ฐานข้อมูลนวัตกรรม ขุมทรัพย์เพื่อเอกชน

ฐานข้อมูลนวัตกรรม ขุมทรัพย์เพื่อเอกชน

สำนักงานนวัตกรรมฯ ผนึก 29 หน่วยงานสร้างแพลตฟอร์มฐานข้อมูล “ดีดีไอ” มุ่งสนับสนุนองค์กรทุนและภาคธุรกิจเอกชนเข้าถึงข้อมูลเพื่อสร้างนวัตกรรมเสริมศักยภาพสินค้าและบริการ นำร่อง 10 พื้นที่ย่านนวัตกรรม ตั้งเป้าเสร็จไตรมาสแรกปี 2561

Data Driven Innovation : DDI จะเป็นฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) แบบครบวงจร ประกอบด้วย ข้อมูลงานวิจัย นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่ปรึกษาการวิจัยรวมถึงการบริการต่างๆ ที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น การให้บริการตัวชี้วัด MSTQ หรือบริการทดสอบ-ตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการในหน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กล่าวว่า การจัดทำแพลตฟอร์มดีดีไอจะเริ่มจากโครงการย่านนวัตกรรม (Innovation Districts) ทั้ง 10 ย่าน ซึ่งจะมีข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ แหล่งความรู้ งานวิจัย นักวิจัย ธุรกิจหรือห้องปฏิบัติการในพื่นที่ ฯลฯ ที่จะเอื้อให้ผู้ที่สนใจเข้าใจในความเป็นพื้นที่ย่านนวัตกรรมและมองหานักวิจัย งานวิจัยหรือบริการที่ต้องการในพื้นที่ได้อย่างง่ายดาย

ปัจจุบันคณะทำงานอยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยปลายปี 2560 แผนที่ดิจิทัลแต่ละย่านนวัตกรรมจะแล้วเสร็จ และฐานข้อมูลของทั้ง 10 ย่านนวัตกรรมจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสแรกปี 2561 จะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูล วทน. เพื่อสร้างนวัตกรรมบนฐานข้อมูล ความรู้และงานวิจัยตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

การจัดทำฐานข้อมูลดังกล่าว สนช.ได้รับความร่วมมือจาก 29 หน่วยงานสมาชิกศูนย์ประสานงานสารนิเทศสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ศปว.) ประกอบด้วยสมาชิก 30 หน่วยงาน ได้แก่ ส่วนราชการที่มีฐานะเป็นหน่วยราชการอิสระขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี 1 แห่ง สถาบันอุดมศึกษา 4 แห่ง หน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ 15 แห่ง กระทรวงอุตสาหกรรม 2 แห่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อย่างละ 1 แห่ง หน่วยงานภาคเอกชน 2 แห่ง และสมาคมวิชาชีพเฉพาะ 2 แห่ง

คณะทำงานจะสร้างแพลตฟอร์มกลางเชื่อมไปยังฐานข้อมูลของ 29 หน่วยงานนี้ที่มีการปรับปรุงข้อมูลที่มีอยู่และเปิดเผยได้ ผ่านการจัดทำให้เป็นข้อมูลที่เข้าใจง่าย พร้อมทั้งเรียบเรียงลำดับชั้นความสำคัญ ด้วยหตุนี้ ความท้าทายหลักคือ การพูดคุยกับแต่ละหน่วยงานเพื่อทำความเข้าใจตรงกันในการย่อยข้อมูลด้าน วทน. ของแต่ละหน่วยงานเพื่อให้นำไปใช้ได้ง่ายและสะดวกขึ้น

ทั้งนี้ สนช. ในบทบาทของ Network Catalyst สร้างและกระชับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัย ซึ่งเป็นขุมทรัพย์สำคัญในการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมของผู้ประกอบการ ความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้เกิดการแบ่งปันและร่วมใช้ทรัพยากรสารสนเทศระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรอิสระ สร้างประโยชน์โดยตรงต่อผู้รับบริการอย่างแท้จริง

อีกทั้งการศึกษาค้นคว้าข้อมูลให้ “รู้รอบและรู้ลึก” ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมให้มีความแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่เดิม ฉะนั้น การเข้าถึงข้อมูลสารนิเทศของหน่วยงานสมาชิกทั้ง 30 หน่วยงานของ ศปว. จึงเป็นช่องทางสำคัญที่ผู้ประกอบการควรเรียนรู้เพื่อใช้ประโยชน์

เบื้องต้นนี้แพลตฟอร์มดีดีไอจะมุ่งเน้นข้อมูลการสร้างนวัตกรรมของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหลัก 3 ด้านคือ เศรษฐกิจฐานชีวภาพ เศรษฐกิจสังคม บริการและแบ่งปัน (Social, Service & Sharing Economy) และเศรษฐกิจด้านออโตเมชั่นและธุรกิจสะอาด (Automation & Clean Economy) รวมถึงเทรนด์ แนวโน้มธุรกิจและกรณีศึกษาของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

“ดีดีไอจะทำให้การเชื่อมโยงเครือข่ายที่ดีทั้ง 30 หน่วยงานให้ได้พบกับผู้ประกอบการ เกิดการส่งต่อคุณค่าของขุมทรัพย์ทั้งหลาย เกิดการไหลเวียนของข้อมูลและความรู้ เกิดผลสู่การสร้างธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม” นายพันธุ์อาจ กล่าว