‘สีทาผนังไล่ยุง’ธุรกิจจากแล็บกีฏ

‘สีทาผนังไล่ยุง’ธุรกิจจากแล็บกีฏ

สีทาบ้านกันยุงและบ้านปลอดยุง คือเป้าหมายของนักกีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เติมความท้าทายด้วยโจทย์วัตถุดิบจากธรรมชาติ 100% ไม่เจือปนสารเคมี

สีทาบ้านกันยุงและบ้านปลอดยุง คือเป้าหมายของนักกีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เติมความท้าทายด้วยโจทย์วัตถุดิบจากธรรมชาติ 100% ไม่เจือปนสารเคมี แม้จะยังไม่สำเร็จแต่ก็ได้เป็นผลิตภัณฑ์ไล่ยุงในรูปแบบสิ่งของเครื่องใช้ใกล้ตัวทั้งสเปรย์ โลชั่นและยาหม่องจากหญ้าแฝก
คณะวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ไล่ยุงจากสารสกัดหญ้าแฝกในชื่อแบรนด์ MosqAway เพื่อเป็นต้นแบบให้ผู้สนใจรวมทั้งวิสาหกิจชุมชนต่างๆ นำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ผลงานจากแล็บในเบื้องต้นสามารถออกฤทธิ์ป้องกันยุงได้ 2-3 ชั่วโมง แต่ในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาให้ออกฤทธิ์ป้องกันได้ยาวนานขึ้นถึง 7 ชั่วโมง ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์จากเคมีภัณฑ์


จากเคมีสู่สารธรรมชาติ


รุ่งอรุณ ทิศกระโทก ผู้ร่วมวิจัย ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นแหล่งความรู้ด้านแมลงที่ครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งรวมถึง “ยุง” พาหะนำโรคที่เป็นปัญหาในชุมชนและสาธารณสุขของประเทศ โดยมีงานวิจัยและองค์ความรู้ทุกด้าน เช่น การเจริญเติบโต โครงสร้าง กระบวนการและระบบต่างๆ ที่สามารถหยิบมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยควบคุมและป้องกันยุง
ทีมวิจัยได้ทำการวิจัยภาคสนามและห้องปฏิบัติการพบสภาพปัญหาสำคัญในการใช้สารเคมีควบคุมยุง คือ การดื้อยา จึงได้ศึกษาการต้านทานสารเคมีของยุงพาหะ แล้วนำพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่พบยุงต้านทานต่อสารเคมีมาวางลงบนแผนที่ขอบเขตของประเทศไทย โดยการให้สัญลักษณ์กับชั้นข้อมูลตามชนิดของยุงและสารเคมีด้วยซอฟต์แวร์พิเศษ ทำให้ทราบรายละเอียดของยุงที่ต้านทานต่อสารเคมีในพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายการจัดซื้อสารเคมีควบคุมยุงพาหะซึ่งในแต่ละปีมีมูลค่าสูงหลายล้านบาท


ขณะเดียวกันพยายามพัฒนานวัตกรรมป้องกันยุงในรูปแบบสีทาบ้านและโมเดลบ้านต้นแบบปลอดยุง ซึ่งประกอบด้วยสิ่งของเครื่องใช้ที่ออกแบบมาให้ไล่ยุง ทั้งผ้าม่าน วอลล์เปเปอร์และเฟอร์นิเจอร์ โดยการเคลือบสารสกัดจากธรรมชาติ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาในรายละเอียด ทดสอบประสิทธิภาพและความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ “ทีมวิจัยอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ที่สนใจสร้างความแตกต่างและจุดขายให้กับผลิตภัณฑ์สีทาบ้าน ขณะที่ต่างประเทศมีผลิตภัณฑ์สีทากันยุงวางจำหน่ายแล้ว ซึ่งคงคุณสมบัติป้องกันยุงได้นาน 6 เดือนเป็นอย่างต่ำ และสูงสุด 3 ปีขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพสารที่นำมาเคลือบ” รุ่งอรุณ กล่าว


ทางเลือกเพื่อสมดุลระบบนิเวศ


การป้องกันไม่ให้ยุงกัดเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญ ทีมวิจัยได้ศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาตินำไปใช้ป้องกันยุงกัด ทั้งนี้ โดยทั่วไปมีการแบ่งสารกำจัดแมลงเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ฆ่าแมลง ยาไล่แมลงและยาก่อการระคายเคืองในแมลง ขณะที่นักกีฏวิทยามองแนวทางการป้องกันไม่ให้ยุงกัดหรือไล่ยุงว่า จะเป็นทางเลือกที่ดีเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างระบบนิเวศกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันยุงในประเทศไทยมีมากกว่า 400 ชนิด จำแนกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ยุงลาย ยุงก้นป่อง ยุงรำคาญ และยุงยักษ์ แต่มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่เป็นพาหะนำโรค โดยยุงลายเป็นพาหะโรคไข้เลือดออกและชิคุนกุนยา ยุงก้นปล่องเป็นพาหะโรคมาลาเรีย ยุงรำคาญเป็นพาหะโรคเท้าช้างและไข้สมองอักเสบ


“ความพิเศษอยู่ที่ยุงยักษ์ ซึ่งเป็นยุงที่มีประโยชน์ เพราะตัวอ่อนช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลาย ส่วนตัวเต็มวัยก็ไม่กัดคน ดังนั้น ก่อนที่จะคิดวิธีกำจัดยุงพาหะนำโรค ก็ต้องศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับยุงเหล่านั้นก่อน ตั้งแต่ธรรมชาติของยุงไปจนถึงพันธุกรรมยุง เพื่อให้ได้วิธีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด” นักวิจัยกล่าว


ผลิตภัณฑ์และสีทาบ้านไล่ยุงนี้ เกิดจากโครงการวิจัย “นิเวศวิทยาของยุงและแมลงวันคอกสัตว์ และนัยความเป็นไปได้ในการใช้สารสกัดพืช เพื่อควบคุมแมลงพาหะนำโรค” ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกว. และจดสิทธิบัตรเครื่องมือศึกษาคุณสมบัติของสารเคมีไล่ยุงแล้ว