ไร้สัญญาณ 'ยิ่งลักษณ์' สั่งเดินหน้าคดี!!

ไร้สัญญาณ 'ยิ่งลักษณ์' สั่งเดินหน้าคดี!!

"ทนายความ" เผยไร้สัญญาณ "ยิ่งลักษณ์" สั่งเดินหน้าคดี ลุ้นศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังคดีโครงการรับจำนำข้าว 27 ก.ย.นี้

นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในวันที่ 27 ก.ย. ที่ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองนัดอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า วันนั้นไม่ว่าตัวจำเลยจะเดินทางไปฟังคำพิพากษาหรือไม่ ศาลฎีกาก็จะต้องอ่านคำพิพากษาอยู่ดี ส่วนเรื่องหลักทรัพย์ที่ยื่นประกันตัวจำนวน 30 ล้านบาทตั้งแต่แรก ศาลสั่งปรับเต็มตามจำนวนไปตั้งเเต่วันที่ 25 ส.ค. ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มาฟังคำพิพากษาแล้ว ถึงเเม้วันที่ 27 ก.ย.จำเลยจะมาฟังคำพิพากษาหรือไม่นั้นตรงนี้ไม่เกี่ยวกัน เพียงเเต่ว่าถ้ามีเหตุจำเป็นเเล้วได้มาเเสดงตัวในภายหลังก็สามารถร้องต่อศาลขอลดค่าปรับคืนได้บ้าง เเต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล 

"น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่มีการติดต่อมาแต่อย่างใด ส่วนเรื่องคดีไม่สั่งการอะไรลงมา ก็เป็นหน้าที่ของทนายความที่จะต้องดำเนินการอยู่เเล้ว เพราะเมื่อเเต่งตั้งทนายความเข้าไปในคดี ไม่ว่าตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์จะอยู่หรือไม่อย่างไรเราก็จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่ต้องทำ" นายนรวิชญ์ กล่าว

ทั้งนี้ การไปฟังคำพิพากษาลับหลังในวันที่ 27 ก.ย. นั้นไม่เกี่ยวกับการอุทธรณ์ เนื่องจากตามหลักกฎหมายเพียงกำหนดให้ต้องมีตัวจำเลยในวันยื่นอุทธรณ์ ถึงเเม้ในวันฟังคำพิพากษาตัวจะไม่ได้มาฟัง เเต่ถ้าจะยื่นอุทธรณ์ที่ตามกฎหมายกำหนดไว้ 30 วัน หากจะยื่นอุทธรณ์ต้องมีตัวจำเลย มาปรากฎต่อหน้าศาลจึงจะสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ ส่วนหากศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง หากอัยการโจทก์ประสงค์อุทธรณ์กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ตัวโจทก์ต้องปรากฎต่อหน้าศาลก็ได้ ตามกฎหมายถ้ายกฟ้องเเล้วอัยการโจทก์ยังประสงค์ยื่นอุทธรณ์  ทนายความย่อมสามารถเเก้อุทธรณ์ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ระบุว่าตัวจำเลยต้องปรากกฎต่อหน้าศาลหากเเก้อุทธรณ์ และหากศาลยกฟ้องโจทก์ เเต่อัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ถือว่าอยู่ในอำนาจศาลต่อไป

นายนรวิชญ์ ยังกล่าวอีกว่า ถ้าอัยการโจทก์ ยื่นอุทธรณ์ถือว่าคดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด เเต่ถ้าศาลยกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เเละไม่ได้มีคำสั่งให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์ก็ถือว่าปล่อยขาด ตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับมาศาลก็ไม่สามารถควบคุมตัวได้ ไม่ต้องรายงานตัวหรือยื่นประกันใหม่

"ส่วนใหญ่ถ้ายกฟ้องศาลจะพิพากษาอยู่ 2 เเนวคือยกฟ้องขาดเลย หรือบางทียกฟ้องเเต่ให้ขังระหว่างอุทธรณ์ก็มีเหมือนกัน เเต่ถ้าให้ขังระหว่างอุทธรณ์เเล้วโจทก์ไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อในกำหนด 30 วันตามกฎหมายก็ปล่อยขาดเหมือนกัน ส่วนถึงศาลจะยกฟ้องหลักทรัพย์ประกันตัวก็จะไม่ได้คืนเพราะถือเป็นคนละเรื่องกัน เเต่จะให้โอกาสจำเลยร้องขอลดค่าปรับได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทำกันมา" นายนรวิชญ์ กล่าว