ถก 'สี จิ้นผิง' เซ็นMOU4ฉบับ รถไฟเร็วสูง-เส้นทางศก.สายไหม

ถก 'สี จิ้นผิง' เซ็นMOU4ฉบับ รถไฟเร็วสูง-เส้นทางศก.สายไหม

"ประยุทธ์" ถก "สี จิ้นผิง" ดันความร่วมมือรอบด้าน เซ็นต์เอ็มโอยู 4 ฉบับ รถไฟความเร็วสูง-เส้นทางเศรษฐกิจสายไหม

เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบหารือทวิภาคีกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา

พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการกระชับความร่วมมือหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่รอบด้านกับจีน รวมทั้งขับเคลื่อนความร่วมมือที่มีอยู่ให้คืบหน้าและเป็นรูปธรรม ตลอดจนขยายความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันมากยิ่งขึ้น ผู้นำทั้งสองยินดีที่เห็นพัฒนาการความร่วมมือจากที่ได้เคยหารือไว้ โดยเฉพาะด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ในระดับประชาชน

พล.ท.วีรชน กล่าวว่า สำหรับโครงการความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการดำเนินโครงการให้สำเร็จลุล่วง ซึ่งถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงและการพัฒนา ไทยเห็นว่า ความเชื่อมโยงคือหัวใจของการพัฒนา อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและคลอบคลุม ซึ่งไทยสนับสนุนยุทธศาสตร์ Belt and Road (BRI) และพร้อมทำงานร่วมกับจีนในการส่งเสริมการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาของทั้งสองประเทศ เพื่อให้ประเทศและประชาชนตามแนวเส้นทางสายไหมได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ BRIและ Made in China 2025 ของจีนสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และการพัฒนา EEC ซึ่งไทยพร้อมกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนตามระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน และเป็นประตูสู่ตลาดทั้งในกลุ่มประเทศ CLMV อาเซียน RCEP และเอเชียใต้

พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ในโอกาสนี้ ไทยและจีนเห็นพ้องว่า การป้องกันและแก้ไขประเด็นท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวมีความเชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ไทยห่วงกังวลเกี่ยวกับปัญหาการก่อการร้าย จึงสนับสนุนให้ไทยและจีนมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อมูล ข่าวสาร และแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการกับการก่อการร้ายระหว่างกัน

พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ภายหลังการหารือ ทั้งสองฝ่ายได้เป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.สัญญาการออกแบบโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสารธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร นครราชสีมา ระยะที่ 1 2.สัญญาที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสารธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร นครราชสีมา ระยะที่ 13. ร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน (พ.ศ. 2560-2564) และ 4. ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในกรอบเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21