ครึ่งปีกำไรบจ.เกิน '5แสนล้าน'

ครึ่งปีกำไรบจ.เกิน '5แสนล้าน'

ครึ่งปี "กำไรบจ."เกิน5แสนล้าน โบรกชี้ 144 บริษัทขาดทุน

สิ้นสุดการประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส2ปี2560 และงวดครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งภาพรวมกำไรบจ.ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยมีกำไรรวมเกิน 5 แสนล้านบาท ขณะที่โบรกเกอร์ทยอยปรับประมาณการกำไรบจ.ปีนี้ลดลง อย่างไรก็ตามมีบริษัทที่ประสบภาระการขาดทุน144 บริษัท

บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า บริษัทจดทะเบียนได้ประกาศงบไตรมาส2ปีนี้ราว 560 บริษัท รวม 2.216 แสนล้านบาท(คิดเป็น 99% ของ Market Cap ทั้งตลาดฯ)ลดลง 11% จากงวดไตรมาสเดียวกันปีก่อน และลดลง 23.2% จากงวดไตรมาสแรกของปีนี้ ทั้งนี้เป็นการลดลงเกือบทุกกลุ่ม และหากไม่รวมกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พบว่า ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 1.649 แสนนบาท ลดลง 12%จากงวดเดียวกันปีก่อน และลดลง 26.2%จากไตรมาสแรก โดยกลุ่มที่ลดลงมากสุดคือ ขนส่ง (ส่วนใหญ่ทางอากาศ และทางทะเล) ลดลง 48%จากงวดเดียวกันปีก่อน และลดลง 86%จากไตรมาสแรก ICT ลดลง 42% และลดลง 40% ตามมาด้วย ปิโตรเคมีลดลง 7.5% และ 42% วัสดุก่อสร้างลดลง 27% และ ลดลง 30% และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงอัตราเท่ากัน 29% เป็นต้น

ตรงกันข้ามกลุ่มที่เพิ่มขึ้นสวนทางมีน้อยที่โดดเด่นคือ โรงพยาบาล เพิ่มขึ้น 67.3%จากงวดเดียวกันปีก่อน และเพิ่ม 44%จากไตรมาสแรกปีนี้ และพัฒนาอสังหาฯ เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น 38% และเพิ่ม 80% รองลงมาคือ พาณิชย์ 15% และ 2% ที่เหลือปรับขึ้นในอัตราจากงวดเดียวกันปีก่อน แต่ลดลงไตรมาสแรกที่ผ่านมาได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ เพิ่ม 34% แต่ลดลง 6%และ ท่องเที่ยว และโรงแรม เพิ่ม 11% แต่ลดลง 83%

เมื่อรวมกำไรงวดไตรมาสแรกปีนี้ที่ทำกำไรสุทธิรวมกัน 2.85 แสนล้านบาท ในงวดครึ่งปีแรกมีกำไรตลาดน่าจะทำได้ราว 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของประมาณการกำไรปี 2560 ที่ประเมินไว้ 9.9 แสนล้านบาท แม้ยังมิได้รวมผลกระทบจากการปรับลดสมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนลดลงจากเดิม 35 บาท เหลือ 34 บาทต่อดอลลาร์ ในกลุ่มส่งออกที่ทยอยปรับหลังประกาศงบงวดนี้แต่คาดว่าจะกระทบกำไรตลาดน้อย (กำไรกลุ่มเกษตร-อาหารและ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปรับลดลงกลุ่มละ 5% จากประมาณการเดิม แต่กำไรทั้ง 2 กลุ่มมีสัดส่วนน้อยราว 4% ของตลาดรวม) เชื่อว่าแรงขายรวมงบน่าจะลดลง แต่ดัชนียังมีแนวโน้มแกว่งตัวหรือซึม เพราะยังมีจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทยระบุว่าบริษัทจดทะเบียนรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2ปีนี้ ออกมา จากการรวบรวมของ DBSV ได้ 97% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดพบว่า กำไรสุทธิไตรมาสนี้อยู่ที่ 2.24 แสนล้านบาท (ไม่รวม MAI) ลดลง11%จากงวดเดียวกันปีก่อน และลดลง 23%จากงวดไตรมาสแรกปีนี้ และเท่ากับ 2.23 แสนล้านบาท (รวม MAI) ลดลง10%จากงวดเดียวกันปีก่อน,ลดลง 23%จากงวดไตรมาสแรกที่ผ่านมา

สำหรับงวด6เดือนแรกของปีนี้มีกำไรสุทธิ 5.17 แสนล้านบาท (รวม MAI)เพิ่มขึ้น 5%จากงวดเดียวกันปีก่อน และเป็น 5.16 แสนล้านบาท (ไม่รวม MAI) เพิ่มขึ้น 6%จากงวดเดียวกันปีก่อน โดยกำไรที่ลดลงมีทิศทางเดียวกับที่คาดการณ์ไว้

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทยรายงานว่า สรุปผลประกอบการไตรมาส 2 โดยอ้างอิงจากหุ้นประมาณ 90% ของทั้งหมด (ประมาณ 640 บริษัท) พบว่ามีหุ้นที่ผลประกอบการเติบโตทั้งจากงวดเดียวกันปีก่อน และงวดไตรมาสแรกที่ผ่านมา เพียง 190 บริษัท ขณะที่มีบริษัทขาดทุนสูงถึง 144 บริษัท ส่งผลให้นักวิเคราะห์ทยอยปรับประมาณการ EPS ของ SET ลดลงจาก 102.37 มาอยู่ที่ 100.9 ใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดของปี

บล.ทิสโก้ ระบุว่า ถึงแม้กำไรสุทธิไตรมาสแรกปีนี้ โดยรวมของบริษัทจดทะเบียนไทยเติบโตดีมากเพิ่มขึ้น 22%จากงวดเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 42%จากไตรมาสแรกที่ 2.90 แสนล้านบาท แต่กำไรสุทธิไตรมาส 2ปีนี้ โดยรวมพลิกกลับมาลดลงทั้งงวดเดียวกันปีก่อนและ ไตรมาสแรกของปีนี้ที่ลดลง 9% และลดลง 22% ตามลำดับ มาที่ 2.24 แสนล้านบาท ผลมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมหลักๆ อาทิ กลุ่มธนาคาร, กลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มสื่อสารมีกำไรสุทธิลดลงทั้ง แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มค้าปลีก และกลุ่มอสังหาฯ เป็นกลุ่มที่มีกำไรดีขึ้น

ด้วยแนวโน้มประมาณการกำไรของตลาดทรงกับลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ส่งผลให้กำไรปีนี้อาจโตต่ำกว่า 5% เทียบกับปัจจุบันที่คาดการณ์ว่าจะโต 6% (ลดลงต่อเนื่องจากเมื่อต้นปีที่ตลาดคาดการณ์ว่ากำไรจะโตได้เกือบ 10%)

อย่างไรก็ดี การจ่ายปันผลระหว่างกาลอาจช่วยประคับประคองราคาหุ้นบางตัวให้ยืนอยู่ได้ระยะสั้น โดยหุ้นขนาดใหญ่หลายตัวในกลุ่มพลังงานและกลุ่มแบงก์ยังไม่ได้ประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาล อาทิ PTT, EGCO, RATCH, TPIPP, BCP, SCB, KBANK, BBL, BAY, KKP เป็นต้น ซึ่งโดยปกติมักจะทยอยประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในช่วงครึ่งหลังของเดือนนี้ จึงอาจช่วยยันตลาดได้