'พลังงาน'เตรียมลงนาม'เมียนมา' สร้างคลังลอยน้ำ

'พลังงาน'เตรียมลงนาม'เมียนมา' สร้างคลังลอยน้ำ

"ปลัดพลังงาน" เตรียมลงนาม "เมียนมา" ในเวทีประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน เปิดทาง "ปตท." ก่อสร้างคลังนำเข้าแอลเอ็นจีแบบลอยน้ำรับมือวิกฤตก๊าซ

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ที่กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 26 - 28 ก.ย.นี้ กระทรวงพลังงาน จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Agreement) หรือ MOA กับรัฐบาลเมียนมา เพื่ออนุญาติให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เข้าไปศึกษาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในรูปแบบคลังลอยน้ำ (FSRU) ที่เมืองกันบ๊อค ทางภาคใต้ของเมียนมา ขนาด 3 ล้านตัน เงินลงทุนรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท กำหนดส่งก๊าซภายในปี 2570 หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กพช.) เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2560 ได้รับทราบผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแล้ว

ทั้งนี้ การลงนามครั้งนี้ เพื่อให้ ปตท.เข้าพื้นที่ไปจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และก่อสร้างโครงการได้ ซึ่งเบื้องต้นทางเมียนมาจะไม่เข้ามาร่วมลงทุนด้วย และปตท.เองมีศักยภาพที่จะดำเนินโครงการได้ หรือ อาจจะพิจารณาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการในท้องถิ่นได้

โดยก๊าซแอลเอ็นจีจากโครงการนี้จะส่งผ่านท่อก๊าซไทย-เมียนมา เข้าสู่โรงไฟฟ้าภาคตะวันตกของไทย และก๊าซบางส่วนอาจป้อนให้กับความต้องการใช้ในเมียนมา ซึ่งต้องหารือในรายละเอียดต่อไป

นายอารีพงศ์ กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเปิดเสรีธุรกิจก๊าซทั้งแอลเอ็นจี และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) เพื่อรับมือกับวิกฤติก๊าซ ปี 2564-2566 เนื่องจากเป็นช่วงที่กำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทยจะลดลง โดยปัจจุบัน ไทยมีความต้องการใช้ก๊าซอยูที่ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งส่วนนี้มาจากอ่าวไทย 2 แหล่งคือ เอราวัณและบงกช ปัจจุบันมีกำลังผลิต 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่จะลงลงเหลือ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2564-25666 ขณะที่รับก๊าซจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ปัจจุบันอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะหมดสัญญาในปี 2570 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาร่วมกับเพื่อต่ออายุสัญญาจัดส่งก๊าซต่อไป