กำไรวูบผสมโรงวิกฤติ "ดราม่า" ช่อง 3

กำไรวูบผสมโรงวิกฤติ "ดราม่า" ช่อง 3

ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อนว่า รายได้ และกำไรของช่อง 3 ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมทีวีจะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ที่กำไรวูบไปกว่า 75%

              รายได้ กำไรที่ลดลงนี้ กลายเป็นเรื่องดราม่าของ วิก 3 พระราม 4 นอกเหนือจากเรื่องราวของพี่น้องเลือกข้าง การมีละครถึง 50 เรื่องต่อปี ต้นทุนผลิตรายการบันเทิงปีละ 5,000 ล้านบาท แต่เรทติ้งก็ยังลดลง การมีพนักงาน 800 คนอายุเกิน 60 ปี ต้นทุนพนักงานปีละกว่า 1,600 ล้านบาท การดึงคนนอกเข้ามาบริหาร จนมีกระแสข่าวถูกเทคโอเวอร์

               ดราม่าเรื่องตัวเลขที่ทำให้สะเทือน และกดดันต้องให้มีการเปลี่ยนแปลงนั้น เพราะอาการขาลงของผลประกอบการช่อง 3 ที่เห็นได้ชัด คือตัวเลขที่โชว์ในไตรมาส 2 ปี 2560 ของบริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ที่ปัจจุบันเป็นเจ้าของทีวีดิจิทัล 3 ช่อง คือ ช่อง 33 เอชดี, ช่อง 28 วาไรตี้,  และช่อง 13 เด็ก และครอบครัว ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า มีกำไรสุทธิ 112.7 ล้านบาท  น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน  350.9 ล้านบาท คิดเป็นลดลง 75.7%

               คำชี้แจงผลประกอบการระบุว่า ที่มาของกำไรไตรมาส 2 ที่ลดลง เพราะมีรายได้จากยอดขายเวลาโฆษณา 2,714.1 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 615.1 ล้านบาท หรือลดลง 18.5% และมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 198.5 ล้านบาท จากการที่มีรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาระดับโลกหลายรายการ   ทำให้รวม 6 เดือนแรกของปี 2560 บีอีซีมีกำไร 361 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 3 เท่า ที่มีกำไร 1,037.3 ล้านบาท หลังจากรายได้ และกำไรลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา

               ตัวเลขรายได้และกำไรของธุรกิจทีวี ไม่ใช่เพียงแค่ช่อง 3 เท่านั้นที่ต้องสัมผัสกับความจริงเรื่องตัวเลข “ลดลง” เพราะมีอีกหลายช่องอยู่ในแนวโน้มเดียวกัน  และบางช่องหนักถึงขั้นขาดทุน อีกด้านหนึ่งก็มีบางช่องได้สัมผัสกำไร “เพิ่มขึ้น” ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติในการทำธุรกิจ

               แต่สำหรับช่อง 3 แล้วรายได้กำไรลดลง ไม่ใช่ภาวะปกติ เพราะเป็นช่องใหญ่ มีแฟนประจำที่เป็นฐานผู้ชม “แมส” ทั่วประเทศ กวาดเม็ดเงินโฆษณานับหมื่นล้านบาท จนทำให้ตระกูล “มาลีนนท์” ติดอันดับเศรษฐีเมืองไทยมานาน

               สัญญาณความไม่ปกติ เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2555  ที่ “ประวิทย์ มาลีนนท์“   ประกาศลาออกจากตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ” ของช่อง 3 เหลือเพียงตำแหน่ง “กรรมการ” โดยให้เหตุผลด้านสุขภาพ และ “ประสาร มาลีนนท์“ พี่ชายคนโตมาบริหารแทน  โดย “ประวิทย์” ยังคงมีบทบาท  ดูรายการ “ละคร”  ต่อมา 16 ต.ค.2559 “ประสาร”เสียชีวิต

               ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดของทีวีดิจิทัลที่เกิดใหม่กว่า 20 ช่อง และมาแย่งผู้ชมช่อง 3 ไปได้บางส่วน โดยเฉพาะค่ายเวิร์คพอยท์ อาร์เอส และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่เคยเป็นผู้ผลิตรายการให้ช่อง 3 ต่างก็แยกย้ายไปสร้างช่องของตัวเอง ขณะที่สื่อใหม่เริ่มเกิดขึ้น โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่ดึงผู้ชมคนรุ่นใหม่ออกจากหน้าจอทีวีไปได้จำนวนมาก

               เมื่อกำไรลด ปันผลน้อย จึงถึงจุดที่พี่น้องบางคนขอเลือก “นายคนใหม่” เพื่อพานาวาลำนี้ให้ปลอดภัย ท่ามกลางคลื่นที่กำลังซัดแรง

               เพียงแค่ 6 เดือนแรกของปี 2560 มีผู้บริหาร “คนนอก” โดยการชักนำของลูกชายคนเล็กของครอบครัว คือ “ประชุม มาลีนนท์”  ที่นั่งบริหารสูงสุดในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท (Group Chief Executive Officer) พาเหรดเข้ามาในตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง  กลายเป็นดราม่าประจำวิกพระราม 4 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะข่าวลือสนั่นถึงขั้นขายธุรกิจให้กับค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ อย่างเอไอเอส และข่าวสนั่นโซเชียลที่สุดน่าจะเป็นการขายธุรกิจให้กับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงขั้นที่ “ประชุม” ต้องแถลงการณ์ชี้แจงว่า “ไม่เป็นความจริง”

               ขณะที่ “นายประวิทย์” เดินหน้าไปสู่อีกเส้นทางหนึ่ง คือการสร้างหนัง โดยประเดิมด้วยเรื่อง “นาคี 2”   ที่ถูกจับตามองว่า หรือนี่จะเป็นอีกอาณาจักรใหม่ของ “มาลีนนท์” หรือไม่          

               นับจากนี้อาณาจักรวิก 3 พระราม 4 ที่แลกการแก้ปัญหาด้วยการนำคนนอกเข้ามาบริหารวิกฤติ จึงเป็นเดิมพันครั้งสำคัญที่ต้องจับตาของครอบครัว “มาลีนนท์”