สังคมน่าห่วง นศ.ตกงานพุ่ง คนไทยป่วยเฉลี่ย 8 ปีก่อนตาย

สังคมน่าห่วง นศ.ตกงานพุ่ง คนไทยป่วยเฉลี่ย 8 ปีก่อนตาย

สังคมไทยยังน่าเป็นห่วง เด็กจบมหาวิทยาลัยตกงานเพิ่ม อาชญากรรมพุ่ง คนรุ่นใหม่ เจนฯวายนักช้อปยอมเป็นหนี้ คนไทยอายุยืนขึ้น แต่บั้นปลายหลายคนป่วย พิการนาน 8 ปีก่อนเสียชีวิต

         จากรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 2 ปี 2560 ที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ แถลงพบว่าปัญหาเศรษฐกิจยังน่าเป็นห่วง เพราะแรงงานจำนวนมากยังว่างงาน โดยมีการจ้างงาน 37.5 ล้านคน เพิ่มจากขึ้นไตรมาส 2 ปี 2559 ประมาณ 0.4% แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในภาคเกษตร จาก 11 ล้านคน เป็น 11.6 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 6 แสนคน เพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวย ปริมาณน้ำอยู่ในภาวะปกติ ราคาสินค้าเกษตรดี แต่ช่วงครึ่งปีหลังน่าเป็นห่วง เพราะน้ำท่วม และราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง

สภาพัฒน์3

         ขณะที่อีกด้านหนึ่งแรงงานนอกภาคเกษตรจ้างงานลดลงจาก 26.4 ล้านคน เหลือ 25.9 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม การก่อสร้าง โรงแรม ภัตตาคาร ตอกย้ำให้เห็นว่า การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวช้า ผู้ประกอบการเน้นใช้แรงงานที่มีอยู่เดิม ไม่จ้างงานเพิ่ม และนำเทคโนโลยีมาใช้ จนกลางปี 2560 มีความต้องการแรงงานด้านการผลิต เพียง 2,709 ตำแหน่ง จากที่เคยมีถึง 4,203 ตำแหน่งในปี 2557

         อัตราการว่างงานจึงมีสูงถึงประมาณ 470,000 คน หรือ 1.2% ของแรงงาน เพิ่มขึ้น 1.1%

สภาพัฒน์

        ที่น่าเป็นห่วง คือแรงงานที่เพิ่งจบ หรือที่ไม่เคยทำงานมากก่อน เพิ่มขึ้นถึง 24.1% โดย 39% จบระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งปกติกลุ่มนี้จะว่างงานสูงในไตรมาส 2-3 และลดลงในไตรมาส 4 ของทุกปี แต่ช่วงตั้งแต่ปี 2556 จนถึง 2560 นี้จำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนมีถึง 220,000 คน เพราะความไม่สอดคล้องของคุณสมบัติแรงงาน และวุฒิการศึกษา ที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด และการรอการฟื้นตัวของการลงทุนของภาคเอกชน

         นอกจากกลุ่มที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยตกงานเพิ่มขึ้น กลุ่มเจนเนอเรชั่น วาย  ที่มีอายุ 22-35 ปี จำนวน 5.24 ล้านคน พบว่าเป็นหนี้รวมกันถึง 2.13 ล้านล้านบาท โดยเฉพากลุ่มคนอายุ 29 ปีที่มีหนี้เฉลี่ยคนละ 150,000 บาท จำนวนนี้ 20% เป็นหนี้เสีย เพราะบางคน รูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปตามสังคมเมือง มีพฤติกรรมใช้ง่าย จ่ายคล่อง ตัดสินใจเร็ว เข้าถึงบัตรเครดิต สินเชื่อเงินส่วนบุคคลได้ง่าย

สภาพัฒน์2

          ขณะที่เด็กป.1 ไอคิวสูงขึ้นเป็น  98.23  จากปี 2554 ไอคิว 94.58 แต่ก็ต่ำกว่ามาตรฐานสากลที่ระดับ 100  เยาวชนไทยยังสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ที่มีนิโคตินสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา 10 เท่า

         นอกจากนี้สังคมไทยยังน่าเป็นห่วง ที่คดีอาชญากรรมเพิ่งประมาณ 10% โดยคดีทำร้ายร่างกาย  และทางเพศ เพิ่มขึ้น 7.3% คดีปล้นจี้ชิงทรัพย์เพิ่มขึ้น 6.5%

          สำหรับเรื่องสุขภาพ โรคที่คนไทยเป็นมากในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา คือไข้หวัดใหญ่ เป็นเพิ่มขึ้นถึง 31.1%

          ทางด้านอายุเฉลี่ยของคนไทย มีอายุยืนเพิ่มขึ้นถึง 75.4 ปี จากปี 2558 เฉลี่ย 75 ปี  อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าอายุคาดเฉลี่ย ของภาวะสุขภาพดี (Health Adjusted Life Expectancy: HALE)ของคนไทยมีค่าต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ย โดยในปี 2552 มีค่าเท่ากับ 62 ปี และในปี 2558 มีค่าเท่ากับ 66.8 ปี

          สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยไม่ได้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ตลอดช่วงชีวิตจะมีช่วงเวลาที่ต้องอยู่อย่างเจ็บป่วยหรือพิการ ซึ่งปี 2558 คนไทยต้องอยู่อย่างเจ็บป่วยหรือพิการก่อนเสียชีวิตกว่า 8 ปี อย่างไรก็ตาม อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดและอายุคาดเฉลี่ย ของภาวะสุขภาพดีของคนไทยยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก