เงินเข้ากอง 'เอฟไอเอฟ' ครึ่งปีแรก1.6 หมื่นล้าน

เงินเข้ากอง 'เอฟไอเอฟ' ครึ่งปีแรก1.6 หมื่นล้าน

ครึ่งปีแรก “กองทุนFIF” ฮอต เงินทะลัก1.63แสนล้าน

ครึ่งปีแรก 2560 “มอร์นิ่งสตาร์” รายงานภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวม มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิประมาณ 138,282 ล้านบาท เติบโต 3.64% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมปิดที่ 4.82 ล้านล้านบาท นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศมากกว่าในประเทศ ครึ่งปีแรกมีเงินไหลไปลงทุนในต่างประเทศสุทธิ 163,155 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนขายสินทรัพย์ในประเทศออกรวมกว่า 24,873 ล้านบาท

“สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงเป็นสินทรัพย์ที่ลงทุนในต่างประเทศ มากกว่าในประเทศ และการผิดนัดชำระหนี้ของตั๋วบีอี ทำให้นักลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง ความผันผวนต่ำ ตราสารเครดิตเรทติ้งสูง ทำให้สัดส่วนกองทุนประเภทไฮยิลด์บอนด์ลดลงมาก” กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุน ประจำประเทศไทย บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ (ประเทศไทย) กล่าว

เทียบเท่า LTF-RMF รวมกัน

ขณะที่การลงทุนในกลุ่มกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศหรือ กองทุน FIF (ไม่นับรวมประเภท Term Fund) นั้นก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในครึ่งปีแรก 2560 มีเงินไหลเข้าสุทธิทั้งกลุ่มแล้วกว่า 163,155 ล้านบาท และมีกองทุนเปิดใหม่แล้วกว่า 30 กองทุนส่งผลให้ปัจจุบันกองทุนกลุ่มนี้ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เติบโตขึ้นจากปลายปีที่แล้ว 32.57% มาอยู่ที่ 525,620 ล้านบาท นับว่าเป็นสถิติที่สูงเทียบได้กับเงินลงทุนใน LTF และ RMF รวมกัน

อย่างไรก็ตาม การเติบโตในส่วนของเงินลงทุนในกลุ่มนี้ดูเหมือนจะมาจากกองทุนหลักเพียง 2 กลุ่มนั้น ก็คือ กลุ่ม Global Bond และ กลุ่ม Global Allocation ที่ในช่วงครึ่งปีแรก 2560 มีเงินไหลเข้า 81,487 ล้านบาท. และ 35,932 ล้านบาทตามลำดับ และมีบางส่วนที่ไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศแบบกระจายการลงทุน ทั้งในกลุ่ม Emerging Market และ Global Equityที่ในช่วงครึ่งปีแรก 2560 มีเงินไหลเข้า 7,364 ล้านบาท และ 6,375 ล้านบาท

ในขณะที่นักลงทุนบางส่วนก็ใช้โอกาสปรับพอร์ตการลงทุนขายทำกำไรและลดความเสี่ยงลง จากกลุ่มหุ้นต่างประเทศ (Global Health Care, Europe Equity, China Equity, Japan Equity และ Asia Pacific ex-Japan Equity) ที่ผลตอบแทนปรับขึ้นมาสูงในช่วงครึ่งปีแรกนี้

“ตราสารหนี้” ครองแชมป์

นายกิตติคุณ กล่าวว่า ภาพรวมของสินทรัพย์ในกลุ่มกองทุน FIF (ไม่นับรวมประเภท Term Fund) ในช่วงครึ่งแรกปี 2560 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จากปี 2559 โดยสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ (Fixed Income) นั้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 14.33% เป็น 27.34% ซึ่งเป็นผลมาจากความนิยมของกองทุนในกลุ่ม Global Bond เป็นหลัก ในขณะที่สัดส่วนของกลุ่มตราสารทุน (Equity) นั้นลดลงจาก 48.07% เหลือเพียง 37.33% เท่านั้นที่เหลือเป็นสัดส่วนของกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ลดลงจาก 9.35%เหลือเพียง 7.27% และกลุ่มสินทรัพย์ผสม(Allocation) ลดลงเล็กน้อยจาก 28.26% เหลือ 28.06%

ทางด้านกลุ่มกองทุนดังกล่าว ที่มีส่วนแบ่งในตลาดที่สุด 3 อันดับนั้น คือ 1. กลุ่ม Global Allocation (28.05%, มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 147,440 ล้านบาท เติบโต 5.41% จากไตรมาสแรกปีนี้) 2. กลุ่ม Global Bond (26.60%, มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 139,776 ล้านบาท เติบโต 68.15%จากไตรมาสแรกปีนี้) ซึ่งกลุ่มกองทุน 2 อันดับแรกรวมกันมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 54% ของตลาดทั้งหมด และอันดับ 3. กลุ่ม Global Health Care (9.43%, มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 49,570 ล้านบาท)

บลจ.ทหารไทย-ไทยพาณิชย์เบียดแชมป์

ขณะที่มูลค่าส่วนแบ่งการตลาดของกลุ่มดังกล่าวนี้ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างนัยสำคัญเช่นกันจากช่วงไตรมาสแรกปีนี้โดยที่ บลจ. ทหารไทยมีส่วนแบ่งการตลาด 19.88% ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 จากเดิมอยู่ที่ 15.71% เป็นอันดับ 3 และ บลจ. ไทยพาณิชย์ มีส่วนแบ่งการตลาด 18% ลงมาเป็นอันดับ 3 จากเดิมอยู่ที่ 18.20% เป็นอันดับ 2 แต่บลจ. ทั้งสองมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ขยับเข้าใกล้ บลจ. กสิกรไทย ที่เป็นแชมป์ใกล้เข้าไปทุกที โดยอันดับ 1 มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 25.34% จากเดิมอยู่ที่ 27.85%

PIMCO กวาดเงินลงทุนนับแสนล้าน

นอกจากนี้ หากจะพูดถึง บลจ. ต่างประเทศ ที่กองทุนไทยนิยมไปลงทุนมากที่สุดผ่านกองทุนประเภท FIFs แบบ Master-Feeder ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 40 บริษัททั่วโลก มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 424,468 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 81% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนกลุ่มนี้

“มอร์นิ่งสตาร์” พบว่าบลจ. ต่างประเทศ PIMCO นั้นมีสินทรัพย์นำโด่งเป็นผลมาจากความสำเร็จกับกองทุน PIMCO GIS Income (กองทุนตราสารหนี้) ที่หลายกองทุนไทยนิยมนำเงินไปลงทุนกันจนทำให้ปัจจุบัน PIMCO บริหารเงินนักลงทุนไทยกว่า 111,790 ล้านบาทมีสัดส่วน 21.27% เรียกได้ว่ามีสินทรัพย์มากกว่าหลายๆ บลจ. ไทยด้วยซ้ำไป

ขณะที่ บลจ. ชั้นนำอื่นของโลกอาทิ JP Morgan (กองทุน Health Care) มีสัดส่วน 10.94% , State Street (กองทุนน้ำมันและทองคำ) มีสัดส่วน 6.28%, Deutsche มีสัดส่วน 5.78% และ BlackRock มีสัดส่วน 4.62% ก็ได้รับความนิยมในลำดับถัดมา