"เกมหนีตาย”เปิดที่ว่าง"เศรษฐี"ครองช่องทีวีดิจิทัล

"เกมหนีตาย”เปิดที่ว่าง"เศรษฐี"ครองช่องทีวีดิจิทัล

3 ปี ที่ผ่านมาในธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัล มีทั้งผู้รอด ผู้บาดเจ็บ และอีกหลายรายกำลังลุ้น เพื่อไม่ให้ขาดทุน อยู่ในเกม"หนีตาย" และนี่คือเวลาที่เปิดพื้น "ที่ว่าง" ที่นายทุนระดับเศรษฐีสามารถเข้ามาเป็นเจ้าของสื่อได้

           อะไรคือธุรกิจที่เคยทำแล้วรวย ทำแล้วมีอำนาจต่อรอง สร้างพาวเวอร์บารมีให้เจ้าของ คำตอบที่หลายคนเคยนึกออกคือ “ธุรกิจสื่อทีวี” แต่นั่นคืออดีต ที่มีทีวีไม่กี่ช่อง และทีวีคือสื่อหลักที่คนเสพ

           แต่ปัจจุบันฟรีทีวีมีมากกว่า 20 ช่อง ไม่ใช่มีแค่ 3 5 7 9 อย่างในอดีต หลังจากจุดเปลี่ยนเมื่อปลายปี 2556 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 24 ช่อง  และโซเชียลมีเดีย ที่มาแรงแซงทุกสื่อ

           สถานการณ์ของธุรกิจสื่อทีวีในเวลานี้ จึงมีลักษณะใครปรับตัว สร้างสรรค์ จนหาฐานของผู้ชมได้ เรตติ้งมา โฆษณาเข้า ธุรกิจก็รอด  ในทางกลับกันบางรายไปไม่รอด แต่บางรายก็ประเมินได้ว่าไม่ควรรอให้ถึงวันที่พัง และเร่งหาผู้ร่วมทุน หรือแหล่งเงินทุน  ควรขายของที่มีอยู่ในเวลาที่สภาพยังดีมีคุณภาพพอ ทำให้ได้ราคา

          ดังนั้นดีลที่เกิดขึ้นในวันนี้ (24 ส.ค. 2560) อีกดีลในวงการทีวีดิจิทัล ที่  “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ทุ่มเงินอีก 1,000 ล้านบาท เพื่อร่วมเป็นเจ้าของในทีวีดิจิทัลอีกช่องหนึ่ง คือ จีเอ็มเอ็ม 25 ในเครือบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)  จึงไม่ใช่บิ๊กเซอร์ไพร์ส หลังจากเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2559 ทุ่มเงินไปแล้ว 850 ล้านบาท ถือหุ้นใน บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่องอมรินทร์ 34  และอาณาจักรสิ่งพิมพ์มาแล้ว

          โมเดลที่เจ้าสัวเจริญเลือกในเวลานี้ ไม่ใช่แค่ “มีเงิน” แล้วซื้อ แต่เลือกซื้อธุรกิจที่มีโอกาสพัฒนาต่อได้ และเลือกรูปแบบร่วมทุนไม่ใช่การเทคโอเวอร์ทั้งหมด เพราะไม่ใช่ธุรกิจที่เคยทำมาก่อน โดยมียุทธศาสตร์การเลือกซื้อช่องที่เคยเป็นพันธมิตรกันมานาน  และมีเนื้อหาที่เสริมธุรกิจเดิมได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ภายใต้แบรนด์”ช้าง” เครื่องดื่มอื่น ๆ รวมถึงธุรกิจอาหาร ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ ที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ และคนรุ่นใหม่

          เวลานี้  “อมรินทร์ 34”  “จีเอ็มเอ็ม 25” จึงตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าสัวเจริญ  โดยมีบุตรชายทั้งสองคน คือ  “ฐาปน” และ “ปณต” เป็นทัพหน้าในการบุกธุรกิจนี้ 

          ขณะที่คนขายอย่าง “อมรินทร์” ต้องยอมเฉือนความเป็น “เจ้าของ” หลังจากสร้างเครืออมรินทร์มาประมาณ 40 ปี ด้วยหุ้นที่เหลืออยู่ 30.83% จากเดิมถือ 58%

          ทางเลือกสำหรับครอบครัว “อุทกะพันธุ์”  คือหากไม่เปลี่ยนแปลง และเลือกสู้ อาจเข้าสู่อาการโคม่า เพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมา “อมรินทร์” เลือดไหลไม่หยุด ด้วยตัวเลขที่ขาดทุนขึ้นเรื่อยๆ จากเกือบ 100 ล้านบาทในปี 2557 มาเป็น  628 ล้านบาท ในปี 2559 หนี้สินต่อทุนสูงถึง 4.32 เท่า จากหนี้สินเพียงประมาณ 460 ล้านบาทในปี 2556 พุ่งเป็น 3,970 ล้านบาทในปี 2559

          นอกจากทุนของเจ้าสัวเจริญที่ไหลเข้า “แกรมมี่” แล้ว ก่อนหน้านี้ “นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” ก็เพิ่งส่งบริษัทที่ลูกสาวถือหุ้น 99.98% เข้าถือหุ้น 50% ในทีวีดิจิทัลช่อง วัน ของเครือแกรมมี่ ด้วยราคาประมาณ 1,900 ล้านบาท แม้ว่าจะมีช่องทีวีดิจิทัลของตัวเองอยู่แล้วหนึ่งช่อง คือ พีพีทีวี 36 แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่สำหรับ  “หมอเสริฐ” คือเนื้อหารายการประเภทความบันเทิง ช่องวันจึงตอบโจทย์ “หมอเสริฐ” ได้ดีที่สุด แม้จะต้องมีต้นทุนเพิ่มในช่วงนี้

          การเลือกถอยของ “แกรมมี่” จากการเป็นเจ้าของทั้งสองช่อง 100% มาเป็น 50% ภายใต้การเคาะของ "อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” แม้จะทำให้ความหวังของอากู๋ไม่ใช่อย่างที่ฝันในการเป็นเจ้าของช่องทีวีของตัวเองทั้งหมด แต่ก็ดีกว่าเจอ “ฝันร้าย” ในอนาคต เพราะสถานการณ์ตัวเลขขาดทุนยังเกิดขึ้น

          ช่องวันมีรายได้สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของวงการทีวีดิจิทัล โดยทำรายได้ถึง 445  ล้านบาท และช่องจีเอ็มเอ็ม 25 รายได้ 643 ล้านบาทในปีที่แล้ว แต่ผลขาดทุนยังคงทำให้สะเทือนใจ เพราะต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 ที่ขาดทุน 1,282 ล้านบาท และมาขาดทุนสูงสุดในปี 2557 ถึง 2,314 ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุน 1,145 ล้านบาท และ 3 ไตรมาสแรกของปี 2560 ขาดทุนแล้ว 520 ล้านบาท

          เครือแกรมมี่ที่มีดิจิทัลทีวี 2 ช่องอยู่ในจุดที่มีทุนสายป่านยาวแล้วในเวลานี้ จากเงินทุนของค่าย”ช้าง” ของเจ้าสัวเจริญ และทุนจากธุรกิจโรงพยาบาล  และสายการบินของ “หมอเสริฐ” รวมถึง “อมรินทร์” ที่เจ้าสัวเจริญก็ดูแลเต็มที่

          ในวงการธุรกิจทีวีดิจิทัล ยังมีอีก 2 ช่องที่เงินทุนหนา คือทีเอ็นเอ็น และทรูโฟร์ยู เพราะเป็นของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าของอาณาจักรซีพี ที่ไม่เพียงมีธุรกิจเครือข่ายเคเบิลทีวี แต่ยังเริ่มก่อตั้งช่องข่าวทีเอ็นเอ็นมานานประมาณ 10 ปีแล้ว

          หากย้อนไปเมื่อเดือนพ.ย.2557 หรือประมาณ 7 เดือนหลังสมรภูมิชิงคนดูทีวีระอุ สัญญาณไม่ดีสำหรับธุรกิจทีวีดิจิทัลก็เริ่มเกิดขึ้น เมื่อบริษัท ไทยทีวี จำกัด ของ “พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย์”  หรือ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล  ที่ประมูลมา 2 ช่อง คือช่องข่าว และเด็ก ครอบครัว ก็ประกาศยุติออกอากาศ หลังขาดทุน 350 ล้านบาท และไม่ขอจ่ายค่าประมูล 2 ช่อง รวมอีกประมาณ 1,900 ล้านบาทให้กสทช. หลังพยายามขายช่องให้นักลงทุนแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ

          สถานะของไทยทีวีเวลานี้คือ ไม่หนี ไม่มี ไม่จ่าย และอยู่ระหว่างการฟ้องร้องกับกสทช.ต่อศาลปกครอง

          นี่คือปรากฎการณ์ปรับตัว และเปลี่ยนแปลง   ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจทีวีดิจิทัลที่รุนแรงชนิดเลือดสาดต่างหนีตายต้องถอย ก็เป็นธรรมดาที่มักจะเกิด “พื้นที่ว่าง” ให้เศรษฐีทุนหนาเห็นโอกาสใหม่เสมอ