หวั่น 'เพซ' ส่วนทุนติดลบ

หวั่น 'เพซ' ส่วนทุนติดลบ

หวั่น “เพซ” ส่วนทุนติดลบ โบรกเกอร์ชี้ต้นเหตุบันทึกมูลค่าสินทรัพย์เพิ่ม ด้าน "เมืองไทยลิสซิ่ง" ยันไม่มีปัญหาผิดนัดชำระตั๋วบีอีจนต้องเพิ่มทุน

โบรกเกอร์ชี้ “เพซ” ตีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่ม ประคองส่วนทุนไม่ให้ติดลบ ด้านตลาดหลักทรัพย์ปล่อยเทรดหลังแก้ไขงบการเงิน ด้านเมืองไทยลีสซิ่งยันไม่มีปัญหาตั๋วบีอีจนต้องเพิ่มทุน

จากกรณีบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)PACE รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ปี2560 มีกำไร 4.76 พันล้านบาทจากงวดเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 640 ล้านบาท โดยการนำรายได้อนาคตมาบันทึกบัญชี และผู้สอบบัญชีไม่มีความเห็นต่องบการเงินดังกล่าว จนตลาดหลักทรัพย์สั่งห้ามซื้อขายหุ้น และให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ล่าสุดเมื่อชี้แจงมาหุ้นได้เปิดซื้อขายตามปกติ

นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าเรื่องของการบันทึกบัญชีเพซนั้น ฝ่ายวิเคราะห์มองว่า เป็นการบันทึกจากนำการลงทุน 2 กองทุนขนาดใหญ่ในบริษัทย่อยมาตีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวทำเพื่อไม่ให้บริษัทมีส่วนทุนที่ติดลบ และอาจทำให้บริษัทต้องเพิ่มทุนหรือเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้การบันทึกบัญชีดังกล่าวจะไม่มีผลกับกำไรของบริษัทแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามการแก้ไขบัญชีในครั้งนี้จะไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น เนื่องจากบริษัทยังสามารถทำธุรกิจได้ตามปกติ รวมถึงเจ้าหนี้สถาบันการเงินน่าจะมีความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว และรับทราบความเสี่ยงของบริษัท

ทั้งนี้สัญญาณของบริษัทที่มีปัญหาหนี้สินจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ต้องจับตา เพราะภาวะการระดมทุนในตั๋วบีอี นั้นทำได้ยากขึ้น โดยปัจจุบันผู้ลงทุนจะเลือกลงทุนเฉพาะตั๋วบีอีที่มีเรทติ้งดีเป็นหลัก ทำให้บริษัทจดทะเบียนต้องมีการปรับการใช้เงินทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น 

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส กล่าวว่า นักลงทุนจะมองเรื่องการที่บริษัทพลิกกลับมามีกำไรสูงมากงวดไตรมาส2ปี2560 เป็นบวกน้อยลง เพราะมีประเด็นถึงความถูกต้องการบันทึกบัญชีครั้งนี้ อีกทั้งก็ยังมีปัญหารออยู่ว่าในที่สุดบริษัทจะมีการแก้ไขงบการเงินหรือไม่ โดยผู้สอบบัญชียังไม่ให้ข้อสรุปต่องบรวม อีกทั้งหากไม่นับกำไรพิเศษเพซก็ยังมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานไตรมาส2ปีนี้จำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับหนี้เงินกู้ที่สูงรออยู่ ด้านแบงก์ไทยพาณิชย์ที่เป็นผู้ปล่อยกู้หลักให้กับเพซก็ได้รับผลกระทบจากความเป็นไปของเพซด้วย เพราะตลาดมีความกังวลการจะเป็นหนี้NPLหรือไม่

บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ผลการดำเนินงานหลักยังขาดทุน 1,912 ล้านบาท แม้มีรายได้หลักกว่า 66% ของรายได้รวมมาจากการโอนโครงการมหานคร 1,692 ล้านบาทเพิ่มขึ้น75%จากงวดเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อรวมผลกระทบจากการสูญเสียอำนาจควบคุมในบริษัทย่อย 8.8 พันล้านบาท หลังบันทึกมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนจำนวนเงิน 8,231 ล้านบาทของกลุ่มบริษัท อพอลโล โกลบอล แมเนจเมนท์ และโกลด์แมน แซคส์ ที่เข้ามาลงทุนในบริษัท เพซ โปรเจ็ค วัน จำกัด และบริษัท เพซ โปรเจ็ค ทรี จำกัด เพื่อร่วมลงทุนใน 3 ส่วนหลักของโครงการมหานคร ได้แก่ โรงแรมบางกอก เอดิชั่น ส่วนรีเทล มหานคร คิวบ์ รวมถึงจุดชมวิวออบเซอร์เวชั่นเด็ค และรูฟท็อปบาร์

ขณะที่หนี้สินต่อทุนล่าสุดแม้จะลดเหลือ 4.4 เท่าจาก 17.84 เท่า ช่วงปลายปี2559 แต่ยังค่อนข้างกังวลถึงฐานะการเงินที่อ่อนแอและความสามารถในการทำกำไรที่แท้จริงของบริษัท

วานนี้(17ส.ค.)การเคลื่อนไหวราคาหุ้นเพซ เมื่อปลดเครื่องหมายSP ราคาปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนมาปิดซื้อขายที่ราคา 2.18 บาทลดลง0.91%มูลค่าการซื้อขาย 215.94ล้านบาท 

ขณะที่บริษัทเมืองไทยลิสซิ่ง จำกัด(มหาชน)MTLSแจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าบริษัทไม่มีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้จนทำให้ต้องเพิ่มทุน