วิกฤติ ‘ไอคิวดิจิทัล’ ท้าทายการลงทุนโลกธุรกิจ

วิกฤติ ‘ไอคิวดิจิทัล’ ท้าทายการลงทุนโลกธุรกิจ

เปรียบเทียบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจไทยนับว่ามีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับดิจิทัลขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้น ทว่าความเข้าใจเชิงลึกและการประยุกต์ใช้ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับเริ่มต้นเท่านั้น ไม่ถึงขั้นเปลี่ยนโฉมธุรกิจแบบดั้งเดิมไปเลย

“วิไลพร ทวีลาภพันทอง” หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท พีดับบลิวซี ประเทศไทย แสดงความคิดเห็น พร้อมกับเผยว่า แม้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาผู้บริหารทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและลงทุนด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้จากผลสำรวจด้านไอคิวดิจิทัลประจำปี 2560 หรือ “2017 Global Digital IQ Survey” องค์ทั่วโลกยังคงเผชิญปัญหาในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนด้านดิจิทัล และยังคงมองข้ามการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นพื้นฐานเข้ากับประสบการณ์ของมนุษย์

โดยทุกวันนี้หลายองค์กรเริ่มตื่นตัวและตระหนักว่า หากพวกเขาไม่นำดิจิทัลเข้ามาใช้ อาจจะส่งผลกระทบและทำให้สูญเสียโอกาสให้แก่คู่แข่ง จึงได้เห็นองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่ง เริ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล รวมไปถึงการสรรหาพนักงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลเข้ามาร่วมงาน

“ความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับดิจิทัลในบางองค์กรยังไม่สูงมากนัก การประยุกต์ใช้ดิจิทัลส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับแรกเริ่มและส่วนมากจะเป็นการนำมาใช้เพื่อส่งเสริมสินค้าและบริการให้ดีขึ้นมากกว่า”

โดยมีการคาดการณ์ว่า ใน 6-7 ปีข้างหน้า จะเริ่มเห็นองค์กรต่างๆ เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างธุรกิจ ฟังชันก์การทำงาน ให้เข้าสู่ระบบนิเวศน์ดิจิทัล ซึ่งจะก่อให้เกิดการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ รวมไปถึงสินค้าและบริการบนดิจิทัลที่สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค

เป็นมากกว่า “ดิจิทัล”

ประเด็นที่น่าสนใจพบว่า บทบาทของลูกค้า พนักงาน ผู้บริหารระดับสูง และความสามารถของพวกเขาในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงและการประยุกต์ใช้ดิจิทัล และเทคโนโลยีเกิดใหม่ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการพัฒนาองค์กร

โดย 82% ขององค์กรที่มีผลการดำเนินงานดีเป็นอันดับต้นๆ มีความเข้าใจถึงบทบาทของประสบการณ์ของมนุษย์ต่อเทคโนโลยีดิจิทัลและ 74% ระบุว่า มีแนวโน้มที่จะนำบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาทำงานร่วมกันในโปรเจ็กที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ เทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ความพึงพอใจของผู้ใช้งาน

องค์กรที่มีผลการดำเนินงานเป็นเลิศเข้าใจคำนิยามของคำว่า “ดิจิทัล” ว่าเป็นมากกว่าที่เห็น มีเพียงแค่ 16% ขององค์กรที่มีผลการดำเนินงานที่ดีเป็นอันดับต้นๆ เท่านั้นที่ระบุว่า “ดิจิทัล” และเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอที นั้นเหมือนกัน ขณะที่ 30% องค์กรที่มีผลการดำเนินงานต่ำกว่า ระบุว่า ดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นเหมือนกัน

ผู้บริหารล้าหลัง

แม้ว่าการมีส่วนร่วมของระดับบริหารจะมีส่วนผลักดันให้การลงทุนด้านดิจิทัลเติบโตในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังคงล้าหลังในเรื่องการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ดิจิทัล แม้กระทั่งในปีนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 68% เท่านั้นที่ระบุว่าซีอีโอของพวกเขาเป็นผู้นำด้านดิจิทัล

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังบอกว่า ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายอื่นๆ ก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ดิจิทัลเท่าที่ควรด้วย

ปัจจุบัน ผู้บริหารส่วนใหญ่มองว่าการคิดริเริ่มโครงการเกี่ยวกับดิจิทัลจะมีผลกระทบที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะมีไอคิวดิจิทัลสูงหรือไม่ก็ตาม โดย 73% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ประโยชน์สูงสุดจากการริเริ่มนำดิจิทัลมาใช้จะช่วยให้รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้น ขณะที่ 47% มองว่ากำไรจะเพิ่มขึ้น และ 40% ระบุว่า ดิจิทัลจะช่วยลดต้นทุน

ขณะที่ การลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มีองค์กรเพียงไม่กี่รายที่มีฝ่ายรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการคิดค้นละพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ โดย 49% ยังคงเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ จากเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่มีพร้อมอยู่แล้ว มากกว่าที่จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่เดินหน้าทดลองหรือค้นคว้าเองเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจตนเอง

การมีไอคิวดิจิทัลสูง นับเป็นการผสมผสานและต่อจิ๊กซอว์ทุกชิ้นของธุรกิจให้ลงตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวบริษัท ลูกค้า ประสบการณ์ของพนักงาน เทคโนโลยี เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน และเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน