สั่ง 27 สนามบินทำแผนรับวิกฤตน้ำท่วม

สั่ง 27 สนามบินทำแผนรับวิกฤตน้ำท่วม

"อธิบดีกรมท่าอากาศยาน" สั่ง 27 สนามบินประเมินความเสี่ยงน้ำท่วม พร้อมจัดทำแผนรับมือสถานการณ์ไม่คาดคิด หวั่นซ้ำรอยสกลนคร

นายดรุณ ฉายแสง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ท่าอากาศยานสังกัด ทย. ทั้ง 27 แห่ง ประเมินความเสี่ยงสนามบินว่าจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมหรือไม่ พร้อมทั้งจัดทำแผนลดความเสี่ยง การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำในสนามบิน เและมาตรการป้องกันน้ำท่วม เพื่อรับมือหากต้องประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมแบบไม่คาดคิด เหมือนกับท่าอากาศยานสกลนคร จ.สกลนคร ซึ่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในรอบ 62 ปี โดยใช้ "สนามบินสกลนครโมเดล" ซึ่งเกิดน้ำท่วมแท็กซี่เวย์ หรือทางขับและรันเวย์หรือทางขับสูงสุดที่ประมาณ 90 ซม.-1 เมตร  ซึ่งในส่วนของสนามบินสกลนครต้องจัดทำเขื่อนกั้นรอบสนามบินเพื่อรองรับน้ำให้สูงกว่าที่ 1 เมตร  

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินเบื้องต้น สนามบินที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมมากที่สุดคือ สนามบินนครศรีธรรมราช ที่เกิดน้ำท่วมเมื่อต้นปี 60  และล่าสุดสนามบินสกลนคร   เพราะเคยผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมมาแล้ว ส่วนสนามบินแห่งอื่นๆ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ความเสี่ยงน้อยจึงไม่น่ากังวล แต่ก็ประมาทไม่ได้ 

ส่วนท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ได้รับจัดสรรงบประมาณมาแล้ว 429 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างคันทาง และระบบป้องกันน้ำท่วม ความยาวประมาณ 12 กม. สูง 4.5 เมตร กว้าง 12 เมตร ระบายน้ำได้ 2.25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  จะช่วยป้องกันน้ำท่วมได้อย่างถาวร  จะเริ่มก่อสร้างภายในเดือน ส.ค.นี้ และใช้เวลาก่อสร้าง 480 วัน ประมาณปลายปี 62 แล้วเสร็จ  ระหว่างนี้ทางสนามบินนครศรีธรรมราช จะทำคันกั้นน้ำบริเวณจุดที่น้ำเคยเข้าออกสนามบินก่อน เพื่อปิดทางน้ำ และกั้นพื้นที่ให้สูงขึ้น เป็นการรับมือชั่วคราวก่อนการก่อสร้างแล้วเสร็จ

สำหรับสนามบินสกลนคร กำลังเร่งจัดทำแผน และออกแบบระบบ เพื่อประเมินว่าต้องใช้งบประมาณเท่าใด ซึ่งจะให้ทันเสนอของบประมาณปี 62 ประมาณต้นปี 61 ทั้งนี้เบื้องต้นมีแนวคิดว่าจะก่อสร้างบ่อสูบน้ำภายในสนามบิน ปรับปรุงขยายคันป้องกันน้ำให้มีความยาวและความสูงมากขึ้น รับน้ำได้สูงกว่า 1 เมตร รวมทั้งปรับปรุงทางระบายน้ำสาธารณะภายในสนามบิน และบริเวณโดยรอบใหม่ เนื่องจากสภาพที่อยู่อาศัยบ้านเรือนของประชาชนโดยรอบสนามบินเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลทำให้ทางระบายน้ำเปลี่ยน จึงต้องทำทางระบายน้ำใหม่ให้สอดคล้องกับทางน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำภายในน้ำสนามบินมีประสิทธิภาพสูงสุด