‘ซีอาร์ดี’ ลุยเอ็มเอไอ

‘ซีอาร์ดี’ ลุยเอ็มเอไอ

"ซีอาร์ดี" ลุยเอ็มเอไอ ขยายฐานรับงานใหญ่ เตรียมลุยโครงการมูลค่า1,000 ล้าน

“เชียงใหม่ริมดอย” คาดเข้าทำการซื้อขายในตลาดเอ็มเอไอไตรมาส 3 เดินหน้ารับงานโครงการวิศวะสุขาภิบาลหวังดันอัตรากำไร มองความเสี่ยงธุรกิจรับเหมาคือปัญหาแรงงานอาจขาดแคลน

นายธีรพัฒน์ จิรพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่ริมดอย จำกัด (มหาชน) CRD ผู้รับเหมาก่อสร้างในพื้นที่ภาคเหนือ เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ภายในปีนี้ เบื้องต้นจะระดมทุนเพื่อนำเงินไปขยายธุรกิจและรองรับการรับงานที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น โดยจะใช้ในการลงทุนขยายเครื่องจักรและเงินทุนหมุนเวียนในอีก 2 ปีข้างหน้า

“บริษัทมองว่าการเติบโตยังมีทิศทางที่ดีจากงานที่จะเข้ามามากขึ้นในอนาคต เป้าหมายของบริษัทคือต้องการรับงานที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น เพื่อช่วยสร้างโอกาสการเติบโตของบริษัทให้มีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายรูปแบบการรับงานรับเหมาก่อสร้างให้มีความหลากหลายมากขึ้น”

แผนธุรกิจปีนี้ บริษัทยังเน้นรับงานเหมาก่อสร้างในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางตอนบนเป็นหลัก โดยมีแผนขยายพื้นที่การรับงานโครงการขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ส่วนแผนธุรกิจของบริษัทในอนาคต จะเน้นใน 4 ด้าน คือ การเข้ารับงานที่เกี่ยวข้องกับวิศวะสุขาภิบาล การบำบัดน้ำเสียและน้ำประปา จุดเด่นในธุรกิจดังกล่าวคือมีอัตรากำไรที่สูงกว่างานด้านอื่นๆ และบริษัทมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ

การเข้ารับงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย ที่อนาคตจะมีออกมาอย่างต่อเนื่อง และการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับกรมชลประทาน รวมถึงการรับงานก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่มากขึ้น และขยายพื้นที่การรับงานที่เพิ่มขึ้น

บริษัทคาดหวังว่าหลังจากเข้าจดทะเบียนจะช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มการรับงานโครงการได้ 700 - 1,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่บริษัทมีศักยภาพในการรับงานโครงการระดับ 500 ล้านบาท โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าร่วมประมูลงานมีมูลค่า 1.5 -3 พันล้านบาท

สำหรับสัดส่วนรายได้ของบริษัทในปัจจุบันในงานโครงการภาครัฐมีสัดส่วน 80% และงานเอกชน 20% สาเหตุที่บริษัทเน้นงานโครงการภาครัฐเนื่องจากมีความต่อเนื่อง ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงปัญหาการล่าช้าของการชำระเงิน ซึ่งงานบริษัทเข้าไปก่อสร้าง ส่วนใหญ่จะเป็นงานก่อสร้างอาคาร ในมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคเหนือ สัดส่วนของกำไรขั้นต้นงานภาครัฐจะอยู่ที่ 5 % ขณะที่งานภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมาอาจปรับตัวลดลงไปบ้าง แต่เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น จากความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมของกลุ่มชาวต่างชาติจากประเทศจีน และน่าจะมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดเด่นของงานภาคเอกชนคือมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 10%

นายธีรพัฒน์กล่าวเพิ่มว่า ความเสี่ยงของบริษัทและกลุ่มรับเหมาก่อสร้างในอนาคตนั้น คือปัญหาแรงงานที่ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นผลดีในระยะยาว แต่ต้องรอดูสถานการณ์ว่าหลังจากการจัดระเบียบนั้นปัญหาแรงงานขาดแคลนจะเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งอาจไม่เป็นปัญหากับบริษัทโดยตรง เนื่องจากบริษัทใช้วิธีการจ้างผู้รับเหมาจากภายนอก