ปมร้อนสร้างรัฐสภาใหม่'สร้างเท่าไหร่ ก็ไม่เสร็จสักที'(มีคลิป)

ปมร้อนสร้างรัฐสภาใหม่'สร้างเท่าไหร่ ก็ไม่เสร็จสักที'(มีคลิป)

ปมร้อนสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ 1.2 หมื่นล้านบาท ขยายเวลาก่อสร้าง 3 ครั้ง 1,497 วัน ใครเอื้อประโยชน์ใคร แล้วทำไมต้องยอม แล้วใครเสียค่าโง่...

เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ต้องบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ สำหรับ “สัปปายะสภาสถาน” หรือโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนที่ดินราชพัสดุถนนทหาร (เกียกกาย) เนื้อที่ 123 ไร่ 1 งานเศษ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการขยายเวลาการก่อสร้างยาวนานที่สุดโครงการหนึ่งเท่าที่เคยมีมา

สำหรับโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ กว่าจะได้ลงมือก่อสร้างจริงต้องใช้เวลา 20 ปี และเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างมาแล้ว 6 ครั้ง โครงการนี้ริเริ่มเมื่อปี 2536 สมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี โดยครั้งนั้น รัฐบาลชวนมีแนวคิดใช้ราชตฤณมัยสมาคม หรือสนามม้านางเลิ้งเป็นสถานที่ก่อสร้าง ต่อมาในปี2542 รัฐบาลสมัยนั้นย้ายสถานที่ก่อสร้างมาที่ใช้ที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) “ย่านพหลโยธิน” มีการเสนอครม.พิจารณาอนุมัติจัดสรรงบชดเชยให้กับการรฟท. แต่การก่อสร้างก็ยังไม่เริ่มขึ้น

กระทั่งในปี 2543 มีการย้ายสถานที่ก่อสร้างจากที่ดินของรฟท.มายังที่ราชพัสดุแยกเกียกกาย สถานที่ที่ทำการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ในปัจจุบันนี้

แต่แล้วในปี 2545-2546 ก็มีการย้ายจุดก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่อีก เนื่องจากในนายกฯทักษิณ ชินวัตร มีแนวคิดย้ายเมืองหลวงไปยังจ.นครนายก โดยเสนอให้ย้ายทั้งทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาแห่งใหม่ไปตั้งที่จ.นครนายก แต่มีการคัดค้านการย้ายเมืองหลวงอย่างหนัก รัฐบาลทักษิณก็ถอย ส่งผลให้ต้องมีการคัดเลือกสถานที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่อีกครั้ง

โดยครม.สมัยนั้นมอบหมายให้นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือกสถานที่ก่อสร้างรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โยนประเด็นให้มีการนำพื้นที่สนามบินดอนเมือง ที่จะว่างลง หลังจากย้ายสนามบินไปใช้สนามบินสุวรรณภูมิตามนโยบาย “สนามบินเดียว” และเบื้องต้นก็มีแนวคิดที่จะใช้สนามบินดอนเมือง เป็นที่ตั้งสถานที่ราชการที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงเป็นที่ตั้งของรัฐสภาแห่งใหม่

ในที่สุดบทสรุปการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ก็มาถึง หลังจากเมื่อเดือนก.ค.2551 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เป็นประธานการประชุมเพื่อคัดเลือกสถานที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่ง และที่ประชุมมีมติให้กลับมาใช้ที่ดินราชพัสดุถนนทหาร (เกียกกาย) ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสถานที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่จนได้

ต่อมาในเดือนมี.ค.2556 สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชนก่อสร้างอาคารและอาคารประกอบของรัฐสภาแห่งใหม่ โดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เสนอราคาต่ำสุด และได้สัญญาก่อสร้างมูลค่า 12,280 ล้านบาทไป โดยสัญญาก่อสร้างมีระยะเวลา 900 วัน หรือเริ่มตั้งแต่ 8 มิ.ย.2556 ไปสิ้นสุด 24 พ.ย.2558

แต่โครงการก็เกิดปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากการมีส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างบริเวณร.ร.โยธินบูรณะ ชุมชนองค์การทอผ้า และบ้านพักทหาร สามารถส่งมอบได้เพียง 80% เท่านั้น ที่เหลืออีก 20% ส่งมอบไม่ได้ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาก่อสร้างครั้งที่ 1 ให้กับผู้รับเหมา โดยขยายระยะเวลาให้อีก 387 วัน หรือเป็นสิ้นสุด 15 ธ.ค.2559

เมื่อดำเนินการก่อสร้างไปได้ระยะหนึ่ง ผู้รับเหมาก็มีปัญหา ไม่สามารถขนย้ายดินที่ขุดขึ้นมาในส่วนของงานวางฐานรากประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ออกมาจากพื้นที่ก่อสร้างได้ ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้าอาคารรัฐสภาต้องล่าช้าออกไปอีก ทางซิโน-ไทยจึงขอขยายเวลาก่อสร้างเป็นครั้งที่ 2 และได้รับความเห็นชอบให้ขยายสัญญาก่อสร้างไปอีก 421 วัน หรือเป็นสิ้นสุดวันที่ 9 ก.พ.2561

ต่อมาเดือนมิ.ย.2560 ซิโน-ไทย เสนอขอขยายเวลาก่อสร้างอีกเป็นครั้งที่ 3 เนื่องจากประสบปัญหาได้รับการส่งมอบพื้นที่ในส่วนของโรงเรียนโยธินบูรณะล่าช้า และขอขยายเวลาก่อสร้าง 926 วัน แต่ทางสำนักเลขาธิการสภาฯได้เห็นชอบขยายระยะเวลาสัญญาออกไป 689 วัน หรือสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.2562

ขณะที่สำนักเลขาธิการสภาฯ ยืนยันว่า รัฐสภาแห่งใหม่ต้องเปิดใช้ในปี 2563 แม้ว่าจะงานอื่นๆนอกสัญญา รวมทั้งงานวางระบบไอทีและสาธารณูปโภค มูลค่า 8,386 ล้านบาท ที่ต้องมีการดำเนินการหลังการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จ

จึงเท่ากับว่าในขณะนี้การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จใน 900 วัน ได้ขยายเวลาก่อสร้าง 3 ครั้งเป็นเวลา 1,497 วัน หรือคิดเป็นเวลาทั้งสิ้น 6 ปี 7 เดือน จากเดิมที่กำหนดแล้วเสร็จใน 2 ปี 4 เดือน ขณะที่สัญญาเดิมระบุว่า หากการก่อสร้างสัญญาไม่เป็นไปตามกำหนด ผู้รับเหมาต้องเสียค่าปรับวันละ 12 ล้านบาทเศษ แต่เมื่อหน่วยงานเจ้าของโครงการเห็นชอบให้ขยายเวลาก่อสร้างออกไปถึง 3 ครั้ง โดยมีเหตุผลเกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ทั้งๆที่การเตรียมการส่งมอบพื้นที่มีเวลาเตรียมการหลายปี

ทำให้เกิดคำถามว่าการขยายเวลาก่อสร้าง 3 ครั้งเกือบ 1,500 วัน หรือกว่า 4 ปี ใครเอื้อประโยชน์ใคร แล้วทำไมต้องยอม แล้วใครเสียค่าโง่มูลค่านับหมื่นล้านบาท เพราะสัญญาไม่เป็นสัญญา ทำให้การสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ สร้างเท่าไหร่ก็ไม่เสร็จสักที