ทุนรุกเปลี่ยนเกม เทงบค้น IoT พลิกโลก

ทุนรุกเปลี่ยนเกม เทงบค้น IoT พลิกโลก

ธุรกิจอัจฉริยะยุคต่อไป สั่งการผ่านระบบ IoT เข้มข้น เชื่อมทุกอุปกรณ์ไอที เข้ากับวิถีชีวิตผู้คนเช้าจรดค่ำ กลายเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ ปั้นไทยพลิกเกมชิงตำแหน่ง “ฮับ”เทคโนโลยีอาเซียน

IoT (IoT-Internet of Things) พัฒนาการของการสั่งการทุกสรรพสิ่ง เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ท ! 

เทรนด์ล้ำๆที่กำลังรุกเข้ามาเปลี่ยนโลก เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในทุกๆกิจกรรม ที่ต้องพึ่งพาการทำงานของอุปกรณ์ IoT ในทุกรูปแบบ ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ

ทำให้ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต้องปรับตัวลงทุนขนานใหญ่เพื่อรับ“เมกะเทรนด์”ที่ว่านี้ 

งานวิจัยจากการ์ทเนอร์ (Garner) กลุ่มวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต ระบุว่า เมื่อถึงจุดที่ IoT ระเบิดเทคโนโลยีกระจายไปอย่างกว้างขวาง มูลค่าธุรกิจนี้จะเพิ่มขึ้น“ทวีคูณ” โดยเฉพาะในภูมิภาคที่เป็นตลาดเดียวกัน(Single Market) อาทิ การรวมกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่กำลังเร่งพัฒนาตัวเอง ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีการสื่อสาร อินเตอร์เน็ทความเร็วสูง อัพเกรดประเทศให้ก้าวสู่ “โลกยุคใหม่”

ตอกย้ำความคิดดังกล่าว ในงานสัมมนา “IoT Business Platform” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งมีผู้แทนขององค์กรระดับโลกขึ้นเวทีถ่ายทอดแนวคิดอินเตอร์เน็ตคือทุกสิ่ง พร้อมทั้งบอกด้วยว่า ยักษ์ธุรกิจอย่างพวกเขาลงทุนเพื่อรองรับการมาอย่างเข้มข้นของ IoT อย่างไร ประกอบด้วย ผู้แทนจากยักษ์ธุรกิจไอทีอย่าง ไมโครซอฟต์ จากสหรัฐอเมริกา “เคพีเอ็มจี” บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจรายใหญ่ของโลก สัญชาติญี่ปุ่น รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์รายใหญ่ อย่าง บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) 

นักลงทุนในเวทีสัมมนาดังกล่าว ยังมองเป็นภาพเดียวกันว่า ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาระบบ IoT หลังจากที่รัฐบาลไทยผลักดันการลงทุนด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็น “ศูนย์กลาง”ด้านการเชื่อมต่อด้านเทคโนโลยีชั้นสูง จากการแปลงข้อมูลมหาศาลในโลกออนไลน์ (Big Data) สู่การวิเคราะห์ข้อมูล (Analytics) 

บริษัท ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน (Frost & Sullivan) ยังเผยว่า ไทยจะก้าวไปเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีดิจิทัล ภายในปี 2563 โดยจะมีการใช้จ่ายด้านIoT มูลค่า 57.7 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ1,894 ล้านบาท ) ในปี 2557  มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น 1,600 % หรือมูลค่า 973.3 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 32,343 ล้านบาท)ภายในปี 2563

โดยส่วนใหญ่ IoT จะเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งในการของการอำนวยความสะดวกให้ภาครัฐนำอุปกรณ์ด้านIoT มาใช้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งรัฐบาลไทยได้ประกาศแผนลงทุนนำร่องแล้วในกรุงเทพฯ ภูเก็ต และเชียงใหม่ ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC- Eastern Economic Corridor) สอดรับกับฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่กำลังขยายการลงทุนในพื้นที่แห่งนี้

ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เล่าถึงแนวทางการส่งเสริม IoTของรัฐ เพื่อผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นไทยแลนด์4.0 โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิม และพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการใหม่ จาก IoT มีส่วนทำให้ประเทศติดสปีด พัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว

โดยการส่งเสริมการลงทุน ประกอบด้วย การส่งเสริมการสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นศูนย์และอุปกรณ์การรับส่งและวิเคราะห์ข้อมูล ที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการการประมวลผลการทำงาน ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม IoT ขึ้นมาชื่อ “เน็ตพาย” (NETPIE) ซึ่งจะถูกผลักดันให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการใช้งาน IoT ของประเทศไทย เป็นเหมือนตัวกลางเชื่อมนักพัฒนา และนักประดิษฐ์ให้คิดค้นอุปกรณ์IoTมาเชื่อมต่อการทำงาน

นอกจากนี้ ยังมี TESPA แพลตฟอร์ม IoT สัญชาติไทย เกิดจากการพัฒนาร่วมกันของ3 บริษัทไอทีของไทย ได้แก่ Gravitech ผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์ Maker Asia ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม IoT และ Deaware ผู้พัฒนาเฟิร์มแวร์และซอฟแวร์

โดยแพลตฟอร์ม จะเป็นจุดตั้งต้นเปรียบเสมือน“ถนนเชื่อม”ให้ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์IoTต่างๆ สร้างสรรค์อุปกรณ์อัจฉริยะ เชื่อมต่อIoT ต่างๆ มีผู้คิดค้นมากขึ้นโดยไม่ต้องใช้บริการต่างประเทศที่ต้นทุนสูงกว่า โดยมีทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ โมบายแอพ และการบริการเก็บข้อมูลบนคลาวด์เซอร์วิส

ด้านการส่งเสริมการพัฒนาอุปกรณ์ IoT มีการส่งเสริมการพัฒนาด้านการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ๆ เข้ามาลงทุนในไทย และการส่งเสริมคนไทยคิดและพัฒนาจนนำไปสู่ธุรกิจเกิดใหม่(Startups)

สำหรับอุปกรณ์ IoT แบ่งป็น 3 ด้านคือ 1 เทคโนโลยีรับรู้ข้อมูล เช่น เซ็นเซอร์ 2.เทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น ระบบสมองกลฝังตัว รวมถึงการสื่อสารแบบไร้สายที่ใช้พลังงานต่ำ อาทิ Zigbee, 6LowPAN, Low-power Bluetooth และ3.เทคโนโลยีประมวลผลข้อมูล เช่น เทคโนโลยีประมวลผลแบบคลาวด์ และวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data Analytics

พันธ์ศักดิ์ ยังระบุว่า ภาครัฐอยู่ระหว่างการจัดตั้ง “สถาบัน IoT” โดยศึกษารูปแบบการจัดตั้งว่าจะเป็นรูปแบบเอกชนลงทุน หรือร่วมทุน (Joint Venture) จะเป็นรากฐานสำคัญ ที่เข้าไปส่งเสริมการพัฒนาIoTให้เกิดความหลากหลายทั้งประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้รุดหน้าไปอีกขั้น ตั้งแต่ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และการเชื่อม IoT กับภาคการเกษตร เพื่อลดต้นทุน ลดระยะเวลา สร้างประสิทธิภาพในการดำเนินการได้อย่างมหาศาล

นอกจากนี้ รัฐยังเดินสายเชิญชวนนักลงทุนด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ให้เข้ามาลงทุนในไทย ไม่ว่าจะเป็น กูเกิล ซิสโก้ ไมโครซอฟต์ และซูเปอร์แนป (Supernap) รายหลังเป็น 1 ใน 5 ของธุรกิจรับฝากเก็บข้อมูล (DATA Center) ของโลก เป็นต้น เพื่อให้เข้ามาลงทุนเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ Digital Park Thailand ที่จ.ชลบุรี และยังอยู่ระหว่างหารือเพื่อจัดตั้งสถาบันIoTที่อยู่ในดิจิทัล พาร์ค ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรม EEC รวมถึงการเชื่อมต่อภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้นการลงทุนด้านสมาร์ทซิตี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณ ลงทุนด้านโครงการอินเตอร์เน็ทความเร็วสูง(บรอดแบนด์)มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท โดยวางเป้าหมายให้ขยายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจาก 33% เพิ่มเป็น 80% ภายใน 3 ปี ทำให้ประเมินว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ทของคนไทยทั้งประเทศ จะเพิ่มเป็น 95% ภายในปี 2563 ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้คนเข้าถึงการค้าออนไลน์ การศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และการบริหารภาครัฐ ผ่านอินเตอร์เน็ท

ฮิเดโนริ ฟุรุคาวา กรรมการบริหาร และที่ปรึกษาธุรกิจ บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด เผยถึงผลสำรวจมุมมองของผู้บริหารองค์กร(CEO Outlook 2017) จาก 1,300 คน พบว่า ทุกคนมองเห็นตรงกันว่าเทรนด์ดิจิทัลเป็นสิ่งที่องค์กรต้องปรับตัวให้ทันกับภูมิทัศน์ที่กับเปลี่ยนแปลงทั้งตลาด และแบรนด์ ผลสำรวจเห็นว่า 74% ของซีอีโอ วางกลยุทธ์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเข้าชิงความได้เปรียบจากคู่แข่งในตลาด

ใครเป็นเจ้าของเทคโนโลยีได้ไวกว่าคนนั้นก็ขึ้นเป็นผู้นำในเซ็คเตอร์นั้นได้

เมืองไทยมีสถานการณ์ไม่แตกต่างจากญี่ปุ่น คือกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ขาดแคลนแรงงาน แต่วางเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวปีละ 5% ใน 5 ปีข้างหน้า ดังนั้นความท้าทายนี้จึงต้องใช้เทคโนโลยีIoTเข้ามาแทนที่การทำงานของแรงงานในปัจจุบัน และเป็นเครื่องมือสำคัญที่ยังทำให้คงประสิทธิภาพการผลิต และการบริการเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต

ยัง ซู ลี (Young Su Lee) ผู้แทนจากสำนักงานธุรกิจโกลบอล เอสเค เทเลคอม (SK Telecom) ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี มีส่วนแบ่งทางการตลาด 49% มีผู้ใช้บริการ 29 ล้านเลขหมาย ยอดขายรวม 15,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี บอกว่า สิ่งที่ทำให้SK Telecom ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดได้ เพราะการพัฒนาด้วยIoT ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับคนในเกาหลีครอบคลุมพื้นที่99% ยังพัฒนาIoT ไปสู่การบริการดูแลสินทรัพย์ คุ้มครองความปลอดภัย ด้านโลจิสติกส์ ดูแลสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร รวมทั้งการสร้างระบบนิเวศน์ของการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจแทนต้องแข่งขันกัน

--------------------

IoT พลิกมิติใหม่ รัฐวิสาหกิจไทย

สิริมา หิรัญเจริญเวช รองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เล่าถึงแผนการนำระบบ IoT มาใช้ควบคุมระบบการเดินรถ และอาณัติสัญญาณ ผ่านระบบเคเบิ้ล และอินทราเน็ทภายในองค์กร โดยเบื้องต้นจะวางแผนจากจุดควบคุมสถานีบางซื่อ เชื่อมข้อมูลไปยังสถานีรอบ 5 เส้นทาง เหนือ ใต้ ออก ตก อีสาน รวมระยะทาง 234 กิโลเมตร (กม.) และเฟสต่อไปขยายครอบคลุม 2,000 กม. โดยจะขยายให้ครอบคลุม 4,000 กม. ทุกภาคในปี 2567

การนำระบบ IoT มาใช้ควบคุมสัญญาณการเดินรถ จะถือเป็น“มิติใหม่”ด้านการบริการการเดินรถ ที่อำนวยความนสะดวก จะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุ ทำให้การเดินรถตรงเวลามากขึ้น ซึ่งปัจจุบันค่าเฉลี่ยนรถไฟดีเลย์อยู่ที่ 30 นาที เป็นการล้างภาพลักษณ์การบริการรถไฟไทยที่จะให้บริการมีประสิทธิภาพเที่ยงตรง

การลงทุนครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรถไฟรางคู่ ภายใต้งบประมาณ 1.76 แสนล้านบาท ซึ่งงบส่วนหนึ่งนำมาลงทุนด้านการพัฒนาระบบควบคุมอาณัติสัญญาณรวมไปถึงการบริการจองตั๋ว ที่ปัจจุบันจองผ่านออนไลน์ได้ ในอนาคตจะมีการจองผ่านแอพลิเคชั่น

ปัจจุบันรถไฟขบวนใหม่ที่สั่งซื้อเข้ามาได้พัฒนาระบบบริการสัญญาณ Wifi ฟรีบนขบวน พร้อมระบบสั่งจองอาหารผ่านปุ่มสั่งการบนที่นั่ง

ทั้งนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนระบบการสั่งการเป็นระบบ IoT ทั้งหมด ทั้งด้านการเดินรถและการบริการแบบสมบูรณ์ในทุกด้าน จะถือเป็นการพลิกมิติใหม่ของร.ฟ.ท.“สิริมา” ย้ำ

ขณะที่ ดร.ฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการและกรรมการตรวจสอบ บริษัทไปรษณีย์ไทย และกรรมการผู้จัดการ ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น ซึ่งเป็นบริษัทลูกของไปรษณีย์ไทย ได้นำระบบIoTมาใช้กับบริการใหม่ เป็นการขนส่งพิเศษนอกเหนือจากการขนส่งจดหมาย พัสดุ และอีเอ็มเอส เพราะเทคโนโลยีล่าสุดจะช่วยพัฒนาการบริการตั้งแต่การเซ็นเซอร์เช็คสินค้า โดยใช้เครื่องตรวจจับสัญญาณเดินทางของสินค้า ระหว่างกระจายสินค้าแบบเรียลทามส์

ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างลงทุน ประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อเปลี่ยนคอมพิวเตอร์มือถือ ให้กับบุรุษไปรณีย์ไทย 1.6 หมื่นคน ให้นำส่งสินค้าและสามารถแจ้งว่าสินค้าถึงมือผู้รับแบบเรียลไทม์

การลงทุนครั้งนี้ถือเป็นจุดพลิกบริการอีกขั้นของไปรษณีย์ไทย ที่เมื่อนำระบบIoTเข้ามาใช้ในการบริการเซ็นเซอร์แทนคนตรวจเช็คจดหมาย พัสดุวันละ1.5ล้านชิ้น ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว ทำให้การบริการขนส่งสินค้าไปถึงมือผู้รับได้แบบภายใน1วัน จะเพิ่มประสิทธิภาพที่ทำให้ไปรณีย์ไทยรุกตลาดการจัดส่งสินค้า ครองความเป็นเบอร์1ที่มีการจัดส่งวันละหลักล้านชิ้นเพิ่มได้อีกหลายเท่าตัวขณะที่คู่แข่งยังให้บริการหลักแสนชิ้น และเติบโตไปพร้อมกับกับขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซในปัจจุบัน

“สเต็ปต่อไปเตรียมคุยกันกับหลายหน่วยงานเพื่อขยายการบริหารการขนส่งผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ นมพาสเจอร์ไรซ์ ของสด ของแช่แข็ง เป็นการบริการที่สามารถขยายการบริการของไปรษณีย์ไทยได้อย่างหลากหลายและกว้างขวางมากขึ้น เนื่องจากเรามีเทคโนโลยีในการควบคุมอุณหภูมิสินค้า”

รวมไปถึงการเตรียมขยายตัวเพื่อให้บริการขนส่งสินค้าพรีเมี่ยม ที่ต้องการการดูแลด้านการปลอดภัย และป้องกันการโจรกรรมอย่างสูง อาทิ โฉนดที่ดิน กระเป๋าเจมส์บอน หรือสินค้าที่มีมูลค่าสูง

ฐิติพงศ์ ยังระบุว่า การพัฒนาระบบIoTสามารถออกแบบการบริการให้ควบคุม ตั้งแต่ การส่งสินค้าไปยังจุดบริการ และเข้าไปยังจุดล็อกปิดตู้ขนสินค้าไปในรถ และขนส่งไปยังจุดผู้รับ ผู้ส่ง สามารถเช็คสินค้าตลอดการเดินทางของสินค้าแบบเรียลไทม์การมีเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการบริการด้านโลจิสติกส์ของไทย ที่ไปรษณีย์ไทยต้องเตรียมความพร้อมพัฒนาการบริการตามความต้องการของตลาด ปัจจุบันการซื้อสินค้าออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) เติบโตขึ้นอย่างมาก จึงต้องเตรียมรองรับการขยายตัวด้านการบริการดังกล่าว

“IoTทำให้คนเห็นข้อมูลเรียลไทม์เกิดประโยชน์การบริการด้านการขนส่งกระจายสินค้า ทั้งผู้ให้บริการอย่างเราและเจ้าของจัดส่งและผู้รับ สามารถตรวจสอบได้แบบเรียลไทม์ โดยจะนำบล็อกเชนมาพัฒนาต่อยอดการบริการจัดส่งสินค้าในอนาคต"