คลังเก็บ “แวต” ต่ำกว่าเป้านาน 5 ปี ย้ำเศรษฐกิจยุคประหยัด

คลังเก็บ “แวต” ต่ำกว่าเป้านาน 5 ปี ย้ำเศรษฐกิจยุคประหยัด

ตัวเลขการจัดเก็บ “แวต” เป็นตัวชี้วัดสำคัญว่า “กำลังซื้อ”ของผู้บริโภคฟื้นแล้วหรือยัง หากย้อนไปดูตัวเลขการจัดเก็บแวตหลายปีที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขไม่สวย เพราะจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายต่อเนื่องมาแล้ว 5 ปี

          อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่วัดจากตัวเลขจีดีพีของไทยในปีนี้ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกาศล่าสุด คาดว่าจีดีพีมีโอกาสเติบโตถึง 3.5-4.0% จากเดิมที่คาดไว้ 3.3-3.8% เพราะไตรมาส 2 ของปี 2560 จีดีพีโตถึง 3.7% ซึ่งเป็นตัวเลขเติบโตสูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส หลังจากที่เติบโตเฉลี่ย 2-3% มาโดยตลอด หลังไตรมาส 1 ของปี 2556 จีดีพีเคยโตสูงสุดที่  5.2%

          อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตัวเลขจีดีพีครั้งนี้ เป็นผลมาจากการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนของภาคเอกชนเป็นหลัก ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคมีตัวเลขเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ทั่วถึง หลายคนจึงยังรู้สึกว่ารายรับรายจ่าย ทำมาค้าขายยังไม่ดี

          และเรื่องนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็รู้ดี ถึงขั้นเมื่อถูกถามถึงการยกเลิกคงภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวต ไว้ที่ 7%  พลเอกประยุทธ์ ก็ย้ำว่า “รัฐบาลยังไม่คิดเพิ่มแวต และให้คงอยู่ที่ 7% ก่อน เพราะคนในประเทศยังไม่พร้อม รายได้ยังแย่อยู่”

       vat1

          หลักฐานชัดเจนว่า รายได้ของคนไทยยังแย่อยู่ คือการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่หากย้อนไปตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปี 2555 การเก็บภาษีมูลค่าสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ตลอด จนเมื่อปี 2556 เริ่มต่ำกว่าเป้า ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 5 ปีแล้ว

          ผลการจัดเก็บล่าสุดในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 นี้ ต่ำกว่า เป้าหมาย 33,499 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.7%  แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2.5% เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บในประเทศเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ