กสทช.ดีเดย์ประมูลคลื่นรอบใหม่ม.ค."61

กสทช.ดีเดย์ประมูลคลื่นรอบใหม่ม.ค."61

กสทช.ร่ายหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า ยืนกรอบเวลาเดิมย่าน 900 และ 1800 เมกเริ่มกระบวนการต.ค.นี้ ทั้งจัดทำหลักเกณฑ์-คำนวณมูลค่าส่งไปประชาพิจารณ์ คาดเริ่มเคาะราคาประมูลได้ต้นปี 61 แน่นอน คุยประมูลอย่างต่ำได้ 4 ใบอนุญาตเงินสะพัด 1.55 แสนล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ตามแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ของสำนักงานกสทช.มีแนวคิดที่จะนำคลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ มาประมูลก่อนคลื่นย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ของบมจ.อสมท เนื่อจากเห็นว่า การประมูลคลื่น 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์นั้น น่าจะทำได้รวดเร็วมากกว่าและไม่มีปัญหาด้านข้อกฎหมายมากกว่า เนื่องจากเป็นการประมูลล่วงหน้าก่อนที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 

โดยคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกกะเฮิรตซ์ อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม กับบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ที่ใช้งานอยู่จำนวน 45 เมกกะเฮิรตซ์ โดยจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 30 กันยายน 2561 และคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกกะเฮิรตซ์ จำนวน 10 เมกกะเฮิรตซ์ กับบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น สิ้นสุดสัญญาสัมปทานในช่วงเดียวกัน

ทั้งนี้ กสทช.จะเริ่มต้นกระบวนการนำคลื่นทั้ง 3 ย่าน มาประมูลพร้อมกันในเดือนตุลาคมนี้ โดยจะเริ่มจัดทำร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ของคลื่น 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ก่อน ขณะที่จะเริ่มดำเนินการประเมินมูลค่า และจัดทำหลักเกณฑ์ในการเยียวยาการขอคืนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ไปพร้อมกัน โดยกสทช. คาดว่าการขอคืนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ อาจจะต้องใช้เวลาในการเจรจาหาข้อยุติเกี่ยวกับมูลค่าคลื่นและกรอบวงเงินเยียวยา

ดังนั้น หากนำคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ มาประมูลก่อนอาจทำให้การประมูลล่าช้าไม่ทันกับความต้องการของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ กสทช.คาดว่าจะสามารถร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่น 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เสร็จสิ้นเพื่อไปรับฟังความคิดเห็นได้ภายในเดือนพฤศจิกายน เพื่อเข้าสู่กระบวนการชี้แจงและเชิญผู้สนใจเข้าประมูล โดยการเคาะราคาน่าจะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2561 จากนั้นจะเปิดโอกาสให้ทำการโอนย้ายลูกค้า ก่อนที่จะมีการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญษตและส่งมอบคลื่นประมาณเดือนมีนาคม

“สำหรับคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ คาดว่าจะเริ่มกระบวนการประมูลได้จริงประมาณกลางปี 2561 ซึ่งหากเรื่องมูลค่าคลื่นและการเยียวยาตกลงกันได้ก่อนก็สามารถนำมาประมูลต่อจากคลื่น 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ได้เลย กสทช.ประเมินว่าจะมีใบอนุญาตที่เปิดประมูลของคลื่น 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 4 ใบ และน่าจะทำรายได้อย่างน้อย 155,000 ล้านบาท ” นายฐากร กล่าว

อย่างไรก็ดี หลังการประมูลคลื่นความถี่เสร็จสิ้นกสทช.จะต้องนำรายได้จากการประมูลคลื่น 20% ส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนที่เหลือจะส่งให้กระทรวงการคลังเพื่อเป็นเงินของแผ่นดินเช่นเดียวกับการประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 2 ครั้งก่อนหน้านี้