ดูแลสุขภาพใจง่ายๆ ที่บ้าน ‘ Ooca’

ดูแลสุขภาพใจง่ายๆ ที่บ้าน ‘ Ooca’

การไปหาจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาเพื่อระบายความเครียดหรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่คิดไม่ตกไม่ใช่เรื่องที่ “น่าอาย”

เพราะสุขภาพจิตก็ไม่ต่างกับสุขภาพกาย ที่เมื่อไหร่รู้สึกไม่สบาย มีอาการร้อนๆ หนาวๆ ครั่นเนื้อครั่นตัวก็ต้องรีบไปหาแพทย์ และทั้งสองเรื่องนี้ยังส่งผลกระทบต่อทั้งตนเอง ครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม


รู้หรือไม่ว่า มีระบบที่จะช่วยทำให้ทุกคนสามารถมีที่ปรึกษาส่วนตัว เป็นนักจิตแพทย์ และนักจิตวิทยา ได้ง่าย ๆ ที่บ้านผ่าน “วิดีโอ คอล” ชื่อว่า  “Ooca” (อูก้า)


“ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์” (อิ๊ก) ผู้ก่อตั้ง อูก้า เล่าว่า ไอเดียแรกเริ่มมาจากปัญหาของตัวเอง คือระหว่างที่เธอทำงานซึ่งทั้งหนักและเหนื่อยทำให้เกิดความเครียด ความไม่สบายใจทำให้ต้องการขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ แต่ติดปัญหาเพราะทำงานอยู่ในต่างจังหวัดที่ห่างไกล และการเดินทางเข้ามาหาหมอในกรุงเทพก็ต้องเสียเวลาในการทำงานดูแลคนไข้


“แต่เมื่อได้เจอก็คุ้ม เพียงแค่เราได้พูดคุยก็รู้สึกสบายใจ เพราะคุณหมอจะมีวิธีการคุยที่จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ทำให้เราได้เห็นว่าปัญหาจริงๆอยู่ตรงไหน”


หมออิ๊กบอกว่า อูก้า เริ่มต้นจากความคิดที่หวังจะมาช่วยแก้ปัญหาของตัวเอง ที่มีความรู้สึกว่าเวลาที่อยากจะคุยหรือปรึกษาใครสักคนตอนที่มีความเครียดนั้น “ไม่ง่ายเลย” และเพราะอยู่ในแวดวงทางการแพทย์ทำให้มองเห็นว่าไม่เพียงแค่เคสของตัวเองเท่านั้น แต่การเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยเรา


แนวคิดนี้เกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากลับไม่ได้ถูกพัฒนาให้เป็นรูปเป็นร่างเท่าที่ควร เนื่องจากหมออิ๊กและผู้ร่วมก่อตั้ง ต่างอยู่ในระหว่างการเรียนต่อ ทำให้ชีวิตค่อนข้างยุ่งเหยิง คือไหนจะต้องอ่านหนังสือ ต้องเข้าเวร ต้องทำพรีเซนต์ ต้องดูคนไข้ ต้องเข้าห้องผ่าตัด ฯลฯ


"เลยต้องมานั่งคิดว่าเราจะเอาดีกับการเป็นหมอ หรือว่าจะกลับไปทำสิ่งที่ได้เริ่มต้นไว้ ซึ่งถ้าไม่ทำมันก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย เราต้องเลือกและตัดสินใจว่าส่วนตัวอยากทำอูก้ามากกว่า ก็เลยลาออกจากงานและไม่เรียนต่อ คือถ้าอูก้ามันไม่เกิดก็ไม่เป็นไร เราแค่เสียเวลา เสียเงินนิดหน่อย ดีกว่าไม่ได้ลองทำดู"


หมออิ๊กจึงมีเวลาในการศึกษาหาข้อมูล และทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้ของธุรกิจอย่างเต็มที่ ทั้งยังได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อเรียนรู้ว่าประเทศเขาไปถึงไหนแล้ว และมีแนวทาง มีมาตรฐานอย่างไรในเรื่องของ “Telemedicine” ที่เป็นการนำเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบเรียลไทม์


"ที่อเมริกามีคนที่ทำโปรแกรมสำเร็จรูปเตรียมขายเพื่อให้คนซิ้อเอาไปปลั๊กอินใช้ได้เลยเป็นจำนวนมาก ส่วนตัวแล้วไม่อยากได้แบบนี้แต่คิดจะทำเองให้มันดี เพราะไม่อยากตกเป็นทาสของการใช้โปรดักส์ของต่างชาติ ซึ่งหมายถึงเราต้องจ่ายค่าไลเซ่นส์ให้เขาไปเรื่อยๆ เงินก็จะไหลออกนอกประเทศเรื่อยๆ ถ้าคนไทยไม่คิดทำอะไรขึ้นมาเอง"


คอนเซ็ปต์ของอูก้าที่หมออิ๊กคิดไว้ก็คือ การเป็นช่องทางสำหรับทุกคนที่ต้องการจะพูดคุยปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ซึ่งหากไม่รู้จะเริ่่มต้นที่ไหนก็ขอให้มาเริ่มที่อูก้า


เพราะเธอเคยทำแบบสำรวจแล้วพบว่า คนไทยมีความเครียดแต่การจะเข้าไปพบและปรึกษากับแพทย์จริงๆมีค่อนข้างน้อย เพราะไม่กล้าและไม่รู้จะไปเริ่มต้นที่ตรงไหน


"ระบบของเราจะยึดตามหลัก HIPAA Compliance ของอเมริกา มีความปลอดภัยในการเก็บข้อมูล เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้มีการวางมาตรฐาน หรือกำหนดกฏเกณฑ์เกี่ยวกับการปรึกษาแพทย์ทางไกลไว้ชัดเจน เราจึงต้องหาแนวทางเพื่อเป็นหลักยึดในการปฏิบัติ"


อูก้าเริ่มจากการตลาดแบบ “บีทูซี” เหตุผลของหมออิ๊กก็คือ ธุรกิจนี้คงไม่สามารถทำเงินได้ทันทีทันใด แต่ต้องอาศัยการสร้างความรู้ความเข้าใจกับคนในสังคมเสียก่อน


"สิ่งที่เราพยายามต่อสู้ ก็คือความละอายของผู้คนซึ่งเป็นทัศนคติที่คนส่วนใหญ่ เราอยากจะบอกว่า การไปหาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยานั้นไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ซึ่งระบบของเราจะมีส่วนช่วยทำให้มันง่ายยิ่งขึ้น"


อูก้าจะอยู่ในรูปแบบของ “แอพพลิเคชั่น” เพื่อให้ทุกคนสามารถดาวน์โหลดและสมัครเป็นสมาชิกเพื่อขอรับการบริการ ทั้งนี้ทั้งนั้นเบื้องต้นมันถูกพัฒนาขึ้นในรูปแบบของเว็บแอพ


"ข้อดีของมันก็คือเข้าผ่านโครมได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลด และสามารถแก้ไขได้เร็ว มีอะไรก็แก้เลย อัพเลย ขึ้นเลย มันไม่เหมือนการทำเป็นแอพซึ่งเวลาพัฒนาออกมาใหม่ๆมักจะมีปัญหา เราอยากเทสต์ให้ชัวร์ว่ามีปัญหาให้น้อยที่สุด แล้วจะค่อยทำเป็นแอพ "


ปัจจุบันเว็บแอพอูก้าลอนซ์สู่ตลาดได้พักใหญ่ ๆ หมออิ๊กบอกว่าได้รับผลตอบรับค่อนข้างดีเพราะมีคนเข้ามาใช้บริการอยู่เรื่อยๆ พร้อมกับมีเสียงเรียกร้องเข้ามาว่าทำไมไม่มีแอพไอโอเอสเสียที ซึ่งเธอคอนเฟิร์มว่าลูกค้าจะได้ใช้บริการภายในเดือนสิงหาคมนี้อย่างแน่นอน


"เวลานี้มีคนสมัครในระบบแล้วราว 900 คน แต่ที่มาใช้งานจนจบหรือที่แอคทีฟจะมีอยู่ประมาณ 60-70 คนต่อเดือน ที่ยังมีจำนวนไม่มากส่วนหนึ่งเป็นเพราะก่อนหน้านี้เราบล็อกการใช้งานต้องผ่านโครมถ้าเข้าผ่านไอโอเอสก็จะมองไม่เห็น เนื่องจากเรากังวลว่าคนเข้ามาแล้วจะไม่เห็นว่าเขาต้องคุยกับแพทย์ผ่านเอนดรอย แต่พอคิดในเชิงที่ว่าคนก็ยังไม่ค่อยรู้เลยว่าอูก้ามีบริการอะไรบ้าง การบล็อกตั้งแต่แรกจึงเป็นการเสียโอกาสทั้งสองฝ่าย ตอนนี้ก็เลยไม่บล็อก"


ระบบของอูก้าจะมีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และมีให้เลือกว่าจะพูดคุยหรือพบกับแพทย์ท่านใด (มี 8-9 คน) ทั้งเลือกปัญหาที่ต้องการจะปรึกษาซึ่งมีครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน ครอบครัว ความรัก ซึมเศร้า ฯลฯ พร้อมกับระบุช่วงเวลา


"เราจะแมตซ์ปัญหาตรงกับความเชี่ยวชาญของอาจารย์หมอแต่ละท่าน และยังให้ผู้ใช้บริการสามารถกดดูประวัติการทำงานของหมอแต่ละท่านด้วย และเมื่ออยากปรึกษากับท่านไหนก็กดเลือกซึ่งระบบจะขึ้นตารางว่าคุณหมอว่างเวลาใดบ้างแล้วก็จ่ายเงิน โดยเราจะตกลงกับคุณหมอว่าถ้าเป็นคนไข้ใหม่ การปรึกษาใน15 นาทีแรก จะคิดค่าบริการไม่เกิน 300 บาท"


ในเรื่องของค่าใช้จ่ายนั้น หมออิ๊กบอกว่าแล้วแต่คุณหมอแต่ละท่านจะตั้งเรตราคาขึ้นเอง และอูก้าจะหักเปอร์เซ็นต์ค่าบริการจากฝั่งคุณหมอโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15-30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนระยะเวลาในการให้บริการจะเริ่มต้นที่ 15-30 นาที แต่ผู้ใช้บริการสามารถคุยต่อไปได้เรื่อยๆ และระบบจะชาร์ตราคาต่อไปเรื่อยๆ


ถามถึงไมล์สะโตน หมออิ๊กบอกว่า ในปีนี้เธอคาดหวังว่าจะมีคนเข้ามาใช้บริการอูก้าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าพันรายต่อเดือน ซึ่งมีความมั่นใจเพราะเมื่อพัฒนาแอพไอโอเอสแล้วน่าจะช่วยในการเข้าถึง ทำให้คนใช้บริการมากขึ้นอย่างแน่นอน


"ในปีนี้ยังเป็นเรื่องของการพีอาร์ทำให้คนรู้จักให้มากที่สุด เพราะมันยังเป็นเรื่องใหม่ เราอยากทำให้คนที่กำลังเผชิญปัญหาจริงๆ ได้รู้จักเราและเข้ามาใช้บริการ และจากนั้นเราวางแผนจะไปจับมือกับฝั่งธุรกิจ ทำตลาดบีทูบี ไปบริการพนักงานของบริษัท และองค์กรต่างๆ "


นอกจากนั้นจะไม่มีแค่เพียงสุขภาพกาย อูก้ากำลังจะเพิ่มโหมดการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพกายด้วย หมออิ๊กบอกว่า เพราะอยากให้การบริการมีความครอบคลุม และครบวงจร เพราะในเวลานี้ผู้ใช้บริการก็มักจะถามถึงบริการสุขภาพด้านอื่นๆ แต่ที่สุดอูก้าจะยังโฟกัสด้านจิตใจเป็นหลัก


เพื่อให้ฝันใหญ่บรรลุล่วง สุดท้ายอูก้าก็คงหนีไม่พ้นการระดมทุน ซึ่งหมออิ๊กบอกว่าที่ผ่านมาเธอหลีกเลี่ยงในเรื่องนี้และควักกระเป๋าของตัวเองมาโดยตลอด


“ตอนเริ่มต้นเราไม่อยากมีคนอื่นมาร่วมทุน กลัวว่าเขาอาจจะมาเปลี่ยนแนวคิดในการทำงานของเรา แต่ตอนนี้อูก้าเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ก็คิดว่าถึงเวลาที่จะระดมทุนเพื่อทำให้ธุรกิจขยายตัวได้มากกว่านี้”