อ่านใจเจ้าสัวน้อย หนุ่มผู้สร้างเซอร์ไพรส์ !!! 

อ่านใจเจ้าสัวน้อย หนุ่มผู้สร้างเซอร์ไพรส์ !!! 

สร้างปรากฏการณ์เลื่อนลั่นวงการธุรกิจ ระลอกแล้วระลอกเล่า กับเกมรุก“ซื้อกิจการ” ขยายอาณาจักร“ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น” หรือทีซีซี กรุ๊ป เซอร์ไพรส์ จากไก่ทอด สู่ ธุรกิจสื่อ อ่านใจเจ้าสัวน้อย “ฐาปน” เคลื่อนทัพไทยเบฟ-ลงทุนส่วนตัว ที่มีแต่ Win win

ไล่หลังกันเพียงสัปดาห์เดียว ตระกูล สิริวัฒนภักดี สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับวงการธุรกิจต่อเนื่อง ด้วยการลงนามเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จํากัดของบริษัท แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY มูลค่า1,000ล้านบาท ทำให้เข้าไปถือหุ้นสัดส่วน 50%ในจีเอ็มเอ็ม แชนเนล เทรดดิ้ง ถือเป็นการรุก “ธุรกิจสื่อ” อีกระลอก จากก่อนหน้านี้บริษัท วัฒนภักดี จำกัด โดยฐาปน และปณต สิริวัฒนภักดี ทายาทเจ้าสัวเจริญ เข้าไปถือหุ้นใน บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)  สัดส่วน 47.62%

ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน ตระกูลมหาเศรษฐีของเมืองไทยรายนี้ ยังได้ทุ่มงบหลัก “หมื่นล้านบาท” ซื้อกิจการสาขาร้านเคเอฟซีในประเทศไทย ร่วม 240 สาขา จากบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด อินเตอร์แบรนด์ไก่ทอดโลก เพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจอาหารให้กับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งกำลังฟูมฟัก เป็นอีกขาธุรกิจหลัก 

ในการเจรจาซื้อขายกิจการเหล่านี้ แน่นอนว่ามีภาพชัดของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี”  ราชันย์น้ำเมา จอมทัพแห่ง ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือทีซีซี กรุ๊ป อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนั้น 

ทว่า เบื้องหน้าในหลายดีล พักหลังยังปรากฏชื่อ บุตรคนที่ 3 ของเจ้าสัวเจริญ นั่นคือ “เจ้าสัวน้อย ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เจ้าของเบียร์ช้าง ทายาทผู้กุมบังเหียนธุรกิจเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของไทย และรั้ง 1 ใน 5 บิ๊กเครื่องดื่มเอเชีย ธุรกิจแสนล้านของทีซีซีกรุ๊ป ที่เป็นเสมือน “เครื่องปั๊มเงินสด” มาต่อยอดอาณาจักรทีซีซี 

นอกจากนี้ หลายต่อหลายครา การเจรจาซื้อขายกิจการต่างๆของกลุ่มไทยเบฟ “เงียบเชียบ” ชนิดที่ไม่มีประเด็นให้หลุดออกมาเอื้อนเอ่ย อย่างกรณีของการซื้อกิจการสาขา “เคเอฟซี” ในไทย ใครจะคิดว่าเจ้าสัวเจริญ จะลุกขึ้นมาขายไก่ทอด แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว 

แต่เมื่อดีลเดินมาถึงจุดที่ต้องแถลงไข ทุกดีลต่างดังเปรี้ยงปร้าง! ไม่ซุ่มเงียบ สปอร์ตไลท์จัดเต็ม จับจ้องไปที่เจ้าสัวน้อยแห่งไทยเบฟทันที เพราะการเข้าไปซื้อหุ้น ควบรวมกิจการ ตลอดจนผนึกพันธมิตรบางกิจการมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่มหึมา ระดับ “หลายแสนล้านบาท” เรียกว่าเป็นดีลใหญ่ระดับภูมิภาค อาทิ เมื่อครั้งที่ ไทยเบฟ และ ทีซีซี แอสเส็ท จับมือเข้าสู้ซื้อกิจการเครื่องดื่มเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ หรือ เอฟแอนด์เอ็น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ในสิงคโปร์ มูลกว่า 3 แสนล้านบาท เมื่อปี 2556 มาได้สำเร็จ

บางกิจการยังมีผลต่อการ ผนึกกำลัง” (Synergy) ธุรกิจให้กับบริษัทไทยเบฟกับทีซีซีกรุ๊ป เช่น การผนึกทุนอาหารรายใหญ่สัญชาติฮ่องกงอย่าง “แม็กซิม กรุ๊ป” ปูพรมลุยธุรกิจเบเกอรีในไทย ซึ่งพันธมิตรรายนี้จะอาศัยจุดแข็งของกลุ่มไทยเบฟที่มีเครือข่ายธุรกิจในอาเซียน ทะลวงตลาดภูมิภาคนี้ ส่วนไทยเบฟ แน่นอนมีโอกาสเปิดประตูการค้าสู่แดนมังกร ขนาดตลาดที่ว่าด้วยจำนวนประชากรกว่า 1,300 ล้านคน จีนยังเป็นตลาดแห่งโอกาส จากการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกเป็นรองเพียงสหรัฐ 

ขณะที่ดีลการซื้อกิจการร้านสาขาเคเอฟซียังไม่ทันสะเด็ดน้ำ ่ไทยเบฟ ให้ข้อมูล โดยหญิงเก่ง "นงนุช บูรณะเศรษฐกุล" กรรมการผู้จัดการ บมจ.โออิชิ กรุ๊ป และรองประธานอาวุโส กลุ่มธุรกิจอาหาร(ประเทศไทย)บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ โดยระบุชัดว่า ดีลนี้จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับ “กลุ่มไทยเบฟ” ในธุรกิจร้านอาหารได้มากขึ้น ทำให้สามารถ เข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกไลฟสไตล์เนื่องจากยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มไทยเบฟ ต้องการสร้างความครบวงจรทั้งขาธุรกิจเครื่องดื่ม ที่มีทั้งกลุ่มแอลกอฮอล์ และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงการรุกเข้าสู่ธุรกิจอาหารที่หมายมั้น

การเข้าซื้อกิจการเคเอฟซีครั้งนี้ นอกจากจะสร้างโอกาสการขยายธุรกิจอาหารของไทยเบฟแล้ว ยังเล็งเห็นศักยภาพเครือข่ายสาขาเคเอฟซีในไทย ที่จะทำให้เราสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้หลากหลายกลุ่มทั่วประเทศ เพื่อทำให้เราได้เห็นเทรนด์ตลาด และเข้าใจความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะทำให้กลุ่มไทยเบฟยืนอยู่แถวหน้าของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และที่สำคัญจะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร” เพราะ ยัมฯ มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant : QSR) แบรนด์เคเอฟซี มาร่วม 3 ทศวรรษ (30ปี)

ไทยเบฟ ยังไม่ได้โฟกัสแค่โอกาสธุรกิจเท่านั้น การเข้าซื้อธุรกิจยังมีความหมายถึงการครอบครอง “ทุนมนุษย์ (Human capital) เพื่อนำระบบหรือโนวฮาวในเรื่องนี้ มาต่อยอดการ พัฒนาบุคลากร” นำพาบริษัทเติบใหญ่ได้ตามวิสัยทัศน์ทีซีซีกรุ๊ป 

จากการสอบถาม “ฐาปน” ถึงการซื้อสาขาของร้านเคเอฟซี แบรนด์ไก่ทอดระดับโลกครั้งนี้ เจ้าตัวระบุว่า ดีลดังกล่าวทำให้ไทยบฟ บรรลุเสาหลักธุรกิจที่ 4 (ธุรกิจอาหาร)  จากเดิมมีธุรกิจ สุรา เบียร์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และยังบรรจุอยู่ในวิสัยทัศน์ 2020 ของไทยเบฟ

พี่ทิพย์ (นงนุช) บอกเสมอว่า อย่าลืมน้องใหม่(ธุรกิจอาหาร)นะ ซึ่งเดิมเรามี 3 เสาหลักเป็นแกนธุรกิจอยู่แล้ว อาหารก็จะเป็นเสาหลักที่4ด้วย  ฐาปน เผย ส่วนรายละเอียดหลังการซื้อสาขาเคเอฟซี ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ดีลยังมีรายละเอียด ยังไม่จบกระบวนการ

หลังเจ้าสัวน้อย ตอบคำถามถึงการเข้าซื้อสาขาเคเอฟซีได้ 1 วัน ข่าวครึกโครมตามมาคือ การลงนามเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของจีเอ็มเอ็ม แชนเนล เทรดดิ้ง ซึ่งประกอบด้วย ทีวีดิจิทัลช่องจีเอ็มเอ็ม 25 คลื่นวิทยุเอไทม์มีเดีย จีเอ็มเอ็ม ทีวี และเอไทม์ ทราเวิลเลอร์ ผ่านบริษัท อเดลฟอส จำกัด บริษัทลงทุน (โฮลดิ้ง คัมพานี) ซึ่งเป็นการลงทุนส่วนตัวของ2พี่น้อง "ฐาปน" และอีกหนึ่งทายาทเจ้าสัวเจริญ "ปณต สิริวัฒนภักดี" 

ผลลัพธ์ฝั่งแกรมมี่ ถือเป็นการมีทุนใหม่ที่มาช่วย “สาง” วิกฤติการณ์เงินที่เกิดจากการลงทุนของบริษัท โดยบริษัทแม่(จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่)ขาดทุนติดต่อกันหลายปี (ปี2559 ขาดทุน 520.15 ล้านบาท) หลังถูกพายุดิจิทัลถาโถมธุรกิจสื่อ จนต้องทยอยขายทิ้งธุรกิจ คืนสู่สามัญ ด้วยการแปลงไปสู่การเป็นผู้ผลิตรายการหรือ “คอนเทนท์ โปรวายเดอร์

ส่วนฟากอเดลฟอส แม้ “ฐาปน” จะยังไม่ออกมาให้ข้อมูล แต่คนสนิทและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ลงนามซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ อย่าง มารุต บูรณะเศรษฐกุล” ตัวแทนผู้บริหารทีซีซี กรุ๊ป ที่อยู่ข้างกายเจ้าสัวน้อย พร้อมหน้าพร้อมตา “อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” บิ๊กบอสแกรมมี่ ทายาทของเขาและผู้บริหารอีกบางส่วนของแกรมมี่ ฉายภาพว่า อย่ามองการเข้าไปลงทุนครั้งนี้จำกัดกรอบเพียง “ธุรกิจสื่อ” โดยเฉพาะ “ทีวีดิจิทัล” ซึ่งสถานการณ์ง่อนแง่นเท่านั้น

ในเมื่อ บริษัทวัฒนภักดี เข้าซื้อหุ้นในอัมรินทร์ทีวี อยู่แล้ว ทำไมถึงเข้าไปซื้อจีเอ็มเอ็ม แชนแนลฯ อีก ? นี่คือคำถามคาใจ ซึ่งมารุต ตอบคำถามนี้ว่า..

ขึ้นอยู่ว่าจะมองมุมไหน หากมองศักยภาพของแกรมมี่ ต้องยอมรับว่าเป็นหนึ่งในตองอูธุรกิจคอนเทนท์ไม่ด้อยกว่าผู้ประกอบการในแวดวงเดียวกันเลยเมื่อมองลึกและข้ามช็อตธุรกิจทีวีดิจิทัล ธุรกิจคอนเทนท์ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายของอเดลฟอส ที่ให้น้ำหนักการลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

นอกจากนี้ เป็นที่รู้โดยทั่วกัน ทีซีซี กรุ๊ป มีธุรกิจมากมายในระดับแมส ปักหมุดในหลายเซ็กเตอร์ ที่แน่นอนว่ามีการใช้ สื่อทำการตลาดแบบ 360 องศา ใช้ศิลปินดารา เป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้า มีโฆษณาออกสู่สายตาผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายหลายแบรนด์ จัดกิจกรรมคอนเสิร์ตการตลาดดนตรี (Music marketing) ประเมินว่าปีละหลายพันล้านบาท การทำการตลาดล้วนต้อง “ผลิตคอนเทนท์” และ “ซื้อโฆษณา” ผ่านสถานีโทรทัศน์หลากหลายช่อง การผนึกกำลังกับบริษัทในเครือในฐานผู้ซื้อสื่อ ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน เพียงแต่จะออกมารูปแบบไหนเท่านั้นเอง

โดยมารุต ระบุว่า ขึ้นอยู่กับ “นโยบาย” ของผู้ใหญ่ในทีซีซี กรุ๊ป ส่วนแผนธุรกิจหลังเข้าซื้อจีเอ็มเอ็ม แชนแนลฯ จะกระจ่างแจ้ง ต้องรอภายหลังทำธุรกิจเรียบร้อยใน 2-3 เดือนข้างหน้า และใครจะเข้าไปมีส่วน “นั่งบริหาร” จีเอ็มเอ็ม แชนแนลฯ ก็คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 

หนึ่งในนั้นต้องจับตา “มารุต” เพราะนอกจากเขาจะเป็นกลับมานั่งในตำแหน่งผู้บริหารไทยเบฟ ภายหลังจากปัดกวาดโออิชิใหม่จนส่วนแบ่งการตลาดพุ่งแซงอิชิตัน ของตัน ภาสกรนที และส่งไม้ต่อให้ศรีภรรยา “นงนุช” มาดูแล  มารุตยังถูก“วางตัวเตรียมไปนั่งตำแหน่งอื่นในทีซีซี กรุ๊ป" หมายถึงขยับสถานะมาดูแลภารกิจในระดับนโยบายภาพรวมของทีซีซีกรุ๊ป อีกด้วย

ก่อนที่มารุตจะข้ามห้วยมาขับเคลื่อนธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคแห่งนี้ เขาผ่านงานบริษัทขนาดใหญ่มากมายทั้งเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) ไอบีเอ็ม และกสท โทรคมนาคม ซึ่งความรู้ความสามารถที่มี เหมาะกับการเคลื่อนธุรกิจหลายแสนล้านของเจ้าสัวเจริญ ใน“ยุคสมัยดิจิทัล”ไม่น้อย 

ไม่แน่ว่า เจ้าสัวน้อยอาจจะกำลังปรายตา สู่ธุรกิจใหม่ ด้านดิจิทัล เคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูลมหาศาล หรือ Big Data อยู่หรือไม่ อย่างไร  

ส่วนการเข้าไปถือหุ้นในธุรกิจสื่ออย่าง “อมรินทร์” ภาพการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนอาจยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็ได้เห็นทางไทยเบฟ ส่งทีมผู้บริหารเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในบอร์ดบริหารเรียบร้อยโรงเรียนฐาปนไปแล้ว นั่นคือ เรืออากาศโทกมลนัย ชัยเฉนียน” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายบริหารทั่วไป บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ

หากให้อ่านใจ “เจ้าสัวน้อยฐาปน” กับการขยายอาณาจักร สร้างหลักไมล์ (Milestone) ด้วยตัวเองอย่างขะมักเขม้น ต่อจิ๊กซอว์หลักไมล์ของผู้พ่อ สอดคล้องกับสิ่งที่เจ้าตัวกล่าวในงานสัมมนา “รวมใจ..นำไทยยั่งยืน” ในบริบทหนึ่งบอกว่า องค์กรจำเป็นต้องเติบโต พนักงานยังต้องรับเงินเดือน ต้องการโบนัส เพื่อเลี้ยงชีพและครอบครัว จึงต้องขยับขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อยังประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทุกภาคส่วน

ที่ต้องก้าวเดินให้ถึงหลักไมล์ ให้“ทันใจ”เจ้าสัวน้อย ! 

------------------------------------

เจ้าสัวเจริญ : พ่อรวยสอนลูก 

ประโยคหนึ่งที่สะท้อนวิถี พ่อแม่รวยสอนลูก ฉบับ “เจ้าสัวเจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” มีศาสตร์ลับเคล็ดวิชาใดถ่ายทอดให้แก่ทายาทเช่นเขา คำตอบคือ มีโอกาสได้เรียนรู้การทำงานจากผู้ใหญ่ ผู้เป็นบิดาในสิ่งที่ท่านโฟกัสและปฏิบัติ เป็นมากกว่าคำสอน ที่มากเกินกว่าคำพูดคำบรรยายใดๆ และไม่ต้องไปขวนขวายหาสุดยอดคัมภีร์ธุรกิจจากที่ไหน ประกอบกับการได้ฝึกฝนตัวเองในการทำงาน จนถึงจุดหนึ่งก็จะมีความพร้อมที่จะเข้าใจข้อเท็จจริง เข้าใจธรรมชาติธุรกิจในเรื่องต่างๆด้วยตัวเอง

โดยสรุปคือ การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่สัมผัสจากสิ่งที่พ่อและเขาปฏิบัติโดยตรง นั่นเอง

ฐาปน เข้ามาบริหารธุรกิจไทยเบฟ กว่าสิบปี(ตั้งแต่ปี2545)และเคยถามพ่อ(เจ้าสัวเจริญ)ว่า ทำไมเขาต้องมารับผิดชอบงาน ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมากมาย คำถามเยอะมาก เรื่องราวทั้งมีเหตุผลบ้าง ไม่มีเหตุผลบ้าง 

เคยเรียนถามคุณพ่อ...ท่านก็นิ่งสักพัก ก่อนหันกลับมาตอบว่า เพราะมีสิ่งที่ต้องแก้ไขปัญหาต่างๆนานา จึงมีผมเข้ามารับผิดชอบในหน้าที่นั้นๆ ถ้าไม่มีปัญหา ก็ไม่ต้องมีผมเข้ามารับผิดชอบ

ในการขับเคลื่อนอาณาจักรครอบครัว ไทยเบฟมีการดำเนินงานมากมาย โดยเฉพาะการขยายธุรกิจ และ “ทางลัด” ด้วยการซื้อและควบรวมกิจการ แน่นอนว่า เขาย่อมเสนอความคิดและแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ๆ ขณะที่เจ้าสัวเจริญจะเป็นผู้ฟังที่ดี ทำให้การพูดคุยหารือกันของพ่อลูกทำได้เต็มที่

เพราะเมื่อมี “เป้าหมายร่วมกัน” ทว่าวิธีการจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น “อาจต่างกัน” ขึ้นอยู่กับบทบาทความรับผิดชอบ

ผู้ที่รับผิดชอบจะเป็นคนเลือกวิธีการที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย ฐาปนย้ำและเล่าบทสนทนาอย่างเป็นกันเองที่เกิดขึ้นกับเจ้าสัวเจริญว่า..

อาหนุ่มนะ..อั๊วเข้าใจลื้อน้า สิ่งที่คิดมันก็มีประเด็นที่ถูก จะทำแบบนี้ก็เสียว หากไม่ทำ..จะอยู่แบบเดิมก็เสียว คุณพ่อพูดด้วยความเรียบง่าย น่ารัก ผมก็สบายแล้วล่ะ เพราะป๊าต้องเลือกแล้วล่ะว่า อยากได้แบบไหน

เพราะในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ย่อมมีผลกระทบที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเป็นเชิงบวกหรือลบก็ตาม ซึ่งการทำงานของเขา ก็ละม้ายคล้ายกับการใช้ชีวิต ทุกนาทีจะต้องประคับประคองให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มี สูตรสำเร็จ” ไม่มีคำตอบในทุกเรื่อง ต้องขวนขวายในสิ่งที่พอจะสามารถบริหารจัดการได้ ภายใต้ข้อจำกัด ณ เวลานั้น

“โชคดีมีโอกาสได้เรียนรู้จากพ่อแม่ และผู้บริหารท่านอื่นๆ” ฐาปน เล่า

หนึ่งในบทสนาที่ผู้เขียน เคยพูดคุยกับฐาปน เขาบอกว่า เป็นคนที่ “คิดเร็ว” เช่นเดียวกับเจ้าสัวเจริญ และละเอียดรอบคอบตามแบบอย่างคุณหญิงวรรณา

ไม่แปลกที่การขับเคลื่อนธุรกิจของเจ้าสัวน้อยจะ ติดสปีด ตลอดเวลา อาศัยมรรควิธีย่นระยะเวลาในการขยายอาณาจักรด้วยการ ซื้อแทนสร้าง สร้างเอง

หากทางที่เดินมีมากมาย “ทางลัด” ก็ไปถึงจุดหมายได้เหมือนกัน แล้วทำไมจะไม่ใช้ล่ะ ในเมื่อเร็วกว่าทางปกติเป็นไหนๆ

แต่ละปีไทยเบฟ มีแผนซื้อกิจการในใจของฐาปน มากน้อยแค่ไหน แม้เขาจะไม่เคยให้รายละเอียด แต่เคยเล่าว่า แต่ละดีลที่กว่าจะเดินมาถึง “บทสรุป” กินเวลานานพอสมควร อย่างเอฟแอนด์เอ็น ใช้เวลาร่วม 2 ปีกว่าจะลงตัว

ทว่า ผลลัพธ์ เรียกว่า “คุ้มค่าการลงทุน” มหาศาล เพราะเอฟแอนด์เอ็น เป็นสปริงบอร์ดอย่างดีให้กับธุรกิจเครื่องดื่ม โดยเฉพาะแคทิกอรีไม่มีแอลกอฮอล์ เพราะส่งผลให้ไทยเบฟ กลายเป็นบริษัทที่มียอดขายติดท็อป 5 ยักษ์เครื่องดื่มเอเชียในระยะเวลาอันสั้น ตามติดด้วย คิริน อาซาฮี ยักษ์เครื่องดื่มแดนอาทิตย์อุทัย

ขณะที่การรุกธุรกิจอาหาร กำลังเริ่มเปิดเกมอินเตอร์จากการมีพันธมิตรฮ่องกง และยัมฯ รวมถึงธุรกิจ “มีเดีย” ที่ยังไม่เด็ดน้ำ จึงต้องรอดูว่าฐาปนจะสร้าง “เซอร์ไพรส์” แบบไหนในการซีนนอร์ยีเครือไทยเบฟและทีซีซี กรุ๊ป

จากเอฟแอนด์เอ็น สู่อมรินทร์ ข้ามไปยังไก่ทอดผู้พันแซนเดอร์ส และกลับมาสู่จีเอ็มเอ็ม แชนแนลฯ ที่เข้าวิน แต่ที่พลาดพ่ายคู่แข่งก็มี เช่น การเข้าแข่งประมูลซื้อเบียร์ Peroni and Grolsch เบียร์ดังยุโรป ที่พ่ายให้กับ อาซาฮี” 

แน่นอนว่า  2 ดีลที่เกิดขึ้นหมาดๆ จะยังไม่ใช่ดีลสุดท้าย เพราะธุรกิจหากหยุดนิ่ง ก็เท่ากับถอยหลัง ดังนั้น คงต้อง “จับตาไม่กระพริบ” ว่า ดีลอื่นๆที่จะตามมามีอะไรบ้าง  

ที่อยู่ในลิสต์ก่อนหน้านี้ คือกระแสการเข้าคิวซื้อหุ้นของบริษัท ไซง่อนเบียร์ แอลกอฮอล์ เบเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น (ซาเบคโค) ธุรกิจเครื่องดื่มบียร์รัฐวิสาหกิจเวียดนาม รวมถึงการซื้อกิจการเครื่องดื่มแอลอกอฮอล์ในอาซียนอื่นๆ เพราะจากวิสัยทัศน์ 2020 

การทำ M&A เป็นโอกาสที่เจ้าสัวน้อยมองหาอยู่เสมอ...!!