ไวรัสลงกระเพาะ โรคที่ควรระวัง ในเด็กเล็ก

ไวรัสลงกระเพาะ โรคที่ควรระวัง ในเด็กเล็ก

กรมการแพทย์เตือนอากาศเปลี่ยน ฝนตกชุก ผู้ปกครองควรระวังสุขภาพของลูกเป็นพิเศษ โดยหมั่นทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ ดูแลอาหารการกิน ล้างมือทุกครั้งหลังขับถ่าย เพราะหากสกปรกหรือมีเชื้อโรค อาจทำให้เกิดโรคไวรัสลงกระเพาะและลำไส้ อันตรายถึงชีวิต

กรมการแพทย์เตือนอากาศเปลี่ยน ฝนตกชุก ผู้ปกครองควรระวังสุขภาพของลูกเป็นพิเศษ โดยหมั่นทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ ดูแลอาหารการกิน ล้างมือทุกครั้งหลังขับถ่าย เพราะหากสกปรกหรือมีเชื้อโรค อาจทำให้เกิดโรคไวรัสลงกระเพาะและลำไส้ อันตรายถึงชีวิต


นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ระยะนี้ประเทศไทยมีฝนตกชุก อากาศชื้น ทำให้เชื้อโรคชนิดต่างๆสามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายน้อย ส่งผลให้เจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งโรคที่พบบ่อยในช่วงปลายฝนต้นหนาว คือ โรคไวรัสลงกระเพาะหรือโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ โดยเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุของโรคมีหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี คือ เชื้อไวรัสโรตา(Rotavirus) ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 16 ถึง 58 เชื้อโรคชนิดนี้สามารถอยู่ในสภาวะแวดล้อมทั่วไปได้นาน แฝงอยู่กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น จาน ชาม บริเวณพื้นที่ไม่สะอาด อาหารที่รับประทานเข้าไป หรือได้รับเชื้อจากผู้ป่วยโดยตรง

หลังจากได้รับเชื้อเด็กจะมีอาการเหมือนไข้หวัด คือ มีไข้ ตัวร้อน น้ำมูกไหล หรือไอร่วมด้วย อาการที่เด่นชัด คือ อาเจียน ตั้งแต่เล็กน้อยถึงขั้นรุนแรง ซึ่งอาจจะมีอาการท้องอืดร่วมด้วย นอกจากนี้ เด็กจะไม่อยากรับประทานอาหารและมีอาการถ่ายเหลวถ่ายบ่อยตามมา ซึ่งอาการที่กล่าวมานี้ ผู้ปกครองสามารถดูแลด้วยการประคับประคองไม่ให้เป็นมากกว่าเดิม คือ 1.เมื่อมีไข้ ควรเช็ดตัว และให้ยาลดไข้ 2.ถ้าอาเจียน อาจให้ดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อรักษาและป้องกันภาวะขาดน้ำ 3.ดื่มนมและรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายและที่สำคัญ ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติ เช่น เด็กไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ปัสสาวะน้อยลง มีอาการซึม งอแง ถ่ายบ่อย อาเจียนบ่อยครั้ง อาจทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง ให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วเพราะหากให้น้ำเกลือไม่ทัน อาจจะรุนแรงจนทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าเด็กโต เพราะภูมิต้านทานน้อยและตัวเล็กกว่า


นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันไวรัสลงกระเพาะที่มีวัคซีนป้องกัน คือ วัคซีนป้องกันการติดเชื้อทางเดินอาหารจากเชื้อไวรัสโรตา ซึ่งจัดอยู่ในประเภทวัคซีนทางเลือก แต่มีราคาสูงและไม่สามารถป้องกันครอบคลุมเชื้อโรคได้ทั้งหมด ผู้ปกครองจึงควรมุ่งเน้นป้องกันด้วยการเลี้ยงดู เช่น สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แก่เด็กโดยการให้ดื่มนมแม่ เพราะในนมแม่มีสารต้านไวรัสและแบคทีเรียชนิดต่างๆ รวมถึงลดโอกาสการปนเปื้อนจากภาชนะที่ไม่สะอาด รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ หรืออุ่นอาหารให้ร้อนก่อนรับประทาน ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังขับถ่าย จัดสุขลักษณะภายในบ้านให้สะอาด หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น และที่สำคัญหากมีผู้ป่วยโรคไวรัสลงกระเพาะอยู่ภายในบ้านหรืออยู่ห้องเรียนเดียวกัน ผู้ปกครองหรือครูผู้ดูแล ควรมีการแยกเด็กป่วยและเด็กปกติออกจากกัน เพราะเชื้อโรคสามารถปนเปื้อนมากับน้ำมูก น้ำลาย และการใช้ของร่วมกัน