‘หัวเว่ย’โหมชิงแทบเล็ตครึ่งปีหลัง

‘หัวเว่ย’โหมชิงแทบเล็ตครึ่งปีหลัง

“หัวเว่ย” ชี้แทบเล็ตตลาดไทยยังซบต่อเนื่อง เมินทุกปัจจัยลบ เข็นรุ่นใหม่ตระกูลมีเดียแพดราคาต่ำกว่าหมื่นบาทชิงตลาด ชูโปรโมชั่นของแถมจัดหนักลงสนามครึ่งปีหลัง เชื่อยังมีช่องว่างโตจากพฤติกรรมเสพคอนเทนท์บันเทิงออนไลน์

นายทศพร นิษฐานนท์ รองผู้อำนวยการ บริษัท หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่าภาพรวมตลาดแทบเล็ตประเทศไทยปี 2560 ยังคงชะลอตัว ครึ่งปีแรกเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้ายอดขายตกลงเป็นตัวเลข 2 หลัก ด้านการแข่งขันไม่รุนแรงเท่าเดิมและเหลือแต่เพียงผู้เล่นรายใหญ่ๆ เท่านั้น

จากปัจจัยโทรศัพท์มือถือมีขนาดหน้าจอใหญ่ขึ้น การเปลี่ยนเครื่องช้ากว่าสมาร์ทโฟน ทั้งมีการส่งต่อเครื่องไปให้เพื่อน หรือคนในครอบครัว

อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยยังมองเห็นโอกาสในการทำตลาด จากพฤติกรรมความนิยมบริโภคคอนเทนท์บันเทิงบนช่องทางออนไลน์ ดังนั้นจากนี้มีแผนเข้ามาเปิดตัวสินค้าใหม่ และบุกหนักตลาดประเทศไทยต่อเนื่อง

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยไอดีซีระบุว่า ช่วงครึ่งปีแรกหัวเว่ยเป็นเพียงแบรนด์เดียวที่สามารถเติบโตได้ต่อเนื่องทั้งไตรมาส 1 และไตรมาส 2 โดยยอดขายเชิงจำนวนเติบโตสูงกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

“แม้ภาพรวมตลาดจะตกหรือเติบโตแบบไม่ได้หวือหวาเหมือนหลายปีก่อน แต่เรายังสามารถเติบโตได้สวนทาง ปัจจัยหลักๆ มาจากความพร้อมด้านผลิตภัณฑ์ รวมถึงการบริการหลังการขาย”

แนวทางธุรกิจพยายามเข้าถึงความต้องการลูกค้าทุกกลุ่ม จากปัจจุบันมีวางจำหน่าย 3 รุ่น ล่าสุด เปิดตัวสินค้าใหม่ “หัวเว่ย มีเดียแพด ที3 10(Huawei MediaPad T3 10) ขนาดจอ 9.6 นิ้ว คมชัดระดับเอชดี มาพร้อมฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์ความบันเทิง เปิดราคาที่ 8,900 บาท พร้อมกันนี้ ทำโปรโมชั่นพิเศษของแถมชุด เอ็นเตอร์เทนเมนท์ บ็อกซ์เซ็ต รวมมูลค่ากว่า 4,170 บาท เชื่อว่าจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุมตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่

แทบเล็ตรุ่นดังกล่าวนับเป็นเซ็กเมนท์ใหม่ที่จะเข้ามาเติมเต็มสายผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ มาพร้อมหน้าจอที่ใหญ่ วัสดุคุณภาพสูง ทว่าราคาที่แข่งขันได้ ซึ่งหากเทียบกับขนาดเดียวกัน โดยทั่วไปของรายอื่นๆ ส่วนใหญ่ราคาเกิน 1 หมื่นบาท

บริษัทตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้ยอดขายดีมากกว่ารุ่นเดิมที่วางตลาด เชื่อว่าของแถมที่ให้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจ

สำหรับกลยุทธ์ธุรกิจแทบเล็ต เน้นสร้างจุดต่างที่ชัดเจนว่าเป็นเครื่องที่ 2 นอกเหนือจากการใช้สมาร์ทโฟนปกติ การเลือกรุ่นสินค้ามาทำตลาด พิจารณาถึงขนาดของตลาด และกลุ่มที่มีศักยภาพจะขายได้

ด้านการตลาดเน้นบนช่องทางออนไลน์ รวมถึงออฟไลน์ที่เกี่ยวข้องกับคอนเทนท์ด้านบันเทิง ส่วนงบการตลาดโดยรวมตลอดทั้งปีเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีก่อนหน้า

ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายจะมีทั้งค้าปลีกไอที โมบาย โมเดิร์นเทรด และเป็นไปได้ที่อาจมีความร่วมมือบันเดิลขายเครื่องไปกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือด้วย ขณะนี้มีศูนย์บริการ 14 แห่งจุดรับสินค้าไมน้อยกว่า 1,000 จุดทั่วประเทศ ทั้งมีบริการรับซ่อมและส่งถึงบ้าน

ปัจจุบันแทบเล็ตสร้างสัดส่วนรายได้ 15% ของคอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ปที่เหลือคือสมาร์ทโฟน จากตลาดรวมหัวเว่ยครองอันดับ 2 เชิงยอดขายในตลาดแทบเล็ตไทย

นายทศพร เผยว่าวางตำแหน่งเป็น “อินเตอร์ แบรนด์” โดยขณะนี้ภาพของการเป็นแบรนด์จีนเริ่มไม่เป็นอุปสรรคในการทำตลาดอีกแล้ว จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ที่มีความร่วมมือกับทางไลก้าในรุ่นพี 9 และทำให้ภาพลักษณ์ของสินค้ามีความพรีเมียมชัดเจนมากขึ้น หลังจากนี้ หัวเว่ยยังมีแผนร่วมมือกับพันธมิตรด้านอื่นๆ เช่นระบบเสียง และต่อไปอาจถึงจุดที่ผสมผสานเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสมาร์ทโฮม ไอโอที เอไอ และการใช้งานวีดิโอมากขึ้นเรื่อยๆ

คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ซึ่งเป็นหนึ่งในสามธุรกิจหลักของหัวเว่ยสามารถรักษาการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในระดับโลก ในไทยมีทิศทางที่สอดคล้องกัน เมื่อปี 2559 ประสบความสำเร็จสูงมาก เทียบกับปีก่อนหน้ายอดขายเติบโต 3 เท่า หรือ มากกว่า 200% ปีนี้คาดว่าจะทำได้ดี

โดยความสำเร็จจะมาจากการปรับโครงสร้างภายในตั้งแต่ระดับผู้บริหาร การพัฒนาสินค้า บริการหลังการขาย ขยายช่องทางจัดจำหน่าย พร้อมมีโปรโมชั่นและความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในรูปแบบต่างๆต่อเนื่อง