง เรื่องนี้ไม่เกิด” ครูอรุณรัตน์ เล่าและบอกว่า

“เคยบอกเด็กๆ ว่า เรียนจบไปแล้ว อย่าทิ้งดนตรีไทย ปัจจุบันมีนักเรียนที่เรียนที่นี่กลับมาเล่นดนตรีและสอนน้องๆ บ้าง และมีเด็กผู้หญิงหัดเล่นระนาดสองราง แรกๆ เราก็ให้ระนาดเก่าๆ ที่ไม่สามารถบรรเลงได้นำกลับไปซ้อมที่บ้าน และทำหนังสือขอความอนุเคราะห์โรงเรียนที่เด็กเรียนอยู่ในระดับมัธยมให้เด็กได้ฝึกซ้อมดนตรีที่โรงเรียน”

ไม่ใช่แค่ทำให้เด็กเหล่านี้เล่นดนตรีไทยจนถึงระดับประเทศ เธอยังให้โอกาสเด็กๆ ที่สนใจศิลปะแขนงอื่นๆ ด้วย

“เราเองก็แกะผักผลไม้ได้ ก็เอามาสอนเด็ก เด็กเกเรก็มานั่งแกะผักผลไม้ดีกว่าเล่นเกม และเวลานั่งแกะ พวกเขามีสมาธิดีมาก “

ถ้าจะแกะสลักผักผลไม้ได้ดี ครูอรุณรัตน์ บอกว่า แค่ในชั่วโมงเรียนไม่พอหรอก หากเด็กคนไหนสนใจก็มาเรียนนอกเวลา โดยเธอและครูอีกคนลงทุนซื้อผักผลไม้มาให้แกะครั้งแล้วครั้งเล่า

“ในหลักสูตรมีเวลาน้อยมาก เราเห็นว่า เด็กๆ คงไม่ได้พัฒนาศักยภาพเต็มที่ จึงต้องจัดเวลาเพิ่ม “

เธอบอกว่า เงินที่เจียดเพื่อการเรียนรู้ให้เด็กๆ แม้จะทำให้มีเงินใช้จ่ายในชีวิตน้อยลง แต่เธอก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะคนชนบทไม่ได้ใช้เงินเยอะ

และเธอหวังแค่ว่า ขอมีเด็กสักคนที่ไปถ่ายทอดการแกะสลักผักผลไม้ต่อ หรือเด็กที่เก่งดนตรีกลับมาสอนน้องๆ บ้าง และในอนาคตหวังว่า จะมีครูดนตรีไทยประจำโรงเรียน

“เมื่อเลือกที่จะเป็นครูแล้ว ถ้าจะให้ ก็ต้องให้จริงๆ อย่าคิดว่าให้เพราะอยากได้เงินเดือนขึ้น และเด็กๆ ไม่ต้องมาตอบแทนครู "