ชาวบ้านตำบลคลองเขม้า ผวาไก่ตายปริศนาหลายพันตัว

ชาวบ้านตำบลคลองเขม้า ผวาไก่ตายปริศนาหลายพันตัว

ชาวบ้านคลองเขม้า จ.กระบี่ ผวาไก่ตายปริศนาไม่ทราบสาเหตุ ด้านปศุสัตว์เร่งเก็บซากไก่ทำลายร่วม 6,000 ตัวพร้อมเตือนชาวบ้านอย่าตื่นตระหนกไข้หวัดนก

วันที่ 12 ก.ย.60 ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลคลองเขม้า อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ แจ้งว่า ไก่ที่เลี้ยงไว้ในฟาร์มทยอยตายจำนวนมาก โดยไม่ทราบสาเหตุเบื้องต้นได้ มีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด นำไก่ที่ยังไม่ตายจากฟาร์มต่างๆของชาวบ้านไปฆ่า และทำลายแล้วจำนวนหลายพันตัว แต่ยังไม่ทราบว่ามีสาเหตุมาจากอะไร หรือมีการติดเชื้อโรคระบาดหรือไม่ ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดความกังวลเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันมีชาวบ้านที่เลี้ยงไก่บางรายก็มีอาการป่วยด้วย

นายปราโมทย์ สันหาด อายุ 47ปี อยู่บ้านเลขที่ 16 ม.2 ต.คลองเขม้า เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาตนได้เลี้ยงไก่ไข่มานาน ได้รับแจ้งจากกลุ่มเกลี้ยงไก่ ในหมู่บ้าน ตามโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ว่าให้สมาชิกในหมู่บ้านไปรับพันธุ์ไก่ลูกผสมสามสายพันธ์ มาเลี้ยง รายละ 30 ตัว ตนจึงไปเอามาเลี้ยงโดยทำเล้าแยกไว้ เพราะมีไก่เป็นไข้ที่ตัวเองเลี้ยงอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว หลังจากผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ ปรากฏว่า ไก่ในโครงการฯ ที่เลี้ยงไว้ได้ทยอยป่วยตาย วันละ 3-4 ตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงแจ้งเจ้าหน้าของโครงการรับทราบ จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ก็ขอให้นำไก่ที่เหลือไปเข้าโครงการทำลาย เพื่อป้องกันการระบาด ของโรค แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่แจ้งให้ทราบว่าไก่ป่วยตายด้วยโรคอะไร

ด้านนายวสูตร อินทรกำเนิด นายอำเภอเหนือคลอง กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นทางอำเภอได้รับรายงานงานแล้ว เป็นไก่ในโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ซึ่งโครงการดังกล่าว ดำเนินการโดยชุมชน ไม่ได้ผ่านหน่วยงานของรัฐ แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้มีการนำไก่ที่ติดเชื้อไปทำลายแล้ว เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุว่า ไก่ตายมาจากสาเหตุใด ซึ่งจะต้องรอผลการตรวจสอบที่แน่ชัดของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อีกครั้ง

นายจุลชาติ จุลเพชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า กรณีไก่ป่วยตาย เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งทยอยตายทุกวันฟาร์มละ 5-10 ตัว หลังทราบเรื่องทางเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบทำลายไก่ต้องสงสัยติดเชื้อไปแล้วจำนวนกว่า 6,000 ตัว ในตำบลคลองเขม้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไก่พื้นเมืองพันธุ์ผสม ที่ชาวบ้านรวมกลุ่มกันและไปซื้อเอง แต่นำเข้ามาโดยไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบของปศุสัตว์

ส่วนโรคระบาดที่พบเป็นโรคหวัดหน้าบวม จึงต้องฆ่าทำลายทั้งหมด โดยไก่ที่ถูกทำลาย ทางปศุสัตว์ก็จะจ่ายเงินคืนให้ชาวบ้านในราคา กิโลกรัมละ 80 บาท ตามระเบียบของกรมฯ ส่วนกรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่ป่วยนั้นเป็นการป่วยโรคหวัด ตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เพราะเป็นช่วงหน้าฝน ไม่ได้ติดเชื้อจากสัตว์สู่คน หรือเป็นไข้หวัดนกแต่อย่างใด ขอให้ชาวบ้านอย่าได้วิตกกังวล ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพ่นยาฆ่าเชื้อในฟาร์มเลี้ยงไก่ต่อไป