แนะ 'บุญทรง' อย่าตายแทนคนอื่น!!

แนะ 'บุญทรง' อย่าตายแทนคนอื่น!!

"มีชัย" แนะ "บุญทรง" ใช้สิ่งที่พูดไม่ได้ต่อสู้ชั้นอุทธรณ์คดีทุจริตจีทูจีข้าว ชี้หากรักชีวิตก็ต้องสู้ อย่าตายแทนคนอื่น!!

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นการอุทธรณ์คำพิพากษาคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมพวกในคดีทุจริตการซื้อขายข้าวในโครการรับจำนำข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ว่า กรณีดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สามารถให้ทนายเขียนคำอุทธรณ์เพื่อยื่นต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกา ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานใหม่หรือข้อกฎหมายใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้กำหนดข้อจำกัดไว้ หากจำเลยไม่พอใจในคำพิพากษาก็สามารถเขียนคำยื่นอุทธรณ์ได้ ส่วนกรณีที่ผู้ต้องคำพิพากษาซึ่งปัจจุบันถูกขังในเรือนจำและไม่ได้รับการประกันตัว ยังใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ตามกฎหมาย

ทั้งนี้ตนเข้าใจว่าการให้ประกันตัวหรือไม่นั้นเป็นดุลยพินิจของผู้พิพากษา ว่าจะให้หรือไม่ ทั้งนี้เมื่อ 1-2 ปีก่อน เคยมีผู้พิพากษาคดีหนึ่งให้ประกันตัวจำเลย และจำเลยหลบหนี ผลที่ตามมาคือ ผู้พิพากษาถูกไล่ออก ดังนั้นในกรณีในคดีทุจริตซื้อขายข้าวนั้นอาจต้องพิจารณาให้ดีว่าจะให้ประกันหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่าในคดีทุจริตซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ กรณีของนายบุญทรง มีผู้โพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียว่าบางประเด็นอาจพูดไม่ได้ นายมีชัย กล่าวว่า "หากคนเราที่รักชีวิต ก็ต้องสู้ เพราะขณะนี้มีช่องทางในการต่อสู้กำหนดไว้ให้ แต่หากจะสู้ แต่คอยกังวลว่าจะโดนหรือกระทบคนนั้นคนนี้ ผมมองว่าก็สุดแล้วแต่คนที่เขาจะยอมตายแทนกัน"

เมื่อถามต่อว่าการต่อสู้ดังกล่าวหากไม่มีประจักษ์พยานหลักฐานทำได้หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ทำได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล ว่าสิ่งที่ยกต่อสู้นั้นประเด็นใดจะเป็นประโยชน์ได้หรือไม่

นายมีชัย ยังกล่าวถึงกรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หลบหนีฟังคำพิพากษาคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้โครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการรับจำนำข้าวเป็นไปอย่างสุจริต ว่า ขั้นตอนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังระบุไปในชั้นของการอุทธรณ์ไม่ได้ เพราะศาลยังไม่มีคำพิพากษา โดยเงื่อนไขที่ถูกตั้งคำถามเรื่องการอุทธรณ์นั้น ต้องพิจารณาเงื่อนไขทางกฎหมายที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาคคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย เพราะหากผลพิพากษาออกมาก่อนที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะบังคับใช้ สิทธิอุทธรณ์สามารถทำได้ แต่หากร่าง พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับ แล้วจะมีเงื่อนไขคือ ผู้ต้องคำพิพากษาต้องยื่นอุทธรณ์ด้วยตนเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่คำพิพากษาตัดสินว่าผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มาปรากฎตัวต้องหนีคดีไปถึงไหน นายมีชัย กล่าวว่า ต้องหนีไปเรื่อยๆ เพราะตามกฎหมายใหม่ที่เตรียมประกาศใช้ระบุไม่ให้นับอายุความของคดี

เมื่อถามต่อว่าส่วนกรณีที่คำพิพากษาของคดีดังกล่าวตัดสินว่าไม่ผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์สามารถกลับประเทศได้และจะมีบทลงโทษใดหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า อย่างน้อยหลักประกัน 30 ล้านบาท ต้องถูกยึด ส่วนบทลงโทษทางอาญาหรืออื่นๆ นั้น ตนไม่ทราบว่าจะมีกฎหมายใดที่ระบุถึงกรณีหลบหนีฟังคำพิพากษาหรือไม่