ธุรกิจส่วนตัว ซีนเนอร์ยีอาณาจักรสิงห์

ธุรกิจส่วนตัว ซีนเนอร์ยีอาณาจักรสิงห์

'ปิติ ภิรมย์ภักดี'แปรความชื่นชอบทำอาหารเป็นจิ๊กซอว์ซีนเนอร์ยีอาณาจักรสิงห์ วาง“ซัพพลายเชน” ให้แกร่ง รับ'ช่องทางการค้า' กำลังเปลี่ยนโฉม มี'Made by Todd'แบรนด์จากทายาทรุ่น 4 รวมอยู่ในนั้น

นอกจากทายาทสิงห์รุ่น 4 นาม “ต๊อด ปิติ ภิรมย์ภักดี” กรรมการผู้จัดการธุรกิจซัพพลายเชน รับผิดชอบการบริหารของบริษัท ลีโอ ลิงค์ จำกัด และบริษัท บุญรอดเอเชีย จำกัด จะชื่นชอบความเร็ว จนกลายเป็นนักแข่งรถที่คว้าแชมป์...สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยไปแล้ว ทว่า อีกหนึ่งสิ่งที่เขาหลงไหลได้ปลื้ม เห็นจะเป็นการสวมบทบาทเป็นพ่อครัวหัวป่าก์ จับตะหลิวตวัดกะทะทำกับข้าวให้คนในครอบครัวและคนใกล้ชิดได้รับประทาน

ผลจากความชอบทำอาหารจริงจังมากว่า 5 ปี วันนี้ หนุ่มต๊อด ก็หันมาเอาดีกับการ “สร้างแบรนด์” ผลิตภัณฑ์อาหารเป็นของตัวเอง ที่ขายทั้ง “หน้าตาและชื่อ” เป็นโลโก้หรา “Made by Todd” ลงบนซอสพริกเอนกประสงค์ เพื่อเข้าทำตลาด

2 ปี กับความพยายามเทสต์ 15 ซอสตัวอย่าง เพื่อเฟ้นซอส “สูตรลับ” ที่สุดของรสชาติเผ็ดร้อนโดนใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย และเกือบ 2 เดือน ที่ผลลัพธ์ของการทุ่มเทค่อนข้าง “คุ้มค่าเหนื่อย” เพราะในแง่ยอดขาย สามารถทะลุเป้าหมายทั้งปีที่เจ้าตัวตั้งไว้แล้ว

ในงานแถลงข่าวเปิดตัวซอสพริกเอนกประสงค์ Made by Todd “ปิติ” เล่าที่มาที่ไปของการปั้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งเป็นธุรกิจส่วนตัวในบรรยากาศสบายๆตามคาแร็กเตอร์ของเขา 

“นี่เป็นสินค้าตัวแรกที่ Made by Todd หรือผมทำซอส จุด จุด จุด” เขาเว้นประโยคให้ผู้บริโภคเรียกชื่อสินค้าได้ตามใจ

ซอสพริก..สินค้าตัวแรกที่เขาตั้งใจทำออกมาสู่ตลาด และมั่นใจว่า ซอสพริกที่รสชาติเผ็ดร้อนครบรส ยังไม่มีใครทำ ส่วนที่เห็นทั่วไปบนเชลฟ์หรือชั้นวางสินค้าล้วนเป็นซอสที่มีรสเปรี้ยว ตามด้วยหวาน หรือหวานตบท้ายด้วยเปรี้ยวเสียส่วนใหญ่ 

“แล้วนั่นคือซอสพริกยังไง นี่คือคำถามผม”

 เพราะเคยร่ำเรียนต่างแดนตั้งแต่เด็ก ทำให้เห็นว่าการหาสินค้าที่ “คุ้นลิ้น” รสชาติต้นตำรับไทยแท้ หายากพอสมควร ครั้นมีโอกาสทำธุรกิจส่วนตัวตั้งแต่ร้านก๋วยเตี๋ยวเป่าปาก เปิดทางให้ได้เรียนรู้ “พริก” สายพันธุ์ต่างๆ จึงค่อยๆตกผลึกในการผลิตซอสพริกเอนกประสงค์ โดยร่วมมือกับเชฟกระทะเหล็ก “ชุมพร แจ้งไพร”

ซุ่มเงียบลองทำตลาดมาเดือนเศษ เมื่อเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แผนการทำตลาดของ “ปิติ” ขอใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างตั้งแต่กลุ่มเป้าหมายที่อิงไปตาม “พฤติกรรม” การบริโภคและประกอบอาหารเป็น lifestyle marketing รับออเดอร์ผ่าน Facebook และ Line เน้นขายผ่านช่องทางร้านค้าทั่วไปหรือเทรดดิชั่นนอลเทรด และอาศัย “ชีพจรลงเท้า” เข้าไปหากลุ่มเป้าหมาย โดยมีตัวแทนจำหน่ายที่เป็นเหมือนจุดกระจายสินค้าเท่านั้น 

“ตอนนั้นเทหมดหน้าตัก จะทำอะไรก็หิ้วซอสพริกไปด้วย เทหมดหน้าตัก ตั้งแต่ใช้หน้าและชื่อตัวเองอยู่ในผลิตภัณฑ์ ถ้าหากจะแย่ จะเจ๊ง ทั้งหน้าและชื่อก็คงจะอยู่ยากหน่อยแล้ว”  เขาหัวเราะ ก่อนยาหอมสื่อให้ช่วยโปรโมทสินค้า 

“ผมจะได้อยู่ในโลกนี้ต่ออย่างสุขสบาย” เขาพูดและว่าที่กล้าการันตีไม่ใช่เรื่องตลก แต่เป็นเรื่องจริง “ถ้าไม่ดี ผมไม่ทำ” 

เป้าหมายการทำซอสพริก Made by Todd เขาต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคซอสของคนไทยให้หันมากินซอสของเขา รวมถึงพ่อครัวแม่ครัว โดยเปลี่ยนไปจิ้มซอสอื่นไม่ได้แล้ว 

“เท่ากับผมชนะสเต็ปหนึ่งละ เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค พฤติกรรมร้านค้า นี่คือหัวใจหลัก ถ้าทำได้กุญแจความสำเร็จของซอสต๊อดอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม”

ปิติ ทำธุรกิจส่วนตัวหลายอย่าง ทั้งร้านอาหารแสนแซบ แซบบาร์ ธุรกิจรถบ้าน ห้องน้ำเคลื่อนที่ และเขายังเดินหน้าที่จะผุดธุรกิจใหม่เพิ่ม ได้แก่ ธุรกิจบริการจัดเลี้ยง(แคเทอริ่ง) ร้านอาหารไทยแบรนด์ใหม่ ได้ลงทุนทำครัวกลางรองรับธุรกิจให้ “ครบวงจร” เมื่อมีกิจการหลากหลาย จึงลุย “จัดทัพ” ให้เป็นกลุ่มก้อน ทำให้ภาพธุรกิจส่วนตัวชัด เพื่อยกระดับไปสู่การจัด “เทศกาลอาหาร” หรือ Food Festival ไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยมีกิจการ “เครื่องดื่มเบียร์สิงห์” ของบริษัทแม่ “บุญรอดบริวเวอรี่” เป็นกองหนุนเสริมแกร่งเกื้อกันและกัน

อีกบทบาท ปิติ ผู้กุมบังเหียน “ซัพพลายเชน” ให้กับบุญรอดเอเชีย และลีโอ ลิงค์ ทำให้มีการเจรจากับพันธมิตร “ต่างชาติ” 2-3 ราย เสริมแกร่งการพัฒนาซัพพลายเชน โลจิสติกส์ มุ่งบริหารจัดการ “ต้นทุน” และปรับโครงสร้างให้มีประสิทธิภาพรองรับ “วิธีการขายสินค้า” ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต “ไม่เกิน 3 ปีจะเห็นภาพชัด” 

เขาขยายความว่าหากประเทศไทยไม่ตระหนักในเรื่องนี้ อาจมี “ต่างชาติ” มาแทนที่ขณะเดียวกันพบว่าระบบการค้าขายในเมืองไทย “เปลี่ยนแปลง” โดยเฉพาะสินค้าที่จำหน่ายผ่านช่องทางร้านค้าทั่วไปซึ่งลดน้อยลงมาก เหลือสินค้าแบรนด์ยักษ์ใหญ่ไม่ถึง 5 รายการ สะท้อนให้เห็นว่ามีช่องทางจำหน่ายใหม่ๆเกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งออนไลน์ จุดรับสินค้า(Pick-up) หยิบแล้วไป(Grab and go) เป็นต้น

“ถ้ามองประเทศไทย ยังมีช่องทางอีกเยอะ ที่สำคัญช่องทางเหล่านี้ ต้องรวบรวมสินค้าให้ได้มากที่สุด และทำไมผมจึงพัฒนาอาหารเพราะสินค้าอาหาร ซอส เป็นสินค้าที่อยู่ช่องทางเดียวกับเครื่องดื่มและเบียร์ ยิ่งผมขยายสิ่งเหล่านี้เพิ่ม ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้กับเอเย่นต์และระบบการกระจายสินค้าแบบครบวงจรได้ทั้งหมด สิงห์ไม่ได้ทำได้ทุกอย่าง ผมบอกให้..มีหลายสิ่งอย่างที่สิงห์พัฒนาเป็นอาหารแล้วความเชือผู้บริโภคไม่มี” 

ขณะที่การทำซอสพริก made by Todd และมีโอกาสได้คุยกับพันธมิตรผู้ผลิตอาหาร ทำให้เห็นผลตอบรับว่า “สิงห์” เอาจริงธุรกิจอาหารด้วย จากก่อนหน้านี้หากมีการเจรจาธุรกิจก็จะถูกปิดประตูใส่เพราะถูกมองว่าสิงห์จะเข้าไปซื้อกิจการ แต่นั่นไม่ใช่วิถีของบริษัท “ในแนวทางซัพพลายเชนด้านฟู้ดเซอร์วิส เครื่องดื่ม เราเน้นเป็นพาร์ทเนอร์ ไม่เทคโอเวอร์”

การซีนเนอร์ยีธุรกิจส่วนตัวกับสิงห์ ไม่หยุดแค่เติมเต็มสินค้าให้ครบวงจร แต่ซอสพริกที่ผลิตยังสามารถนำไปพัฒนาเป็น“รสชาติใหม่”ให้สินค้าอาหารในเครือบุญรอดฯเพิ่ม เช่น สาหร่ายมาชิตะ ขนมข้าวอบกรอบ ใช้หมักกับสินค้าสำเร็จรูปของร้านเอส 33 เป็นต้น

เรียกว่าทำหลายอย่างมาก แบ่งเวลาบริหารธุรกิจครอบครัวและธุรกิจส่วนตัวอย่างไร เขาบอกว่า ทุกอย่างทำควบคู่กันได้หมด เมื่อก่อนดูแลธุรกิจเบียร์ต้องทำงานตลอดเช้าถึงเย็น ไม่เปิดโอกาสให้มีเวลาทำอย่างอื่นได้เลย เมื่อทำเรื่องซัพพลายเชน เป็นเรื่องของการเจรจากับพันธมิตรไทย-เทศ เจอกันเป็นวาระ เดือนละครั้ง สัปดาห์ละครั้งขึ้นกับลูกค้าเป็นใคร ธุรกิจต่อธุรกิจหรือธุรกิจกับลูกค้ารายย่อย

“เวลาทำงานไม่ตายตัวขนาดเข้า 9 โมง เลิก 5 โมงเย็น แล้วผมทำธุรกิจส่วนตัวหลัง5โมงเย็นเป็นต้นไป ผมไม่ตรงขนาดนั้น อะไรที่ไม่สร้างความเดือดร้อน และต่อยอดกับเครือบุญรอดได้ ถ้าผมขยายธุรกิจอาหาร จะมาเสริมพอร์ตโฟลิโอสินค้าบริษัทแม่ เพื่อให้รถ1คัน ที่วิ่งไปส่งสินค้า1คน ด้วยการมีสินค้า20-30 อย่าง ครบวงจรมากขึ้น ซีนเนอร์ยีแล้วเสริมศักยภาพในระบบจัดจำหน่ายของบุญรอดเอเชียเหมือนสินค้าอื่นทั่วไปก็ทำ”