“CASTCAT” แมวมอง ฟอกน้ำดีบันเทิงไทย

“CASTCAT” แมวมอง ฟอกน้ำดีบันเทิงไทย

ในวันที่เห็นศิลปินแจ้งเกิดเป็นดาวจรัสแสงค่าตัว 7-8 หลัก แต่นั่นแค่ 10-20% ของคนในวงการนี้ ยังมีคนส่วนใหญ่ไปไม่ถึงฝัน ผิดหวังจากวงการมายา ถูกกดค่าตัว หลอกลวง และได้งานไม่ตรงกับตกลง

“CASTCAT” เว็บไซด์ด้านสตาร์ทอัพ จึงเกิดขึ้นเพราะอยากเป็นตัวกลาง เชื่อมความต้องการของบริษัทโปรดักชั่น ให้มาเจอกับนักแสดงที่ใช่ พร้อมมีส่วนล้างภาพการหักค่าหัวคิวโหด ให้ตัวประกอบมีรายได้เหมาะสม

อุตสาหกรรมบันเทิงที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ที่ปรึกษากฎหมายและบริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ของโลก ประเมินว่า ในปี 2560 การใช้จ่ายด้านสื่อและบันเทิงไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 322,525 ล้านบาท (9,700 ล้านดอลลาร์) กลายเป็น “ความหอมหวาน” ชวนให้ผู้คนแห่แหนอยากแจ้งเกิดความเป็นดาว ที่มีทั้งเงินทอง และชื่อเสียง

ทว่า เรื่องจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเบื้องหน้าความสำเร็จของนักแสดงบางรายที่ดังเป็นพลุแตก เบื้องหลังกลับมีผู้คนอีกเป็นจำนวนมากที่อกหักกับวงการมายานี้ โดยเฉพาะ“การถูกหลอก”กินค่าหัวคิวโหดจากบริษัทโปรดักชั่น  

ดลวัฒน์ วิภาตะศิลปิน อดีตนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ เอกภาพยนตร์ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปัจจุบันคือผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินซิตี้ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ธุรกิจสตาร์ทอัพที่หวังจะ “ปลดล็อค” ปัญหาเก่าเก็บให้นักแสดงอิสระเหล่านี้ ที่พบว่ามีจำนวนมากกว่า 3 แสนคน โดยเฉพาะการเป็น “ประกอบระดับกลาง และระดับล่าง (เอ็กซตร้า)” ที่ไม่อาจปฏิเสธความฝันของพวกเขา ที่ต้องการไต่เต้าสู่ความเป็นดาว ศิลปินที่มีชื่อเสียง

ทว่า สุดท้ายตัวประกอบส่วนใหญ่ ก็มักจะเป็นได้แค่ตัวประกอบอาชีพ ที่ต้อง“หารายได้เลี้ยงชีพ”ด้วยค่าตัวที่เหมาะสม 

การปลุกปั้นดาวให้เจิดจรัส ค่าตัวหลักแสนหลักล้าน มีคนไปยืนจุดนั้นได้แค่ 10-20% ระหว่างทางก็ม่ีข่าวไม่ค่อยดีมาตลอด ทั้งถูกผู้จัดการหักค่าหัวคิวสูงเกินจะรับได้ จนมีปัญหาทะเลาะกัน หรือแม้กระทั่งแมวมอง ผู้กำกับทั้งจริงและปลอมที่หลอกฟันค่าตัวนักแสดง” ดลวัฒน์ เล่า และว่า

ในฐานะที่เรียนจบมาด้านภาพยนตร์ ได้มีโอกาสคลุกวงในอยู่ในแวดวงบันเทิงในตำแหน่งผู้จัดการกองถ่ายทำภาพยนตร์ จึงคิดแบบที่จะ เปิดพื้นที่” ให้นักแสดงตัวประกอบที่ใฝ่ฝันจะได้เข้าวงการบันเทิงได้มีที่ยืน หาเลี้ยงตัวเองด้วยการเป็นนักแสดงโดยไม่ถูกหักค่าหัวคิวโหด

“บางคนไปแสดงค่าตัว 300 หากถูกหักค่าหัวคิว 20% แล้วพวกเขาจะเหลืออะไร เพราะนั่นก็เป็นอาชีพของพวกเขา”

ดลวัฒน์ จึงตกผลึกไอเดีย กับรุ่นน้อง ฐาปกรณ์ จำปาใด อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้ง ชวนกันมาเป็น“สตาร์ทอัพ” ไล่น้ำเสียออกจากวงการมายา ด้วยการพัฒนาเว็บไซด์ที่ชื่อ CASTCAT (แคสท์แคท) เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างบริษัทโปรดักชั่นซึ่งเป็นฝ่ายผลิต เข้ากับนักแสดง ภายใต้ชื่อบริษัท ซินซิตี้” (Cincity Entertainment) ที่แปลว่าเมืองบาป ชื่อเหน็บวงการบันเทิง บนความหวังที่จะเปลี่ยนสิ่งดีๆให้กับคนในวงการนี้

ดลวัฒน์ เริ่มต้นอาชีพนี้ด้วยการศึกษาตลาด (Market Research) เพื่อหาความต้องการทั้งฝั่งโปรดักชั่น และนักแสดง โดยพบว่า นักแสดงอิสระที่ปรากฎตัวบนเฟซบุ๊คมีอยู่หลายพันคน และเมื่อเปิดให้นักแสดงเหล่านั้นเข้ามาลงทะเบียนออนไลน์พบว่า มีทันทีกว่า 482 คน

เริ่มต้นลงทะเบียน 480 คนถือว่าออกสตาร์ทดี เพราะไม่ได้โฆษณาอะไร มาจากความต้องการแท้จริงของคนที่ต้องการรับงานด้านการแสดง ขณะที่เว็บไซด์ยังใหม่มากทำให้คนอาจจะยังไม่กล้าเข้ามาลงทะเบียน แต่ต่อไปเหมือนเว็บไซด์เป็นที่รู้จัก จะช่วยนักแสดงอิสระได้เยอะ” เขาเชื่อมั่น ก่อนจะให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันนักแสดงอิสระ จะถูกแบ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม 

  1. เป็นนักแสดงไม่ประจำ(พาร์ทไทม์) โดยมีงานประจำรองรับอยู่แล้ว 2.วัยรุ่นหน้าใหม่ขวนขวาย ดิ้นรน เข้าวงการบันเทิง ลงทุนทำศัลยกรรมและเรียนการแสดง เพื่อปลุกปั้นตัวเอง และ 3.ทำเป็นอาชีพ อายุสูงหน่อย รับงานตั้งแต่ตัวเองยังเป็นวัยรุ่นจนถึงปัจจุบัน ค่าตัวเริ่มต้นตั้งแต่ 500บาท ถึงหลักพันบาท

ดลวัฒน์ บอกว่า เป้าหมายของเว็บไซด์ต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่  2-3 คือคนวัยรุ่นที่ฝันอยากเป็นนักแสดง และคนที่เป็นนักแสดงอิสระอยู่แล้ว โดยงานเริ่มต้นที่เข้ามาคือ งานด้านโฆษณา งานวีดีโอ โปรโมทองค์กร ซึ่งหลังจากเปิดตัวเว็บไซด์ไปมีคนได้รับงานแล้ว 3 งาน ค่าตัวหลักพัน 2 งาน และ อีก 1 งานค่าถ่ายโฆษณาค่าตัว 2 หมื่นบาท นักแสดงก็ได้รับเงินเต็มที่แบบไม่ถูกหักค่าหัวคิว 

แล้วรายได้ของเว็บไซด์จะมาจากไหน ?

คำตอบคือ มาจากการเก็บค่าสมาชิกจากนักแสดงที่เข้ามาลงทะเบียนในรายที่เป็น สมาชิกพิเศษโดยจะมีการเพิ่มจำนวนรูปแบบวีดีโอ ให้พรีเซนต์ตัวเอง ในอัตราสมาชิก 350 บาทต่อปี ซึ่งถือว่าราคาต่ำกว่าเอเจนซี่เรียกค่าหัวคิวมาก ขณะเดียวกันก็จะมีรายได้จากการค่าจัดหานักแสดง เฉพาะการจัดหานักแสดงพิเศษที่บริษัทโปรดักชั่นสเปคคุณสมบัติ ในสัดส่วน 10% เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นอัตราที่นักแสดงน่าจะรับได้

ส่วนแผนในระยะยาว เว็บไซด์ตัวกลางจัดหานักแสดง ยังต้องการจะรุกสู่การจัดหานักแสดงป้อนให้กับกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยปีละ 600-800 เรื่อง

เว็บไซด์ CASTCAT หวังจะป้อนนักแสดงให้กับกลุ่มโปรดักชั่นต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในไทย และมีเป้าหมายขยายตลาดไปยังฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยรวมประเทศเหล่านี้จะมีกองถ่ายทำไม่ต่ำกว่า 1,500 โปรเจคต่อปี หากต้องการนักแสดงขั้นต่ำเฉลี่ยเรื่องละ 5 คน รวมแล้วต้องการนักแสดงไม่ต่ำกว่า 7,500 คน หรืออาจจะมากกว่านั้นหากเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์

ดลวัฒน์ เล่าว่า ปัจจุบันเขาและเพื่อนร่วมงานยังคง “ขายไอเดีย” เพื่อบ่มเพาะสตาร์ทอัพหรือนักธุรกิจเกิดใหม่ให้กับองค์กรหลายแห่ง เพื่อหวังจะได้กลุ่มทุนใหม่มาสนับสนุนทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจปีแรก เขาจะใช้เงินเก็บสะสมจากการทำงานมาเป็นทุนประเดิม โดยภายในสิ้นปีนี้หวังว่าจะเข้าไปคว้ารางวัลไอเดียการดำเนินธุรกิจสักหนึ่งรางวัลจากหน่วยงานที่ส่งเสริมสตาร์ทอัพ หรือมีนักลงทุนเข้าเพิ่มทุน 1 ล้านบาท 

ขณะที่ก๊อกสองที่คิดจะทำคือการต่อยอดเว็บไซด์จัดหานักแสดงสู่การทำ “แอพลิเคชั่น เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้สมบูรณ์มากขึ้น ไปพร้อมกันกับวางแผน จัดโรดโชว์ไปยังมหาวิทยาลัยเพื่อรับถ่ายรูป ลงทะเบียนและอัพโหลดรูปว่าที่นักแสดง ขึ้นเว็บไซต์ทันทีเพื่อสะสมสต็อกนักแสดง รวมถึงการเข้าไปหารือกับโรงเรียนสอนการแสดงและร้องเพลงในกรุงเทพฯที่มีกว่า 100 แห่ง ให้ส่งนักเรียน เข้ามาลงทะเบียนโปรไฟล์ฟรีพร้อมบริการถ่ายรูป เพื่อสร้างโอกาสให้กับเด็กเข้าสู่วงการ

ส่วนฝ่ายการผลิตที่ต้องการนักแสดงเขากำลังอยู่ระหว่างสร้างเครือข่าย(คอนเน็กชั่น) ซึ่งดึงเข้ามาแล้ว 4 รายอยู่ระหว่างเจรจาประมาณ 10-20 บริษัท

เป้าหมายสูงสุดคือสร้างให้อุตสาหกรรมบันเทิงที่เป็นสื่อต้นทางผลิตเนื้อหาที่มีบทบาทชี้นำความคิด และให้การศึกษากับประชาชน ควรเป็นสังคมดีเพื่อเป็นต้นน้ำที่ดีส่งเนื้อหาดีๆให้กับประชาชน และสร้างต้นแบบที่ดีให้กับเยาวชน