19นปช.ขึ้นศาลทหาร 'เหวง' โวยพธม.แถลงข่าวไม่ผิดหรือ

19นปช.ขึ้นศาลทหาร 'เหวง' โวยพธม.แถลงข่าวไม่ผิดหรือ

แกนนำ นปช. 19 คน ขึ้นศาลทหาร นัดสอบคำให้การคดีมั่วสุมการเมือง "เหวง" โวยพธม.แถลงข่าวไม่ผิดหรือ ขณะ "ตู่-เจ๋ง"ใส่ชุดเรือนจำ ทักทายมวลชน

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2560 เวลา 09.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ ศาลนัดสอบคำให้การ คดี 19 แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ที่7/2557 ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป จากกรณีที่ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่อิมพีเรียลลาดพร้าว เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2559 ที่ผ่านมา

โดยแกนนำ นปช. 19 คน ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นางธิดา ถาวรเศรษฐ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ, นพ.เหวง โตจิราการ, นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ, นายยงยุทธ ติยะไพรัช, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายสงคราม กิจไพโรจน์, นายสมหวัง อัศราศี, นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์, นายเกริกมนตรี รุจโสตถิรพัฒน์, นายอารี ไกรนรา, นายสมชาย ใจมุ่ง, นายพรศักดิ์ ศรีละมุด และนายศักดิ์รพี พรหมชาติ นายนิสิต สินธุไพร

ขณะที่ กรมราชทัณฑ์ นำตัว นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ที่อยู่ระหว่างถูกจำคุกในคดีหมิ่นประมาท นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าสั่งฆ่าประชาชน ในการปราศัยเวทีชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา

และ นายยศวริศ ชูกล่อม ถูกจำคุกในคดีหมิ่นเบื้องสูง จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยทั้งสองมีสีหน้ายิ้มแย้มทักทายมวลชนที่เดินทางมาให้กำลังใจประมาณ 20 คน

โดย นางธิดา กล่าวว่า การเดินทางมาขึ้นศาลทหารครั้งนี้ สืบเนื่องจากศาลได้เลื่อน นัดสอบคำให้การจากครั้งที่แล้ว เพราะ นปช. มาไม่ครบทั้ง 19 คน ซึ่งคดีนี้ถือเป็นคดีที่มีผู้ถูกกล่าวหามากที่สุด ทั้งนี้การร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่อิมพีเรียลลาดพร้าว เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2559ที่ผ่านมานั้น เรามีความปรารถนาดีที่ต้องการให้การทำประชามติมีความโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับ ซึ่ง ไม่ถือว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง

ขณะ นพ.เหวง ตั้งข้อเกตว่า กรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ร่วมกันแถลงข่าว จำนวนกว่า 10 คน ต่อกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้องการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ปี 2551 ถามว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ คสช.มีมาตรฐานอย่างไร ในเรื่องความยุติธรรม ซึ่งหากไม่มีมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมก็ยากที่จะเกิดการปรองดอง รวมถึงการประกาศให้ปฏิบัติตามสัญญาประชาคม

" เหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่ม พธม.เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และ การสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ปี 2553 จะเห็นว่าการสลายการชุมนุมของ พธม. ใช้เพียงแก๊สน้ำตา และกำลังตำรวจ ส่วนของ กลุ่ม นปช. นั้น ใช้ทหาร 6 หมื่นนาย ของ 3 เหล่าทัพ รวมทั้งกระสุนสองแสนกว่านัด อยากถามว่าทั้งสองกรณีนี้ มีการปฏิบัติ 2 มาตรฐานหรือไม่ หากมี2มาตรฐานจะหาความยุติธรรมในประเทศนี้ไม่ได้" นพ.เหวง กล่าว